โอกาสยกระดับธรรมาภิบาล-แก้คอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ให้ได้ผลจริง | ธานี ชัยวัฒน์

โอกาสยกระดับธรรมาภิบาล-แก้คอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ให้ได้ผลจริง | ธานี ชัยวัฒน์

การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับธรรมาภิบาลและแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย เพราะเต็มไปด้วยความหวังของประชาชนจำนวนมาก บทความฉบับนี้จึงอยากจะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยให้เกิดผลจริงให้แก่รัฐบาลใหม่

สำหรับแนวทางการยกระดับธรรมาภิบาลที่เป็นรูปธรรมเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จากหลักการธรรมมาภิบาลที่ดี 8 ประการ ขององค์การสหประชาชาติ (UNESCAP, 2009) ที่ประกอบด้วย

1) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) 2) หลักนิติธรรม (Rule of law) 3) หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Transparency) 4) หลักการตอบสนอง (Responsiveness) 5) หลักฉันทามติ (Consensus oriented)

6) หลักความเสมอภาค (Equity and Inclusiveness) 7) หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effectiveness and efficiency) และ 8) หลักความรับผิดชอบ (Accountability) 
 

โอกาสยกระดับธรรมาภิบาล-แก้คอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ให้ได้ผลจริง | ธานี ชัยวัฒน์

จากหลักการข้างต้น มี 3 หลักการที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในระยะสั้น และหากสามารถบรรลุได้จริง ย่อมสามารถยกระดับค่า CPI ของประเทศได้ หลักการที่กล่าวถึงนี้ ประกอบด้วย

1) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) คือ การพยายามทำให้คนในสังคมมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอข้อคิดเห็นในการตัดสินใจในประเด็นต่าง ๆ ของสังคม ผ่านการเปิดโอกาสในการมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็น การแสดงความเห็น การร่วมออกแบบการเปลี่ยนแปลง การทำประชาพิจารณ์หรือประชามติต่าง ๆ รวมไปจนถึงการเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน

2) หลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ (Transparency) คือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับรู้ และสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เช่น การเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ การเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตลอดจนมีกลไกในการตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน สร้างความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างการทำงานของภาครัฐให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

3) หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency) คือ การดำเนินงานหรือการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยใช้ทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดผลเสียหรือผลกระทบน้อยที่สุด

โอกาสยกระดับธรรมาภิบาล-แก้คอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ให้ได้ผลจริง | ธานี ชัยวัฒน์

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินตามหลักการทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องพิจารณาบริบททางสังคมในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์คอร์รัปชันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยที่คอยสนับสนุนและปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ

  • จากงานศึกษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Megatrend หลายเล่มสามารถสรุปองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

1) สถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนแปลงโลกที่เป็นอยู่ให้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ (New-normal) ผู้คนจะมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีความสนใจประเด็นด้านต่าง ๆ ในสังคมมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น สิทธิที่พึงได้รับและสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ (สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2563) ประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อาจได้รับผลกระทบด้านบวกและด้านลบจากสถานการณ์โควิด-19 (ประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล และกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์, 2563) 

รวมไปจนถึงประเด็นด้านการอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้คนมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย การรับวัคซีนโควิด-19 การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล รวมไปจนถึงการตรวจคัดกรองก่อนจะพบเจอผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งความสนใจที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อมุมมองที่เปลี่ยนไปในด้านธรรมาภิบาลและคอร์รัปชันได้เช่นเดียวกัน

2) วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง จากการที่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในเชิงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าจนเริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ประเทศจะต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation กล่าวคือเป็นภาวะที่ผู้คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ (ดำรงเกียรติ มาลา, 2565)

ทั้งนี้วิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าวจะนำไปสู่ความตระหนักคิดถึงประเด็นด้านความยั่งยืนและการพัฒนามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนที่อาจเป็นแรงสนับสนุนที่ทำให้เกิดธรรมาภิบาลที่ดีในสังคมได้

3) การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโลกออนไลน์ เป็นแรงผลักดันให้คนมีทักษะทางดิจิทัล (Digital literacy) เพิ่มสูงขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้แรงผลักดันจากภาครัฐ ทักษะทางดิจิทัลจะเข้ามาเปลี่ยนบทบาทในการดำรงชีวิตของคนทั้งในด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

การติดต่อสื่อสาร รวมไปจนถึงวัฒนธรรมครอบครัวที่อาจเปลี่ยนแปลงไป (ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์, 2564) ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกออนไลน์ อาจก่อให้เกิดข่าวปลอม (Fake news) การหลอกลวง (Scam) ที่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ยุคใหม่ 

แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องสนับสนุนให้ผู้คนรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของโลกออนไลน์นั้นถูกกระจายอย่างรวดเร็วสู่คนในชนบท จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นได้ในสังคม เนื่องจากผู้คนในปัจจุบันถูกเชื่อมต่อกันบนโลกออนไลน์แล้ว

4) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และระบบดิจิทัลเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในช่วงศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้เกิดการปฏิวัติและเกิดการพัฒนาการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม 

รวมถึงประเด็นด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน เนื่องจากก่อให้เกิดมุมมองใหม่ในการป้องกัน ตรวจจับ และนำไปใช้ในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการคอร์รัปชันต่าง ๆ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ICT สามารถส่งเสริมด้านความโปร่งใส (Transparency) ความรับผิดชอบ (Accountability) และการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Citizen participation)

5) ความเป็นคนรุ่นใหม่และความเป็นพลเมืองโลก ทำให้สังคมในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้คนจะเคารพสิทธิผู้อื่นและเคารพความหลากหลายมากขึ้น และมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้

จากผลสำรวจองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และ Gallup พบว่า เยาวชนรุ่นใหม่ราวร้อยละ 50 เชื่อว่า โลกกำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงต้องการ “การลงมือทำ” ต่อประเด็นความกังวลในหลาย ๆ ด้าน 

อาทิ ภูมิอากาศ โรคระบาด ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเชื่อมั่นต่อรัฐที่ลดลง มีการตั้งคำถามที่ได้รับจากสังคมออนไลน์ และมองว่าตนเองเป็น “พลเมืองโลก” ที่พร้อมเปิดรับความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ (ถิรพร สิงห์ลอ, 2564)

จึงสะท้อนได้ว่ามีความเป็นไปได้ในการสร้างให้เกิดธรรมาภิบาลในอนาคต ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ 

ดังนั้น ภาพรวมของโอกาสในการยกระดับธรรมาภิบาลและแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาลใหม่ให้ได้ผลจริงมีความเป็นไปได้อย่างมากจากองค์ประกอบที่จะเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุน และอุปสรรคทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมา

ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญในการสร้างธรรมาภิบาลที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ได้แก่ การมีส่วนร่วม (Participation) สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น (Transparency) และทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ (Efficiency)

เพื่อจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่มีการพัฒนาด้านธรรมาภิบาลและลดคอร์รัปชันได้อย่างแท้จริง