ไม่ต้องล่ารายชื่อ ก็ถอดถอน ‘กกต.’ ผ่านรัฐธรรมนูญได้

ไม่ต้องล่ารายชื่อ ก็ถอดถอน ‘กกต.’ ผ่านรัฐธรรมนูญได้

ไม่ใช่แค่นักการเมืองหรือข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ ที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อถอดถอนได้เท่านั้น แต่กับ “องค์กรอิสระ” อย่าง “กกต.” ประชาชนก็สามารถยื่นเรื่องถอดถอนผ่านรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงการ “เลือกตั้ง 2566” หรือเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ ถือว่าเป็นการเลือกตั้งระดับชาติที่สำคัญที่สุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและถูกจับตามองมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใสและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ ตามเจตนารมย์ของ กกต. ว่า “สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และ ชอบด้วยกฎหมาย”

กกต. ถือเป็น “องค์กรอิสระ” ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีการทำงานเป็นอิสระตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การตั้งงบประมาณ และการดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. คอยดูแลการทำงาน

แม้ว่าการทำงานของ กกต. จะเป็นอิสระ แต่ถ้าประชาชนหรือ ป.ป.ช. พบว่าการทำงานของ กกต. มีความผิดปกติก็สามารถตรวจสอบและนำไปสู่การถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 234 และ มาตรา 235

  • ขอบเขต และ อำนาจหน้าที่ของ กกต.

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจบทบาท หน้าที่ และ ขอบเขตอำนาจของ กกต. ก่อนว่า กรอบหน้าที่ของ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 31 ระบุว่า

1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด

2. ศึกษาและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด รวมไปถึงการออกเสียงประชามติ และการพัฒนาพรรคการเมือง

3. เผยแพร่วิชาการ ให้ความรู้ และส่งเสริมประชาชนให้ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

4. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ และการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริต ในการเลือกตั้ง

5. ทำงานอื่นตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

แม้ว่า กกต. จะมีอำนาจครอบคลุมการเลือกตั้งและการทำประชามติทั่วประเทศ แต่หาก กกต. เป็นผู้กระทำผิดเสียเอง ประชาชนก็สามารถเอาผิดได้เช่นเดียวกัน

  • การถอดถอน กกต. ทำได้แม้ประชาชนไม่ต้องเข้าชื่อ

สำหรับการถอดถอน กกต. นั้น ในสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 271 เปิดโอกาสให้ประชาชนจำนวน 20,000 คนขึ้นไป และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ร่วมกันลงชื่อยื่นถอดถอนองค์กรอิสระโดยผ่านประธานวุฒิสภาได้

แต่ในปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การถอดถอน กกต. และองค์กรอิสระอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านการลงชื่อของประชาชน แต่สามารถร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ได้โดยตรง เมื่อพบว่าหน่วยงานดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต เช่น ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ไปในทางที่ผิดหรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น

การยื่นถอดถอน “องค์กรอิสระ” ผ่าน ป.ป.ช. โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สามารถทำได้ดังนี้

1. มาตรา 234 ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หลังจากไต่สวนแล้วให้ดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

2. มาตรา 235 หลังการไต่สวนให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยัง “อัยการสูงสุด” เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง และเมื่อศาลฯ ประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา

 

ที่สำคัญ.. เมื่อศาลฯ วินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดจริง จะต้องพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่เกินสิบปี

แม้ว่าการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระจะสามารถทำได้ผ่านกระบวนการของ ป.ป.ช. แต่ในขั้นแรกก็จำเป็นจะต้องอาศัยการสังเกตและช่วยกันเป็นหูเป็นตาของประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำไปสู่การไต่สวนของ ป.ป.ช. ต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : คลังกลางความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานราชการ, กกต., สถาบันพระปกเกล้า และ iLAW