ความสามารถในการมองการณ์ไกล กับ ผลการเลือกตั้ง | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ความสามารถในการมองการณ์ไกล กับ ผลการเลือกตั้ง | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ใกล้ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อคัดสรรคนที่จะมาเป็นตัวแทนของเราในระบบรัฐสภา

พรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็สรรหาวิธีการที่จะได้มาซึ่งคะแนนเสียงให้มากที่สุด เพื่อที่ตัวเองจะได้มาเป็นรัฐบาล  มาตรการที่นิยมใช้กันคือการให้สัญญากับประชาชนว่า พรรคตัวเองมีนโยบายที่จะจัดหาสวัสดิการเลิศหรูมาช่วยเหลือประชาชนให้ลืมตาอ้าปากได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยที่ตนเองยังไม่มั่นใจเลยว่าจะทำได้จริงตามนั้นหรือไม่

      ทำให้นักวิชาการต่างสำนักหลายคนต่างออกมาเตือนว่า นโยบายประชานิยมเช่นนั้นเป็นการเอาเงินในอนาคตของประเทศมาใช้ ซึ่งมีผลเสียอย่างมากตามมาในระยะยาว  และเมื่อถึงเวลานั้นจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมพวกนี้เลย

เพราะประเทศจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว โดยอ้างอิงถึงหลายประเทศที่ได้ใช้มาตรการนี้มาก่อนและล้มเหลวมาแล้ว   และคนรุ่นต่อไปนั่นแหละที่จะเป็นคนมารับกรรมเมื่อวันมหาวิปโยคนั้นมาถึง

คำถาม คือ แล้วเราไม่ฉลาดพอที่จะเห็นตัวอย่างประเทศที่พังพินาศมาแล้วนั้นหรือ    แต่ถ้าเราฉลาดพอแล้วทำไมเราจึงยังจะยอมปล่อยให้มันเกิดขึ้นในประเทศเรา  รึว่าเราไม่ฉลาดจริง

ในการหาคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์นี้ ผมขอให้ท่านลองศึกษาภาพสามเหลี่ยมที่ผมแนบมาให้ ภาพสามเหลี่ยมนี้มีอยู่ 3 ภาพย่อยด้วยกัน คือ ก. ข. และ ค.

ความสามารถในการมองการณ์ไกล กับ ผลการเลือกตั้ง | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ภาพ ก.เป็นภาพสามเหลี่ยมปกติ มียอดแหลมอยู่ด้านบนแบบปิรามิด   ภาพ ก.นี้แจงให้เห็นถึงสัดส่วนของจำนวนคนที่น้อยสุด อยู่ด้านบนสุด สัดส่วนจำนวนคนนี้จะเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มที่อยู่ถัดลงมา รวมทั้งจะมากที่สุดที่ฐานของสามเหลี่ยม

    ทั้งนี้ หากเราไม่หัวดื้อเกินไปและเปิดใจรับได้มากพอ เราย่อมเห็นแจ้งได้ด้วยตัวเองว่า คนที่อยู่ด้านบนๆ ของสามเหลี่ยมอันมีสัดส่วนของจำนวนคนน้อยดังว่านั้น เป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถโดยรวมเก่งกว่ากลุ่มคนที่อยู่ถัดลงมา และกลุ่มคนที่ฐานของสามเหลี่ยมจะเป็นกลุ่มคนที่เก่งน้อยกว่ากลุ่มอื่น

ปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้เป็นเรื่องปกติของสังคมทุกแห่ง  ไม่ว่าจะเป็นสังคมของประเทศใด หรือเป็นสังคมของการแข่งขันใดๆ เช่น ในโรงเรียนจะมีนักเรียนระดับท็อปอยู่ไม่กี่คน ในสังคมนักธุรกิจที่ลงทุนกันเป็นร้อยเป็นหมื่นล้านก็มีคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดไม่มากคนนัก

มาถึงตรงนี้ก็อยากจะขอย้ำว่านี่เรากำลังพูดถึงเฉพาะเรื่อง “ความเก่ง” นะครับ ไม่ได้พูดถึง “ความดี” ซึ่งนั่นเอาหลักสามเหลี่ยมแบบนี้มาประยุกต์ใช้ไม่ได้

แล้วทำไมคนจำนวนน้อยที่อยู่ด้านบนๆของสามเหลี่ยมจึงเก่งกว่าคนที่อยู่ในกลุ่มถัดๆลงมา  ตรงนี้มีคำอธิบายว่าเขาคงโชคดีที่มีความฉลาดเป็นพรสวรรค์มาแต่กำเนิด 

แถมคนพวกนี้ยังมีความขยันและอดทนอดกลั้นมากกว่าคนอื่น  ทำให้เขามีโอกาสที่จะหาความรู้ใส่ตัวเพิ่มขึ้นได้มากกว่า  ซึ่งนี่ก็จะมีผลสืบเนื่องไปยังโอกาสอีกแบบหนึ่ง คือโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า 

เขาจึงมีทั้งความรู้และข้อมูล เอามาสร้างเป็นความรู้รอบหรือปัญญา ที่ใช้วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของภาพฉายต่างๆในอนาคตได้ดีกว่าคนกลุ่มอื่น

ความรู้รอบหรือปัญญาแบบนี้สะท้อนออกมาได้เป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ ดังในภาพ ข.  คือ เมื่อพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกันกับภาพ ก. แล้วเราจะเห็นได้ว่า

คนที่อยู่ด้านบนของสามเหลี่ยมในภาพ ก. ซึ่งมีอยู่เพียงจำนวนน้อย จะมีความรู้รอบหรือปัญญาในการวิเคราะห์ภาพรวมของอนาคตมากกว่ากลุ่มคนที่อยู่ถัดลงมา รวมทั้งจะไม่ถูกหลอกให้หลงไปกับนโยบายประชานิยมต่างๆ ได้ง่ายๆ

แน่นอนที่สามเหลี่ยมหัวกลับดังภาพ ข. นี้จะไม่เป็นสามเหลี่ยมปลายแหลม  แต่จะเป็นสามเหลี่ยมปลายหัวตัด กล่าวคือ

คนที่เป็นฐานของสังคมและมีจำนวนคนมากอันเป็นส่วนใหญ่ของสังคมนั้น มิใช่ว่าจะไม่มีความรู้รอบหรือปัญญาที่ว่านั้นเสียเลย เขาก็มีปัญญาที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยเช่นกัน  เพียงแต่ระดับขีดความสามารถนั้น เมื่อเทียบกันแล้ว น้อยกว่าของกลุ่มคนที่ยอดสามเหลี่ยม ก. เท่านั้น

ตัดภาพมาที่การเลือกตั้ง  ทุกคนในสามเหลี่ยม ก. ย่อมมีสิทธิ์ออกคะแนนเสียงเท่ากัน  คือเลือกได้หนึ่งคะแนนเช่นกัน  แต่คนที่ฐานของสามเหลี่ยม ก. มีจำนวนมากกว่ามาก  

หากเราให้ข้อมูลไม่มากพอ  ไม่สร้างปัญญาให้เขาได้มากพอ หรือให้ข้อมูลผิดๆ เช่น ทำให้เขาหลงเชื่อในโครงการประชานิยมต่างๆ โดยไม่แม้แต่จะวิเคราะห์ผลเสียและผลผูกพันต่อระบบงบประมาณในอนาคตของชาติ

ผลสรุปของการเลือกตั้งที่ออกมาย่อมเป็นไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่หรือคนกลุ่มฐานของสังคมนั้นต้องการ  ซึ่งข้อสรุปนั้นจะไม่ตรงกับความคิดและความอยากได้ของคนกลุ่มเหนือขึ้นไป

เพราะคนกลุ่มนี้จะประเมินว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาแบบนั้นไม่มีผลดีต่อประเทศ  ไม่จีรัง  และทำให้เราสู้กับชาติอื่นในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติไม่ได้  และนี่ทำให้คนกลุ่มนี้อึดอัดเนื่องจากความเป็นห่วงประเทศ

ความสามารถในการมองการณ์ไกล กับ ผลการเลือกตั้ง | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ทางออกมีครับ  แต่คงไม่ทันสำหรับวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้   ทางออกที่ว่าคือต้องทำให้สามเหลี่ยมคว่ำหัวกลับ  มีปลายหัวตัดที่กว้างมากขึ้นดังในภาพ ค. 

นั่นคือ เราต้องติดอาวุธทางความคิดให้กับกลุ่มคนที่ฐานรากให้มีความรู้  มีข้อมูล  มีความรู้รอบ จนมีปัญญามากพอที่จะไม่หลงไปกับประชานิยม และช่วยกันหาคำตอบที่ถูกต้องให้กับประเทศ

ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนั้นประเทศเราก็จะมีผลการเลือกตั้งที่ออกมาตามที่ควรจะเป็น และพร้อมกันนั้นมีวิวัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่เทียบได้กับประเทศอารยะที่เจริญแล้วทั้งหลายด้วย

          มีข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งนี้เป็นแค่ตัวอย่างที่ผมยกมาให้เห็นว่าการตัดสินหาข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน การขึ้นภาษีของเทศบาล การเลือกเส้นทางถนนที่จะตัดเข้ามาในหมู่บ้าน ฯลฯ

ล้วนขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ จำนวนคนที่มีสิทธิ์และความรอบรู้ของคนที่มีสิทธิ์นั้น

หากความรอบรู้ของคนต่างกลุ่มมีความแตกต่างกันมาก ข้อสรุปที่ออกมา แม้จะได้มาแบบตรงกับหลักการประชาธิปไตย  ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ควรหรือที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป.