นิติศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้อง '250 ส.ว.- ทุกพรรคการเมือง' ยอมรับมติประชาชน

นิติศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้อง '250 ส.ว.- ทุกพรรคการเมือง' ยอมรับมติประชาชน

คณะกรรมการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง "250 ส.ว.- ทุกพรรคการเมือง" ยอมรับมติประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องให้วุฒิสมาชิก 250 คน และทุกพรรคการเมืองยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้ง ดังนี้

แถลงการณ์ คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เรียกร้องให้วุฒิสมาชิก 250 คน และทุกพรรคการเมืองยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้ง

ตามที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ปรากฏว่าพรรคซึ่งได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 1 คือ พรรคก้าวไกล จำนวน 152 ที่นั่ง และในวันต่อมาก็ปรากฏว่า พรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงพรรคการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่กลับมีการรายงานข่าวว่าวุฒิสมาชิกบางรายอาจไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงในการลงมติของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น

ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยประชาชนโดยการไปเลือกตั้งผู้แทนของตน เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยนั้นถือกันว่า ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เจตจำนงของประชาชนซึ่งแสดงออกมาจึงเป็นเสมือนเสียงแห่งสวรรค์ที่ทุกฝ่ายควรเคารพ ดังสุภาษิตละตินที่ว่า "Vox populi, vox Dei" (The voice of the people is the voice of God) อีกทั้งตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น มีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ประการหนึ่งว่า พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนั้น สมควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และมีสิทธิในการรวบรวมเสียงสนับสนุนเป็นพรรคแรก เพราะถือเป็นพรรคซึ่งได้รับฉันทานุมัติของประชาชนในการเป็นรัฐบาล
 

 

 

 

ดังนั้น หากมีการดำเนินการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นประการอื่น เช่น การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคการเมืองบางพรรคจะไปรวมกับวุฒิสมาชิกในการลงมติของรัฐสภาเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือการที่วุฒิสมาชิกจะลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงเพื่อขัดขวางการตั้งรัฐบาล โดยอ้างว่า "ถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ" นั้น การกระทำดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย และอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง และความขัดแย้งรุนแรงในสังคมได้

คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอเรียกร้องไปยังวุฒิสมาชิก 250 คน และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งทุกพรรค ให้มีมารยาททางประชาธิปไตย ยอมรับมติของประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ประกาศต่อสาธารณชนโดยเร็วว่า จะลงมติให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความชัดเจนต่อประชาชน และเพื่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล และได้บริหารประเทศต่อไป

การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะมีความสง่างามในทางประชาธิปไตยแล้ว ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไปในเส้นทางที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกอีกด้วย

นิติศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้อง \'250 ส.ว.- ทุกพรรคการเมือง\' ยอมรับมติประชาชน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์