19 กันยา 49 ดราม่า "เที่ยวบินพิเศษ" "พิธา" เล่นใหญ่ ในรัฐประหาร ? 

19 กันยา 49 ดราม่า "เที่ยวบินพิเศษ" "พิธา" เล่นใหญ่ ในรัฐประหาร ? 

"พิธา ตอนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่ม และไม่ได้เป็นบุคคลในเป้าหมายของคณะรัฐประหาร ไม่มีใครสนใจเขาด้วยซ้ำ แต่ทราบว่าเป็นหลานของคุณผดุง..."

ทันทีที่เครื่องแอร์บัส  A340-500 ล้อเตะรันเวย์ท่าอากาศยานกองบิน 6 หรือ บน.6 เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 21 ก.ย.2549 กำลังพลจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ซึ่งเป็นหน่วยรบหลักทางภาคพื้นดินของกองทัพอากาศ ที่สแตนบายรออยู่ก่อนหน้าแล้ว ได้บุกเข้าไปตรวจค้นภายในเครื่องบินลำดังกล่าวโดยละเอียด 

ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นหัวหน้า หลังขนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ 19 ก.ย.2549 เพราะเครื่องบินเที่ยวพิเศษ ลำดังกล่าว นำนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พร้อมคณะ เดินทางจากท่าอากาศยาน บน.6 ไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ตั้งแต่ 10-21 ก.ย. 2549 รวม 10 กว่าวัน โดยมีกำหนดการดังนี้ 

10-11 ก.ย. ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู หรือ ASEM ครั้งที่ 6 ที่ฟินแลนด์
12-14 ก.ย. เยือนคอสตาริกา ทวีปอเมริกากลาง ต่อมาได้เลื่อนการเยือนออกไป 
15-16 ก.ย. ไปคิวบา (ซึ่งอยู่ไม่ไกลกับคอสตาริกา) เพื่อร่วมประชุม กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ NAM
16 ก.ย. แวะค้างคืนที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก 
17-21 ก.ย. เยือนนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly - UNGA) มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อขอการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกให้นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ

ในระหว่างพำนักที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกิดรัฐประหารในประเทศไทย "นายกฯทักษิณ" ได้ตอบโต้ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินทางไกล ด้วยการสั่งปลด พล.อ.สนธิ ออกจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติตามประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่สัญญาณ ก็ถูกตัดเสียก่อน

ขณะที่ พล.อ.สนธิ ให้ตรึงกำลังทหารที่ ท่าอากาศยาน บน. 6 โดยใช้กำลังกองทัพอากาศ พร้อมสั่งตรวจสอบเครื่องบินทุกลำที่บินมาจากสหรัฐฯ เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนในที่สุดได้รับแจ้งว่า เครื่องบินแอร์บัส A340-500 มีผู้โดยสารเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ และนักศึกษาไทยซึ่งไปศึกษาต่างประเทศ จะเดินทางมาถึง กทม.ในเที่ยงวันที่ 21 ก.ย.2549

เมื่อเครื่องแอร์บัส A340-500 ล้อเตะรันเวย์ท่าอากาศยาน บน.6 กำลังพลจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธินได้บุกเข้าไปในเครื่องบินลำดังกล่าว เป้าหมาย คือนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่ก็ไม่ได้เดินทางกลับมาด้วย ก่อนจะมีการตรวจสอบรายชื่อผู้โดยสารทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้นมี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" นักศึกษาวัย 25 ปี ที่แจ้งว่าเดินทางมาร่วมงานศพบิดา ก่อนจะนำตัวไปพักคอยที่ห้องรับรองภายในท่าอากาศยาน บน.6 ประมาณ 3-4 ชม.แล้วปล่อยกลับ

"พิธา ตอนนั้นยังเป็นเด็กหนุ่ม และไม่ได้เป็นบุคคลในเป้าหมายของคณะรัฐประหาร ไม่มีใครสนใจเขาด้วยซ้ำ แต่ทราบว่า เป็นหลานของคุณผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ คนใกล้ชิดนายกฯทักษิณ หลังยึดอำนาจก็มีคำสั่งให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบเครื่องบินทุกลำ ว่ามีใครเดินทางเข้า-ออกบ้าง ส่วนบนเครื่องแอร์บัส A340-500 ตรวจสอบแล้วไม่พบตัวนายกฯทักษิณ" แหล่งข่าวกองทัพอากาศ เปิดเผย พร้อมทั้งระบุว่า

สำหรับกรณีที่คุณพิธา เล่าประสบการณ์ที่ได้รับ ในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารนั้น ในส่วนของกองทัพอากาศ คงไม่ตอบโต้อะไร เพราะเรื่องนี้ผ่านมา 17 ปีแล้ว เข้าใจว่าสถานการณ์ปัจจุบัน อยู่ในช่วงหาเสียง ชี้แจงอะไรไปก็ถูกตีความไปต่างๆ นาๆ นิ่งไว้ น่าจะดีที่สุด ปล่อยให้ทุกอย่างคลี่คลายด้วยตัวของมันเอง 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่าง ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร  ผู้แทนการค้าไทยในขณะนั้น และมีตำแหน่งสูงสุดบนเครื่องบินเที่ยวพิเศษลำนั้น ซึ่งถูกพิธา อ้างถึงในเหตุการณ์เดียวกัน และเป็นผู้ที่รับฝากพิธาให้กลับมาด้วย เล่าว่า ช่วงปี 2549 ตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ โดยวันนั้นอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ มีภารกิจที่ UN และตนเองก็ต้องไปปฏิบัติภารกิจด้วย

ระหว่างกำลังจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เวลาประมาณ 10 โมง ตามเวลาท้องถิ่น ก็มีข่าวว่าประเทศไทยเกิดการรัฐประหาร จึงยกเลิกกำหนดการทั้งหมด และเดินทางกลับประเทศไทย โดยช่วงเย็นวันที่ 19 ก.ย.2549 เวลา 17.00 น. ได้เดินทางไปยังสนามบิน เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับไทย ระหว่างนั้นนายกฯ ทักษิณ ยังเดินทางไม่ถึงสนามบินนิวยอร์ก และมาถึงสนามบินตี 5 ของอีกวัน ทั้งหมดที่อยู่บนเครื่องบิน ต่างอ่อนล้า เพราะอยู่บนเครื่องบินตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตี 5 

"หลังจากขึ้นเครื่องบิน มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาบอกกับผมว่า ฝากน้องพิธากลับประเทศไทยด้วย เพราะมาเรียนอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งผมก็ไม่ได้ถามอะไรมาก เห็นเป็นนักศึกษา และไม่คิดว่าวันนี้จะมาเป็นนักการเมือง จากนั้น ทั้งคณะก็ออกเดินทางจากนิวยอร์ก เมื่อเครื่องบินมาถึงประเทศไทย ได้รับแจ้งว่า เครื่องน่าจะเข้าสนามบินดอนเมืองได้ ไม่น่ามีปัญหา และนายกฯ ทักษิณ ได้เดินทางถึงนิวยอร์กแล้ว" 

"หลังจากที่เครื่องลงจอดที่สนามบินดอนเมืองได้ครึ่งชั่วโมง เครื่องจอดนิ่ง จึงประเมินสถานการณ์ว่า คงไม่สู้ดี เลยเดินทางจากที่นั่งด้านหน้า ไปท้ายเครื่องบิน  ซึ่งมีนักข่าว เจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี และข้าราชการนั่งอยู่ ซึ่งผมได้เจอกับคุณพิธาอีกครั้ง จึงบอกว่า ได้ถูกยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว เครื่องบินลำนี้คงจะเข้าไปจอดที่ บน.6 และขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ คิดว่าทหารคงไม่ทำอะไรกับคณะในเครื่องบินลำนี้ ที่มาถึง"

เหตุการณ์เมื่อทหารขึ้นมาบนเครื่อง ดร.ปานปรีย์ บอกว่า "มีทหารขึ้นมาตรวจบนเครื่องบิน ไม่นานก็ลงจากเครื่องไป และปล่อยทุกคนบนเครื่องบินออกมา ซึ่งผมเองก็ถูกปล่อยตัวให้กลับบ้านทันที ไม่ได้ถูกเชิญตัวไปคุมขัง แต่ของคนอื่นผมไม่ทราบ เพราะทุกคนต่างแยกย้ายกันออกไปแล้ว ทุกคนเดินตามหลังออกมา และบางส่วนก็ไปรอรับกระเป๋าเดินทาง ไม่เห็นมีปัญหา และผมไม่ได้ถูกอายัด หรือถูกกระทำใดๆ กลับบ้านได้เหมือนผู้โดยสารปกติทั่วไป"  

ดร.ปานปรีย์ ยังตอบคำถามถึงสถานะพิธา ว่าขึ้นเครื่องมาในฐานะผู้ช่วยของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในตอนนั้นหรือไม่ว่า "ตอนนั้นทราบเพียงว่า คุณพิธาเป็นหลานของคุณผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการส่วนตัวของนายกฯ ทักษิณ จึงไม่ได้ติดใจอะไร ... ผมไม่ทราบ สถานะของคุณพิธาในขณะนั้น ไม่ได้คิดอะไร คิดเพียงเป็นน้องคนหนึ่ง ไปเรียนเมืองนอก เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งบอกไปว่า กลับมาเมืองไทยแล้วขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียคุณพ่อ ซึ่งผมได้พูดแค่นั้นกับคุณพิธา และไม่ได้เจอกันอีกเลย จนวันนี้คุณพิธาเป็นนักการเมือง" 

ขณะที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ชี้แจงประเด็นดราม่าผ่านโซเชียลมีเดีย หลังไปออกรายการทีวี เล่าประสบการณ์ที่ได้รับการเหตุรัฐประหาร ทำให้พลาดโอกาสไปร่วมงานศพบิดา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า บิดเบือน พูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในอดีตหรือไม่ โดยระบุว่า

ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาอธิบายหนึ่งในเหตุการณ์บีบหัวใจผมที่สุดในชีวิต นั่นคือการสูญเสียคุณพ่ออันเป็นที่รักอย่างกระทันหัน โดยที่ไม่ได้มีโอกาสร่ำลากัน ในช่วงการรัฐประหาร 2549

ต่อประเด็นที่มีความพยายาม นำบทสัมภาษณ์ของผมกับคุณสรยุทธ์เมื่อสัปดาห์ก่อน ไปเปรียบเทียบกับบทสัมภาษณ์ของผมกับคุณหนูแหม่ม สุริวิภา เมื่อสิบกว่าปีก่อน ว่าผมให้สัมภาษณ์ 2 ครั้ง ไม่ตรงกัน

ผมขอยืนยันความจริงโดยรูปภาพ 3 ภาพครับ เพื่อให้กระจ่างและจะกลับไปมีสมาธิหาเสียงต่อครับ 

รูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่างานศพของคุณพ่อผมนั้นเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 - 24 กันยาครับ ต่อคำถามว่า สรุปแล้วมาทันหรือไม่ทันกันแน่ คำตอบ คือ มาทันครึ่ง(วันที่ 22-24) “และ” ไม่ทันครึ่ง (วันที่ 18 - 20 ) ครับ ทั้งการสัมภาษณ์ของคุณสุริวิภา กับของคุณสรยุทธ์ จึงไม่มีอะไรขัดแย้งกันครับ 

รูปที่ 2 อ้างอิงถึง ข่าวจาก Channel News Asia รายงานว่า วันที่ 21 กันยายน 2549 เครื่องบินรัฐบาลไทยที่กลับสู่ประเทศไทยหลังการรัฐประหาร โดยลงจอดที่สนามบินกองทัพอากาศ ในช่วงประมาณ 12.40 น. ซึ่งเป็นเครื่องบินลำที่ผมโดยสารมาจากนิวยอร์ก และลอนดอน 

จากรายงานข่าวจะพบว่า มีเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมตัว และตรวจสอบบนเครื่องบินอย่างละเอียด ผมถูกกักตัวอยู่ 5-6 ชั่วโมง กว่ารถบัสจะออกมา กว่าจะมีรถของผมมารับ ก็ถึงบ้านประมาณ 2 ทุ่มกว่าๆ ผมจำได้ว่าถึงบ้านก่อนคุณแม่ และน้องที่ใส่ชุดดำกลับมา แล้วเราก็กอดกันเป็นครั้งแรกหลังสูญเสียคุณพ่อ 

ส่วนเรื่องข่าวที่มี บุคคลอ้างว่าเป็นเพื่อนพ่อ บอกว่าเห็นผมในงานศพพ่อตั้งแต่วันแรก ซึ่งก็คือ วันที่ 18 คงจะเข้าใจผิดนะครับ เป็นไปไม่ได้ครับ จำเป็นน้องชายผมรึเปล่า เพราะหลักฐานก็ชัดว่าวันนั้น ผมยังอยู่ที่อเมริกาอยู่เลยนะครับ

และรูปที่ 3 คือรูปถ่ายของครอบครัว และผมในงานศพของคุณพ่อ ในวันที่ 22 กันยายน 2549 หลังจากนั้น ก็เก็บศพคุณพ่อไว้อีกน่าจะ 100 วันก่อนเผาครับ

อย่างที่ผมเคยได้พูดในหลายโอกาส เมื่อคุณเข้าสู่การเมือง และโดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ก็จะมีการโจมตีกันมาเรื่อย ๆ จากนี้เป็นต้นไป ซึ่งผมก็ทราบดีว่าเป็นปกติของการเมือง ไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวอะไร ขอให้ทุกคนมีสมาธิกับการหาเสียงและเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนต่อไปครับ

นี่คือเรื่องราวดราม่า เที่ยวบินพิเศษ แอร์บัส  A340-500 ที่เกี่ยวพันกับเหตุรัฐประหารในอดีต ซึ่งเป็นประสบการณ์โดยตรงของ "พิธา" กับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้