เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

“เนชั่นโพล” ครั้งที่ 2 ชี้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” รวมส.ส.เกิน 300 เสียง “ขั้วอนุรักษนิยม” แพ้ราบคาบ อาณาจักร “บ้านใหญ่” ล่มสลาย “บุรีรัมย์” โดนตีแตก “ภาคใต้” ปชป.-รทสช.-ภท. ตัดกันเอง ส่งผล “ก้าวไกล” มีโอกาสคว้า ส.ส.

“เนชั่นโพล” ครั้งที่ 2 ชี้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ผงาด ส.ส. รวมเกิน 300 เสียง “ขั้วอนุรักษนิยม” แพ้ราบคาบ พบโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เสียงกระโดดข้ามขั้ว อาณาจักร “บ้านใหญ่” ล่มสลาย เหลือเพียงไม่กี่ตระกูล ชนะยกจังหวัด “บุรีรัมย์” โดนตีแตก “ภาคใต้” ปชป.-รทสช.-ภท. ตัดกันเอง ส่งผล “ก้าวไกล” มีโอกาสคว้า ส.ส.

 

เครือข่ายจัดทำ “เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนวมินธราธิราช ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา รวมทั้งองค์กรภาคีพันธมิตร ภายใต้ความร่วมมือโครงการ “Road to The Future : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย”

 

โดยมี นายฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (นมร.) ผู้อำนวยการเนชั่นโพล นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) แถลงผลการสำรวจ “เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” รอบสอง วันนี้ (5 พ.ค. 66)

 

ทั้งนี้ ทีมทำโพล "เนชั่นโพลเลือกตั้ง 66” ได้สรุปผลสำรวจ ครั้งที่ 2 เป็นการสำรวจห่างจากเนชั่นโพลรอบแรก สองสัปดาห์ จำนวนตัวอย่างมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จำนวน 114,457 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 36,243 ตัวอย่าง และภูมิภาค 78,214 ตัวอย่าง ด้วยการลงพื้นที่สำรวจ เป็นรูปแบบการสำรวจที่น่าเชื่อถือที่สุด ของประวัติศาสตร์การสำรวจหรือทำโพล และผลโพลเป็นประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ในการปรับยุทธศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันก่อนเลือกตั้ง 14 พ.ค. 66

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

สำหรับ เนชั่นโพลรอบที่สอง พบการเปลี่ยนแปลงต่างจากเนชั่นโพลรอบที่หนึ่งอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ขึ้นมาแซงนำ “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยคะแนนนำจากการสำรวจเนชั่นโพลครั้งแรก เหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนแปลง จากการตอบแบบสอบถามวิเคราะห์ออกมาได้ ผลจากการสร้างกระแสก้าวไกล มีอิทธิพลสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งนี้

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

การสำรวจรอบสอง ได้สำรวจทั้ง 400 เขต พบว่า ตระกูลการเมือง ที่เรียกว่า บ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆหลายบ้านพังทลาย ไม่อาจผูกขาดเก้าอี้ส.ส.ไว้ได้ ขณะที่ จังหวัดใหญ่ ที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือในอดีตเคยชนะยกจังหวัด แต่จากผลสำรวจเนชั่นโพลรอบสอง พบว่าถูกเปลี่ยนมือ

“เพื่อไทย”กวาด 248 เขต–“ก้าวไกล” 78 เขต

สำหรับผลสำรวจเนชั่นโพลจำนวนเขตที่พรรคการเมืองจะได้เก้าอี้ ส.ส. รวมทั้งหมด 400 เขต (มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 7%) ประกอบด้วย 1. เพื่อไทย 248 เขต (มีโอกาสลงมา 229 เขต) 2. ก้าวไกล 78 เขต (มีโอกาสลงมา 52 เขต) 3. ไม่แน่ใจ/ยังไม่ตัดสินใจ 18 เขต 4. ประชาธิปัตย์ 15 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 19-42 เขต)

 

5. ภูมิใจไทย 12 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 16-39 เขต) 6. ประชาชาติ 12 เขต 7. รวมไทยสร้างชาติ 7 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 13-36 เขต) 8. พลังประชารัฐ 5 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 6-29 เขต) 9. ชาติไทยพัฒนา 4 เขต (มีโอกาสขยับขึ้น 4-27 เขต) 10. ชาติพัฒนากล้า 1 เขต

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

“เพื่อไทย”พ่ายเขต 1 เชียงใหม่

ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 เพื่อไทย พ่ายแพ้ ก้าวไกล อย่างไรก็ดี สำหรับจังหวัดที่เปรียบเป็นไข่แดงในภาคเหนือ อย่าง จังหวัดพะเยา ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัด ว่า สามที่นั่งในจังหวัดพะเยา ยังเป็นของพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมืองคู่แข่งเจาะไม่แตก ( นอกเหนือจากโพล มีเหตุปัจจัยอื่น เนื่องจาก เพื่อไทย และพปชร. โดยร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า มีการหลีกทางซึ่งกันและกันอยู่ด้วย ) ขณะที่ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร บ้านใหญ่พังทลาย

 

“บุรีรัมย์”โดนตีแตก-ภท.เสียฐาน

ภาคอีสาน บุรีรัมย์ ซึ่งภูมิใจไทย กวาด 8 ที่นั่งเมื่อปี 62 แต่รอบนี้ จะถูกแบ่งเก้าอี้ ไปให้พรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับ จังหวัดนครราชสีมา ก็มีการกระจายและให้น้ำหนักไปที่พรรคเพื่อไทย หรือ กรณีภาคใต้ตอนบน จังหวัดสงขลา ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศยึด 9 ที่นั่ง แต่สำหรับผลโพลรอบนี้ โดยเฉพาะเขต 1 (สรรเพชญ บุญญามณี บุตรชาย นิพนธ์ บุญญามณี ) อาจไม่ได้ตามความคาดหวัง

 

พท.-ก.ก.แย่งเก้าอี้บ้านใหญ่ภาคกลาง

ภาคกลาง พบว่า จังหวัดที่พรรคการเมืองเคยได้รับชัยชนะยกจังหวัด ค่อนข้างแน่ยังคงอยู่ที่จ.สุพรรณบุรี อาจมีเพียงเขตเดียวที่คะแนนสูสีแต่น้ำหนักเอียงไปชาติไทยพัฒนาอยู่ ที่น่าสนใจ คือ นครปฐม ของบ้านใหญ่สะสมทรัพย์ ซึ่งสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา อาจไม่ได้รับชัยชนะยกจังหวัด โดยเป็นของพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล ที่เข้ามาแย่งชิง

 

“เพื่อไทย”กวาดส.ส.ภาคตะวันออก

ภาคตะวันออก จากผลสำรวจเนชั่นโพลรอบสอง มีภาพสีแดงกินหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด อย่างจังหวัดชลบุรี ชัยชนะตกเป็นของพรรคเพื่อไทย โดยพื้นที่ภาคตะวันออกได้รับอิทธิพลจากกระแส ทำให้เพื่อไทย คว้าได้ ตามเป้า ที่ต้องติดตาม บ้านใหญ่ หลายบ้าน ก็อาจต้องพัง เช่น ฉะเชิงเทรา บ้านใหญ่เป้าเปี่ยมทรัพย์ถูกก้าวไกล และเพื่อไทยกลับมาแย่งชิงไป หรือ กรณี ของจังหวัดสระแก้ว สามเขต จุดที่อาจต้องสูญเสียที่นั่ง อยู่ที่ เขต 2 ตรีนุช เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

สนามใต้“อนุรักษนิยม”ตัดกันเอง

ภาคใต้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งเป้าว่าจะได้ส.ส. เพราะอ้างอิงจากผลโพลสำนักต่างๆ ว่ามีคะแนนนิยม “ลุงตู่” แต่ จากการที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องมาแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงส่งผลให้ พรรคสีส้ม ขยับมาคว้าชัยได้ ตามทฤษฎีเสาไฟฟ้าหัก ( เมื่อเสาไฟฟ้ายอดปลาย ที่มีตัวความหวังแข่งขันกัน หักลง ก็จะเหลือ ส่วนกลาง ที่มีพรรคเก็บแต้มรออยู่ คว้าไปกิน นั่นคือ พรรคก้าวไกล ) ซึ่งจะมีชัยชนะในบางเขต

เนชั่นโพล ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เกิน 300 เสียง

ขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พรรคประชาชาติ ยังคงได้รับชัยชนะ 6 ที่นั่งขึ้นไป จาก ทั้งหมด 13 เก้าอี้ เหตุผลจากการสำรวจ มีความเหนียวแน่นเชิงวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งภาพของพรรคประชาชาติ มีความโดดเด่นที่สุดในส่วนนี้ จึงกุมความได้เปรียบไว้ได้

“เมืองหลวง” ก.ก.เหนือกว่าพท.

กทม. 33 เขต 33 ที่นั่ง ผลการสำรวจเนชั่นโพลรอบสอง พบว่า กระแสมีอิทธิพลสำคัญ ทำให้ พรรคก้าวไกล ได้รับชัยชนะ และอาจมีกระแสเหนือเพื่อไทย โดยสองพรรคเท่านั้น ที่จะกวาดที่นั่งส.ส.กทม.

 

ชี้อาณาจักร “บ้านใหญ่” สั่นคลอน

สำหรับบทสรุป 1.กระแสมีอิทธิพลสำคัญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านผลสำรวจเนชั่นโพลครั้งที่สอง 2. จังหวัดที่พรรคการเมืองเคยได้รับชัยชนะยกจังหวัด จะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอดีต บ้านใหญ่ ตระกูลดัง ต้องสูญเสียที่นั่ง ให้กับพรรคคู่แข่งที่มีกระแสนิยมดี

3. มองจากภาพรวมทั้งหมด กลุ่มพรรคเสรีนิยม ( เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย(บัญชีรายชื่อ) ประชาชาติ ) จะชนะถล่มทลายชนิดที่ ไม่อาจเหลือพื้นที่ให้กับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม (พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ) กันเลยทีเดียว

4. ชัยชนะของกลุ่มพรรคเสรีนิยม จากการวัดจากผลโพลเนชั่นรอบสอง จะทำให้ได้ส.ส.ในสภารวมกันถึง 300 ที่นั่ง

 

5. ผลสำรวจเนชั่นโพลรอบสองนี้ จะเป็นประโยชน์ให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำไปปรับยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้าย เพราะได้รับทราบจากข้างต้น กระแสมีอิทธิพลสูง และสำคัญในการทำให้ ผลการเลือกตั้งแปรเปลี่ยนจึงจะทำอย่างไร ในการแก้เกม โค้งสุดท้าย

6 .ข้อห่วงใย จากผลสำรวจเนชั่นโพลครั้งนี้ คือ ชุดคำถาม ที่ประชาชนตอบ 70% อาจตัดสินใจเปลี่ยนใจก่อนเข้าคูหาได้ หากมีเงื่อนไขบางประการ (แจกเงิน) ซึ่งตรงนี้ ทำให้ คณะวิจัย มีความเป็นห่วง การยิงกระสุนครั้งมโหฬารก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคของตนประสบชัยชนะ จึงอยากฝากเรื่องนี้ ไปยังกกต. ให้ติดตามตรวจสอบ ให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

“เนชั่นโพล ครั้งที่ 2” ประกาศณ วันที่ 5 พ.ค.66 สำรวจใช้ ตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 115,399 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กทม.จำนวน 35,969 ตัวอย่าง และภูมิภาค 79,430 ตัวอย่าง
[…การสำรวจในต่างจังหวัด 367 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 24 เม.ย. - 3 พ.ค. และการสำรวจใน กทม. 33 เขต ทีมลงพื้นที่สำรวจระหว่าง 28 เม.ย. - 3 พ.ค. มีค่าความคลาดเคลื่อน (error) ดังนี้ 
กทม.33 เขต = 3% , เขตเมืองสำคัญต่างจังหวัด 8 เขต = 5% , เขตเลือกตั้ง 359 เขต = 7% ]