วิธีโหวต 'เสียงประชาชน' ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ง่ายแค่คลิกเดียว

วิธีโหวต 'เสียงประชาชน' ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ง่ายแค่คลิกเดียว

แม้ผลการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศอย่างไม่เป็นทางการทำให้อาจจะมี นายกฯเสียงข้างมาก แต่ยังมี ส.ว. อีก 250 เสียง ที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมโหวตว่า "ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน" เกิดขึ้น

หลังการประกาศ ผลการเลือกตั้ง 66 อย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่า “พรรคก้าวไกล” มีคะแนนเสียงนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 5 พรรคฝ่ายค้านเดิม และพรรคเป็นธรรมเพิ่มอีกหนึ่งเสียง เบื้องต้นคาดว่าจะมีที่นั่งในสภารวมประมาณ 310 เสียง ซึ่งเชื่อว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แม้จะไม่ถึง 376 ที่นั่ง ซึ่งจะสามารถ ปิดสวิตช์ ส.ว. 250 เสียง ที่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน”

หนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ วันที่ 15 พ.ค. คือ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (Prinya Thaewanarumitkul) เปิดโหวตเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมกันโหวตประเด็น “ส.ว.ต้องเคารพเสียงประชาชน” โดยให้ ส.ว. ทั้ง 250 คน โหวตเลือกนายกฯ ตามฉันทามติของประชาชนเสียงข้างมากทั่วประเทศ

  • ต้องการร่วมโหวตปิดสวิตช์ ส.ว. ทำอย่างไร?

สำหรับประชาชนคนใดที่ต้องการ “นายกฯ เสียงข้างมาก” ที่มาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถเข้าไปร่วมโหวตได้ที่ peoplevoiceth.survey.fm/เสียงประชาชน-3 หรือสแกน QR Code ด้านล่าง ซึ่งการเปิดโหวตในครั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน ซึ่งเป็นผู้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่ง และล่าสุดวันนี้ (16 พ.ค.) มีผู้ร่วมโหวตแล้วทั้งหมด 1,168,188 คน โดยผู้ที่สนใจสามารถร่วมโหวตได้จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. 66

วิธีโหวต \'เสียงประชาชน\' ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ง่ายแค่คลิกเดียว

QR Code สำหรับการร่วมโหวต ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน

 

  • ส.ว. คือใคร มีที่มาอย่างไร และทำหน้าที่อะไรบ้าง?

ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 มีรายละเอียดดังนี้ ตามมาตรา 269 ในวาระเริ่มแรก ให้ ส.ว. มีสมาชิก 250 คน หรือครึ่งหนึ่งของรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และที่สำคัญ ส.ว. สามารถร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ที่มาของ ส.ว. 250 คนนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ส.ว. โดยตำแหน่ง
  2. ส.ว. แบบเลือกกันเอง
  3. ส.ว. ที่ คสช. คัดเลือกโดยตรง โดยในตอนนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.

นอกจากนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน คือ

  1. ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
  2. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)
  3. ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
  4. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
  5. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
  6. ปลัดกระทรวงกลาโหม

ดังนั้นหากประชาชนมองว่า ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน สามารถแสดงออกได้โดยการโหวตผ่านลิ้งก์ด้านบน เพื่อช่วยกันส่งเสียงไปถึง ส.ว. ให้ทำการเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของประชาชน

วิธีโหวต \'เสียงประชาชน\' ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมาก ง่ายแค่คลิกเดียว

ตัวเลือกในการโหวตแคมเปญ ส.ว. ควรเคารพเสียงประชาชน