ประชาชนมีสิทธิมากกว่าแค่ไปเลือกผู้แทน | วิทยากร เชียงกูล

ประชาชนมีสิทธิมากกว่าแค่ไปเลือกผู้แทน | วิทยากร เชียงกูล

หลังไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ประชาชนยังมีสิทธิอีกหลายข้อ เช่น เข้าชื่อกันเพื่อคว่ำกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ออกกฎหมายใหม่ ถอดถอนนักการเมือง ปกครองบริหารจัดการตนเองระดับท้องถิ่น เข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์ ประชามติ (ประชาธิปไตยทางตรง) สิทธิในการพูด เขียน ชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติวิธี และสิทธิอื่นๆ รวมทั้งสิทธิในทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

สิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจสังคม เช่น สิทธิมีงานที่ได้ค่าตอบแทน/รายได้ที่เป็นธรรม สิทธิในการได้รับบริการทางการศึกษา สาธารณสุข บริการทางสังคมอื่นๆ ที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม

แต่สิทธิที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ได้รับการศึกษาและข่าวสารคุณภาพต่ำ มีฐานะทางสังคมและอำนาจการต่อรองต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่จึงขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ประชาชนควรจะได้รับอยู่มาก

ประชาชนมีสิทธิมากกว่าแค่ไปเลือกผู้แทน | วิทยากร เชียงกูล

แนวทางที่จะทำให้ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพและโอกาสทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มขึ้น ต้องคิด/หาทางผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองในหลายเรื่อง

เช่น การลดอำนาจและงบประมาณของรัฐบาลกลางลง กระจายอำนาจสู่จังหวัดต่างๆ ผ่านการเลือกผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรการบริหารและสภาท้องถิ่น ที่ประชาชนออกกฎหมายให้ภาคประชาชนสามารถควบคุมดูแล/ถอดถอนนักการเมือง เปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ได้ง่ายกว่าระบบที่ผ่านมา

ประชาชนไม่ควรคิดหรือตัดสินใจเลือกเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง อย่างมีอคติด้วยอารมณ์ ศรัทธา ความเชื่อ เพราะการที่ประชาชนคงติดกับอยู่กับการเลือกชนชั้นนำข้างหนึ่งข้างใด

กลายเป็นการที่ประชาชนต่างกลุ่มต่างต่อสู้กันเอง เพื่อกลุ่ม พรรคพวกของแต่ละฝ่าย มากกว่าที่จะปกป้อง/ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ด้วยกันเอง ที่ยังรายได้ต่ำกว่าชนชั้นนำไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตามอยู่มาก

การที่จะปฏิรูปประเทศให้ก้าวข้ามระบบประชาธิปไตยแบบพรรคนายทุนเป็นใหญ่ได้ ประเด็นสำคัญคือต้องทำประชาชนส่วนใหญ่พ้นจากความยากจน ได้รับการศึกษา การรับรู้ข่าวสารและการจัดตั้งองค์กรอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

การจะปฏิรูปได้ก่อนอื่นประชาชนต้องสนใจอ่านเรื่องปัญหาเศรษฐกิจการเมืองอย่างวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ คุยกัน ศึกษาว่ามีสาเหตุทางโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป ที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนอย่างไร

ประชาชนมีสิทธิมากกว่าแค่ไปเลือกผู้แทน | วิทยากร เชียงกูล

1. ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาด ที่เป็นบริวารของบริษัทข้ามชาติที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาความยากจน

2. ระบบการศึกษา การสื่อสาร การกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมผูกขาด/ครอบงำโดยชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ นายทุน ขุนนาง (ข้าราชการระดับสูงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน) คือ ตัวการที่ทำให้ประชาชนคิดด้วยอารมณ์ ความรู้สึกศรัทธา พึ่งพาฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าจะคิดด้วยเหตุผลอย่างวิพากษ์วิจารณ์

3. ระบบการเลือกตั้งผู้แทน/รัฐบาลแบบนายทุนที่เปิดช่องให้มีการซื้อเสียงขายเสียง ใช้อำนาจรัฐ ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมแบบที่มุ่งหาเสียงระยะสั้น คือตัวการที่หลอกประชาชนว่าแค่การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตยแล้ว

ประชาชนควรเข้าใจใหม่ว่า เราเป็นพลเมือง ไม่ใช่ลูกน้อง/บริวารของใคร พลเมืองหมายถึงคนทำงานผู้เสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่บวกเข้าไปในสินค้าต่างๆ) และเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศร่วมกัน ดังนั้น พลเมืองจึงมีสิทธิเสรีภาพ และควรได้มีโอกาสที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ในเรื่องที่สำคัญ 

  • สิทธิที่ประชาชนควรจะได้เป็นเจ้าของ/หรือได้รับการกระจายทรัพย์สิน (รวมทั้งที่ดิน) และรายได้ที่เป็นธรรม 
  • สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาสาธารณสุข บริการทางสังคมอื่นๆ ที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม

คำว่า สิทธิ หมายถึง สิ่งที่เป็นของพลเมืองอยู่แล้ว และประชาชนควรจะมีโอกาสได้รับสิทธิเหล่านี้ พลเมืองไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณชนชั้นนำกลุ่มใดที่หาเสียงว่าเป็นผู้ให้สิ่งเหล่านี้ เพราะงบที่ฝ่ายบริหารประเทศนำมาใช้โครงการต่างๆ ของรัฐนั้นมาจากงบประมาณและทรัพยากรส่วนรวม ซึ่งก็คือ ทรัพยากรและภาษีของประชาชนนั่นเอง

ประชาชนคือเจ้าของที่แท้จริงของทรัพยากรส่วนรวม เช่น แร่ธาตุ ก๊าซ น้ำมัน ป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ที่ดินสาธารณะ คลื่นความถี่ วิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ ของเหล่านี้ไม่ใช่ “ของหลวง” หรือของรัฐบาลชุดหนึ่งชุดใด

คณะรัฐบาลเป็นเพียงตัวแทน-เป็นผู้บริหารจัดการเศรษฐกิจการเมืองของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของบริษัทประเทศไทย ดังนั้น ประชาชนควรควบคุมดูแลและถอดถอนผู้บริหารได้ ถ้าผู้บริหารขี้โกงหรือบริหารไม่ดี

งบประมาณประจำปีของประเทศนั้นมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งทางตรง (เช่น ภาษีรายได้) และภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน สรรพสามิตต่างๆ ที่ประชาชนทุกคนต้องเสียโดยไม่ค่อยรู้ตัว

เพราะภาษีดังกล่าวบวกเข้าไปในราคาสินค้าอยู่แล้ว ทั้งทรัพย์สินของชาติและภาษีล้วนเป็นของประชาชนที่ควรจะต้องใช้ร่วมกันอย่างซื่อตรง มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรมและยั่งยืน

คนที่ตื่นตัว/มีความรู้ ต้องช่วยกันหาทางอธิบายให้ประชาชนหลุดพ้นจากการถูกชนชั้นนำครอบงำทางความคิด ความรู้ ที่อ้างว่าประชาชนยากจน เพราะกรรมเก่า เพราะติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ (ไม่ชอบเรียนหนังสือ ไม่อ่าน ขี้เกียจ เจ็บป่วยบ่อย)

ทั้งๆ ที่เรื่องจริงคือ ชนชั้นสูงส่วนน้อยที่มีอำนาจและความร่ำรวยมากขึ้น เอาเปรียบกดขี่ขูดรีดประชาชน กีดกันไม่ให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและผลตอบแทนจากการทำงานอย่างเป็นธรรม

ประชาชนต้องต่อสู้เรียกร้อง การปฏิรูปเชิงโครงสร้างในระยะยาวด้วย ไม่ใช่แค่โครงการประชานิยมระยะสั้นๆ ที่เป็นการให้แบบเบี้ยหัวแตก ที่ลดปัญหาชั่วคราว แต่แก้ปัญหาไม่ได้จริง 

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญ คือ

  1. การปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมืองเพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้และงานที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึงสำหรับทุกคน
  2. การปฏิรูปการให้บริการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ (ให้คนคิดวิเคราะห์ได้) และทั่วถึงเป็นธรรม