“สนธิรัตน์” ชง 4 ทางแก้ไฟแพง” ลดสำรอง - ลดโรงไฟฟ้า LGN - ลดค่าเอฟที - พึ่งรีนิว”

“สนธิรัตน์” ชง 4 ทางแก้ไฟแพง” ลดสำรอง - ลดโรงไฟฟ้า LGN - ลดค่าเอฟที - พึ่งรีนิว”

“พปชร.ชี้ 3 เหตุปัญหาค่าไฟฟ้าแพง “ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูง - ล้มเหลวบงกช - เอราวัณ - เอื้อโรงไฟฟ้า LNG” สนธิรัตน์ เสนอ 4 แนวทางแก้ไขตอบโจทย์อย่างยั่งยืน “ยุติปัญหาไฟฟ้าล้น - ลดใช้ LNG - เพิ่มไฟฟ้าภาคประชาชนเข้าระบบ - ส่งเสริมหลังคาโซลาร์เซลล์ทุกครัวเรือน - ปรับลดค่าเอฟที”

วันนี้ (25 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรค พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษากรรมการนโยบายพรรค และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค แถลงข่าวประเด็น "ปัญหาไฟฟ้าของประเทศไทย" 

โดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวสรุปถึงที่มา และปัญหาค่าไฟฟ้าแพงว่ามาจาก 3 สาเหตุหลัก ได้แก่  

1) การสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ไฟฟ้าสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โรงไฟฟ้าแม้ไม่ผลิตไฟ ประชาชนก็ต้องจ่ายเงิน เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (AP) 2) โรงไฟฟ้าใหม่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง แต่ปัญหาการจัดการแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณในอ่าวไทยของรัฐบาล ทำให้ปริมาณก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าลดลงกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่ามาทดแทน 

และ 3) การปิดโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ เพื่อเปิดทางให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ LNG มีราคาแพงเข้ามาในระบบ หากเป็นเอกชนก็ต้องจ่ายค่า AP เป็นก้อนใหญ่ชดเชยให้ ทั้งที่บางแห่งผลิตไฟได้ถูกกว่า

ทั้งนี้ ตนขอแจกแจงให้เห็นชัดๆ ถึงปัญหาในแต่ละส่วน ดังนี้

1 ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น

1.1 ไฟฟ้าสำรองปี 2557 ที่ประยุทธ์ปฏิวัติ 30% ปี 2565 หลังจากประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแปดปี ขึ้นเป็น 70%

1.2 รัฐทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ Take or Pay คือ แม้ไม่ใช้ไฟประชาชนก็ต้องจ่าย เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ทั้งค่าก่อสร้าง ค่าจ้างคน นำมารวมเป็นค่าไฟฐาน รัฐควรจะใช้เงื่อนไขนี้เฉพาะแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เงื่อนไขนี้ผิดพลาดมาหลายรัฐบาล แต่พลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่แก้ไข

2. ปัญหาการจัดการแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณในอ่าวไทย

2.1 การเปลี่ยนสัญญาสัมปทานในแหล่งก๊าซบงกช และเอราวัณเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต เกิดความผิดพลาดล่าช้า ทำให้ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยลดลงกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ต้องนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่ามาทดแทน ส่งผลกระทบต่อค่าไฟโดยตรง

2.2 กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผูกขาดท่อก๊าซกลางอ่าวไทย เป็นผู้ได้สิทธิรับซื้อก๊าซของชาติที่ปากหลุมผลิตแต่ผู้เดียวเพื่อบวกกำไรแล้วจึงขายให้ กฟผ. ทั้งที่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย ดังนั้น ควรจัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้ใช้สิทธิรับซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียวเพื่อขายก๊าซถูกให้ กฟผ.

3 เลือกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงโดยไม่จำเป็น

3.1 กฟผ. เข้าไปรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่มีต้นทุนแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของ กฟผ. อย่างมาก ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น เพราะใกล้เลือกตั้งจึงไม่กล้าขึ้นค่าไฟจึงให้ กฟผ. แบกรับค่าไฟที่สูงขึ้นแทนประชาชนไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากประชาชนผ่านค่า ft ในภายหลัง ขณะนี้ กฟผ. มีหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดอยู่ในระดับ 150,000 ล้านบาท

3.2 รัฐบาลประยุทธ์ควรจะสั่งให้ กฟผ. เลิกซื้อไฟที่ต้นทุนแพงจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซLNG เป็นเชื้อเพลิง เปลี่ยนไปรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประชาชนแทน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงมาก

ด้าน นายธีระชัย  กล่าวว่า อีกหนึ่งสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศแพง เนื่องจากปัจจุบันการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของรัฐบาลไม่ได้แก้แบบบูรณาการ และยังเป็นการแก้ไม่ตรงจุด ขณะที่ แนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าของนายกฯ ประยุทธ์ ในปัจจุบัน เป็นการแก้ไขแบบเอื้อต่อนายทุนมากกว่าการมองผลประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาสะสมอย่างต่อเนื่องกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งตนจะขอชี้ให้เห็นปัญหา และความล้มเหลว ดังนี้ 1.กำหนดราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกร เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า ดังนั้น การกำหนดเพดานราคาค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกร ก็ย่อมจะต้องควักกระเป๋าออกมาจากฝ่ายรัฐเท่านั้น จึงเป็นนโยบายที่เน้นการปกป้องผลกำไรของนายทุนพลังงานเป็นหลัก

2.ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสำหรับผลิตไฟฟ้า และขายเข้าระบบเพื่อสร้างรายได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างแท้จริง เพราะการติดตั้งบังคับให้ต้องขออนุญาตถึงสามหน่วยงาน มีการกำหนดปริมาณที่จะรับซื้อไฟฟ้าแบบนี้ไว้จำกัดมาก และรับซื้อในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าราคาที่ครัวเรือนซื้อไฟฟ้าจากรัฐบาลมาก

“รัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้เปิดให้มีการประมูลไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เอกชนรายใหญ่อีกถึง 3,660 เมกะวัตต์ ทั้งที่ควรรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ประชาชน” นายธีระชัย กล่าว 

นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลกรณีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการ มีการอนุมัติผลการประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จำนวน 175 ราย 5,203 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งตนมีข้อสงสัยต่อกรณีดังกล่าว คือ1. การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลรักษาการพึงกระทำหรือไม่ 2. เป็นการประมูลที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมาไม่ถือเป็นการประมูลแต่เป็นการคัดเลือกจากรายชื่อที่ยื่นเข้ามา และ3.เป็นการทิ้งทวนเพื่อเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ ซึ่งตนมีความเห็นว่าทั้งพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรักษาการจะต้องมีคำตอบให้กับประชาชน

ขณะที่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า หากพรรคพลังประชารัฐได้เข้าไปเป็นรัฐบาล พรรคมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงแบบบูรณาการ และตอบโจทย์ ซึ่งพรรคมองว่าแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุม 4 แนวทาง เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ได้แก่ 

1. ยุติปัญหาโรงไฟฟ้าล้นเกิน 

1.1 ไม่ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ทุกรายจนกว่าไฟฟ้าสำรองอยู่ในระดับ 15%

1.2 ตรวจสอบการประมูลที่ผ่านมาว่า มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่น การล็อกสเปคในการประมูล เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน

2. ลดการใช้ LNG เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า

2.1 เร่งกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งบงกช และเอราวัณ ให้กลับมาเป็นปกติ จะช่วยลดการนำเข้า LNG ได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ได้ 70%

2.2 เจรจาขอยืมก๊าซในแหล่งพัฒนาร่วมไทย มาเลเซีย ที่แบ่งกันคนละครึ่ง ให้ไทยเป็นผู้ใช้ก๊าซเป็นเวลา 1-2 ปี ในช่วงปรับโครงสร้างพลังงานไทยทั้งระบบ ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ได้ 20-30%

2.4 ห้ามมิให้ กฟผ. รับซื้อไฟจากเอกชนในราคาสูงกว่าต้นทุนเฉลี่ยของ กฟผ. บวกอีก 10% โดยโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลิงโดยจะได้รับเพียงเงินค่าความพร้อมจ่ายเท่านั้น โดยให้ กฟผ. ซื้อจากแหล่งที่มีราคาถูก เช่น โรงไฟฟ้าจากชุมชน และโซลาร์ ประชาชนที่มีราคาถูกกว่าแทน

2.5 จัดตั้งองค์กรก๊าซแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100%ทำหน้าที่จัดการแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่จะทยอยหมดอายุสัมปทาน และต้องตกเป็นของรัฐ โดยให้องค์กรเป็นผู้ทรงสิทธิซื้อก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทยแต่ผู้เดียว และเป็นผู้จัดสรรสิทธิการใช้ก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทย โดยกำหนดราคาขายเป็นขั้นบันได ราคาต่ำสุดจะให้สิทธิแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการผลิตก๊าซหุงต้มสำหรับประชาชน ราคาบันไดขึ้นต่อไปหากมีก๊าซเหลือจึงจะให้สิทธิแก่ภาคธุรกิจทั้งปิโตรเคมี และการผลิตไฟฟ้าของเอกชน

3. เพิ่มไฟฟ้าภาคประชาชนเข้ามาในระบบแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG

3.1 สนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านอย่างแท้จริง โดยให้ครัวเรือนขายไฟฟ้าได้ในราคาเดียวกันกับราคาที่ซื้อไฟฟ้า ตามหลักของการหักกลบลบหน่วย Net Metering ค่าไฟต่ำสุดเหลือ 0 บาท

3.2 ให้ อบต. และเทศบาล ร่วมกับ กฟผ. กฟภ. หรือเอกชน ทำโซลาร์ฟาร์ม โดยผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นของ อบต. และอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะนำมาเฉลี่ยให้กับครัวเรือนแต่ละหลังเพื่อหักออกจากค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ช่วยลดผลกระทบจากค่าไฟที่สูงขึ้น

3.3 ให้กระทรวงการคลังประสานกับธนาคารของรัฐเพื่อให้เป็นผู้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์     บนหลังคาบ้าน และโครงการโซลาร์ชุมชน

4. ยุติปัญหาค่า ft  แพง 

4.1 การปรับลดค่า ft ให้นำหนี้สินของ กฟผ. ที่จะเรียกเก็บผ่านค่า ft มาออกเป็นพันธบัตร “ไฟฟ้าประชารัฐ” อายุ 5-15 ปี จะทำให้ภาระหนี้สินที่ต้องเรียกจากประชาชนลดลงจาก 1.5 แสนล้านบาท เหลือปีละ 1.5 หมื่นล้าน  โดยค่า ft ในส่วนหนี้สินนี้จะเหลือต่ำกว่า 10 สตางค์ โดยรักษาให้ ft รวมอยู่ในระดับ 25 สตางค์ แต่มีเพดาน ไม่เกิน 50 สตางค์ ในภาวะที่ราคาเชื้อเพลิงผันผวน ซึ่งลดลงจากเป้าหมายที่ กฟผ. เสนอค่า ft ในเดือน พ.ค.66  ที่ 293.60 สตางค์ โดยจะต้องทำพร้อมปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าข้างต้นเพื่อไม่ให้หนี้สินกลับมาเป็นภาระอีก

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์