ส่องนโยบาย “พรรคเล็ก-ยักษ์หลับ” งัดไอเดียสู้ “พรรคใหญ่” ทางเลือกใหม่ ปชช.

ส่องนโยบาย “พรรคเล็ก-ยักษ์หลับ” งัดไอเดียสู้ “พรรคใหญ่” ทางเลือกใหม่ ปชช.

ส่องสารพัดนโยบาย “พรรคเล็ก-ยักษ์หลับ” งัดไอเดีย-ประกาศเป้าหมายสู้ “พรรคใหญ่” หวังเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน สู้ศึกเลือกตั้ง 66

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 23 วัน ถึงวันชี้ชะตากำหนดอนาคตประเทศไทย จากการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566

ช่วงเวลานี้นับเป็น “โค้งสุดท้าย” ของทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลง ส.ส. หวัง “ชิงมวลชน-โกยแต้ม” ให้ได้มากที่สุด งัดกลยุทธทั้ง “กระแส-กระสุน” ผ่านสารพัด “นโยบาย” ให้ประชาชนเลือกพวกเขาเข้าไปทำงานในสภาฯ

ประเด็นนโยบายหาเสียง ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจาก 70 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำเสนอแก่สำนักงาน กกต. โดยจะต้องพิจารณาว่า เข้าข่ายผิดวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ใช้เงินงบประมาณเท่าไหร่ และเงินที่จะมาใช้นโยบายเหล่านั้นจะหามาจากไหน 

เบื้องต้น กรุงเทพธุรกิจนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพรรคใหญ่-ขนาดกลาง อย่างน้อย 12 พรรคไปแล้ว

อ่านข่าว: เจาะนโยบาย 12 พรรค หาเสียงโกยแต้ม ลุ้นฝ่าด่าน กกต.

คราวนี้มาดูนโยบายของบรรดา “พรรคเล็ก-พรรคใหม่” ที่อาจเป็น “ม้านอกสายตา” กูรูการเมือง แต่อาจเป็น “ม้ามืด” ในสายตาประชาชนก็เป็นไปได้กันบ้าง

  • พรรคประชาธิปไตยใหม่        

พรรคนี้หัวหน้าชื่อ “สุรทิน พิจารณ์” อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปี 2562 ก็ได้รับผลพลอยได้จากระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” บัตรใบเดียว ได้เข้าสภาฯไปเช่นกัน โดยไปจับมือกับกลุ่ม “พรรคเล็ก” ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาได้แยกตัวออกมาเป็น “กลุ่ม 16” แต่ตอนหลังได้แยกย้ายไป
    
นโยบายพรรคนี้  เน้นหนักไปที่ “กองทุน” ต่าง ๆ ทั้ง กองทุนบำนาญประชาชน 60 ปี ได้เงิน 3,000 บาท/เดือน แบ่งจ่ายรายสัปดาห์ละ 750 บาท นโยบายส่งแรงงานฟรี ไม่มีค่าหัว ออกกฎหมายคุ้มครองคนเป็นหนี้ กองทุนบำนาญ 100% สำหรับข้าราชการเกษียณอายุ นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี โดยสมัครใจ ยกเลิกกองทุน กยศ. นโยบายรักษาฟรี ทุกโรคทุกที่ เป็นต้น

  • พรรคพลัง

พรรคใหม่กำลังร้อนแรง และได้รับการจับตาจากหลายสื่อ มีหัวหน้าชื่อ “ลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง” น้องชาย “กุเทพ ใสกระจ่าง” อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ อดีตรองโฆษกรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” และดัน “ชัยยพล พสุรัตน์บรรจง” ลงแคนดิเดตนายกฯ มี “ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม” นักกฎหมายมหาชน ที่แสดงความเห็นหลากหลายทางการเมืองในช่วงเวลานี้ เป็นประธานนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคด้วย

นโยบายพรรคนี้แบ่งออกเป็น 9 เรื่องหลัก เช่น นโยบายคุณภาพชีวิตเด็ก นโยบายเกี่ยวกับการศึกษา นโยบายเกี่ยวกับแรงงานและการมีงานทำ นโยบายเกี่ยวกับสาธารณสุข นโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ นโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการเกษตร นโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นโยบายเกี่ยวกับสังคม และนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ 

โดยนโยบายที่หลายคนจับตาคือ นโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยกเลิกทหารชั้นยศนายพล ไม่มีรัฐประหาร โดยยึดตามแนวคิดคณะราษฎร ที่เคยมีแนวคิดยกเลิกทหารชั้นนายพล ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้รัฐบาลควบคุมง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายปราบยาเสพติด ยกเลิกกัญชาเสรี ส่วนนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เช่น ประกันราคาข้าว 3 หมื่นบาท/ตัน ใช้งบ 8.1 แสนล้านบาท ยกเลิกบัตรคนจน เปลี่ยนเป็นบัตรสวัสดิการประชาชน ใช้งบ 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ลูกจ้างและข้าราชการบำนาญ 30% ใช้งบ 2.28 แสนล้านบาท เรียนฟรีถึงปริญญาตรี ให้เงิน 10,000 บาท/เดือน นักศึกษากว่า 1.3 ล้านคน ใช้งบ 1.66 แสนล้านบาท เงินเดือนนักเรียนในระบบ ใช้งบ 4.8 แสนล้านบาท เป็นต้น

  • พรรคไทยชนะ    

หัวหน้าพรรคชื่อ “จักรพงศ์ ชื่นดวง” โดยพรรคนี้สร้างความฮือฮาอย่างมาก ในการประกาศดัน “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค สำหรับนโยบายของพรรคส่วนใหญ่เน้นไปด้านเศรษฐกิจ และสาธารณสุขเป็นหลัก เช่น นโยบายรู้ก่อนรักษาโรค ตรวจร่างกายประจำปีฟรีให้ประชาชน ใช้งบ 6 หมื่นล้านบาท โครงการสะพานทุน และเครือข่ายเชื่อมไอเดีย ฝีมือและนวัตกรรมกับแหล่งทุนทั่วโลก ใช้งบ 5 หมื่นล้านบาท นโยบายอิ่มฟรีมีมาตรฐาน วันละมื้อ สร้างมูลค่าพืชผลและฝีมือ ใช้งบ 16,800 ล้านบาท รวมถึงผุดไอเดียตั้งกระทรวง SME แก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอาชีพ เป็นต้น

  • พรรคเสมอภาค

ชื่อพรรคอาจดูใหม่ แต่หากพูดชื่อหัวหน้าพรรค คอการเมืองน่าจะคุ้นหูคือ “รฎาวัญ วงศ์ศรีวงศ์” หรือชื่อเดิม “ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์” อดีต ส.ส.พะเยา 3 สมัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” และอดีตโฆษกรัฐบาลหญิงคนแรกของไทย

สำหรับพรรคนี้เน้นไปด้านทรัพยากรธรรมชาติ และท้องถิ่นเป็นหลัก รวมถึงการสร้างบทบาทของสตรีในภูมิภาค เช่น นโยบาบปลุกความมั่นคงด้านสุขภาพ เดินต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์อาหารปลอดภัยของโรค ใช้งบ 3.8 พันล้านบาท ผลักดันเกษตรไร้พิษ ภูมิปัญญาการแพทย์และสมุนไพรเป็น Soft Power นโยบายทวงคืนกองทุนบทบาทสตรี และแก้กฎหมายยกระดับ LGBTIQAN+ เข้าถึงกองทุนอย่างเสมอภาค ใช้งบ 1.1 พันล้านบาท นโยบายส่งเสริมรัฐสวัสดิการ ให้ประชาชนทุกกลุ่มกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เข้าถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจระดับฐานราก ใช้งบ 5 แสนล้านบาท มีทั้งการลดขนาดกองทัพ เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ เก็บภาษีที่ดินจากผู้ถือครองที่ดินหลักในประเทศ กระตุ้นการเก็บภาษี รวมถึงนโยบายเงินดำรงชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท เป็นต้น

  • พรรคเปลี่ยน

พรรคน้องใหม่ที่ได้รับการจับตาอย่างมากในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะหัวหน้าชื่อ “นอท กองสลากพลัส” พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ เจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรี่ออนไลน์ชื่อดังอย่าง “กองสลากพลัส” อย่างไรก็ดีปัจจุบันเจ้าตัวถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนอยู่หลายประเด็น แต่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในตอนนี้

สำหรับนโยบายของพรรคที่หลายคนคุ้นหูคือ “หวยโอกาส” ใช้งบ 5.5 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มจำนวนสลากเป็น 200 ล้านใบ เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน นอกจากนี้ยังมีนโยบายธนาคารโอกาส ใช้งบ 4 หมื่นล้านบาท กองทุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อผู้พิการ ใช้งบ 3,000 ล้านบาท หลายอีกหลายกองทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดจะใช้เงินที่ได้มาจาก “หวยโอกาส” นอกจากนี้ยังมีกองทุน Smart Plus ใช้งบ 4,280 ล้านบาท แหล่งทุนให้ Start Up ไทยด้านเทคโนโลยี โดยจะใช้แหล่งที่มางบจากการเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติด้วย

  • พรรคไทยภักดี

พรรคนี้ถูกตั้งขึ้นโดย “หมอข้าว” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก และมืออภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ยังมีนักการเมือง “บิ๊กเนม” ในภาคใต้อย่าง “ถาวร เสนเนียม” ร่วมเป็น “กองเชียร์” และมี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช เป็นเลขาธิการพรรคคนปัจจุบันด้วย โดยส่วนมากเน้นโยบายเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นโยบายปราบโกง เช่น เสนอยกเลิกธนบัตรฉบับใบละ 1,000 บาท ผลักดันแก้กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำทุจริตให้ไม่มีอายุความ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานรัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกันยังเน้นนโยบายด้านปฏิวัติโครงสร้างพลังงาน การผลิตพลังงานสะอาด ตรึงราคาพลังงานราคาถูก เป็นต้น

  • พรรครวมพลัง

หรือชื่อเดิม พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ถูกก่อตั้งโดยกลุ่มอดีต กปปส. นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการ กปปส. และนักการเมืองลายคราม แต่ปัจจุบันเจ้าตัวประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว โดยพรรค รปช.ก่อนหน้านี้ผลักดัน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค และได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.แรงงาน เมื่อปี 2562 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนภายในพรรค ม.ร.ว.จัตุมงคล ลาออก และ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมกับโดนปรับ ครม.โยกไปนั่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น “รวมพลัง” และเปลี่ยนโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค โดยบรรดาบิ๊กเนมแยกย้ายไปสังกัดพรรคอื่น

อย่างไรก็ดีในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมพลังยังคงส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงเลือกตั้ง โดยชูนโยบาย 5 อย่างที่แจ้งแก่ กกต. ได้แก่ รวมพลังอาชีวะ เรียน ปวส.ฟรี ใช้งบ 2,784 ล้านบาท/ปี นโยบายมหาวิทยาสู่ตำบล (U2T BCG) ใช้งบ 7.4 พันล้านบาท/ปี นโยบายผลิตแพทย์สู่ตำบล ใช้งบ 7,572,309,580 บาท/ปี นโยบายเกี่ยวกับพัฒนาคุณภาพผู้สูงอายุ และส่งเสริมอาชีพ ใช้งบ 3,717,500,000 บาท/ปี และนโยบายส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ใช้งบ 5 พันล้านบาท/ปี เป็นต้น

  • พรรคประชาภิวัฒน์

อีกหนึ่งพรรคเล็กที่ชนะการเลือกตั้งในปี 2562 และส่ง ส.ส.เข้าสภาฯได้ ปัจจุบันหัวหน้าชื่อ สมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ส.หลายสมัย และอดีต ส.ว.นครสวรรค์ ทั้งนี้ตัวเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีภาพลักษณ์เป็น “ศิษย์เอก” ของวัดพระธรรมกาย ก่อนถูกแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในอดีตเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

สำหรับนโยบายพรรคนี้ ยังคงมุ่งเน้นไปด้านพระพุทธศาสนาเป็นหลัก เช่น จัดตั้งสำนักงานเลขานุการพระสังฆาธิการ ไวยาวัจกร มีเงินเดือนและค่าตอบแทน นโยบายให้มีวิชาพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ถึงมหาวิทยาลัย จัดทำ พ.ร.บ.สนับสนุนให้พุทธบริษัท 4 เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ขณะเดียวกันจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เป็นต้น

  • พรรคไทยศรีวิไลย์

ในปี 2562 “เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค ส่งตัวเองเข้าไปนั่งในสภาฯได้สำเร็จ คราวนี้ปี 2566 เจ้าตัวหมายมั่นปั้นมือจะส่ง ส.ส.เข้าสภาฯอีกครั้ง โดยนโยบายพรรคนี้ชูเรื่องเป็นพรรคของประชาชน ไม่ดูด ไม่ซื้อ ส.ส.จากพรรคอื่น ไม่ซื้อเสียง ไม่สนนายทุน แคร์แต่ประชาชน ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม 2.พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งหารายได้ดูแลประชาชน 3.ลดค่าครองชีพ เพิ่มเงินในกระเป๋า และมีนโยบายเร่งด่วน 15 ข้อ เช่น นโยบายกองทุนแห่งชาติ อัดฉีด 22 ล้านครอบครัว ๆ ละ 1.5 แสนบาท ใช้วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท อัดฉีดงบประมาณปกติให้หมู่บ้านละ 5 ล้านบาท/ปี 4 ปี หมู่บ้านละ 20 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น

  • พรรครวมแผ่นดิน

เดิมในปี 2562 คือพรรคพลังชาติไทย มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของ คสช. เป็นผู้ก่อตั้ง และหัวหน้าพรรค หลังจากนั้นเขาได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. หลังจากนั้นในปี 2564 พล.ต.ทรงกลด เสียชีวิต ทำให้พ้นจาก ส.ส. และเลื่อน บุญญาพร นาตะภัทร ภริยาขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน ต่อมากลางปี 2565 พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายทหารใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เตรียมเข้ามาฟื้นพรรคใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมแผ่นดิน ต่อมาเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใหม่ บิ๊กเนมหลายคนโยกย้ายออกไป และย้ายกลับเข้ามา หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.วิชญ์ ย้ายกลับไปทำงานกับ “บิ๊กป้อม” ตามเดิม ทำให้ พล.อ.ชัชชัย ภัทรนาวิก รองหัวหน้าพรรคขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

สำหรับนโยบายพรรคนี้ เน้นเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น นโยบายแก้ปัญหาปากท้อง ใช้งบ 1.5 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายพัฒนาระบบการศึกษา เรียนดี เรียนฟรี มีงานทำ ปีละ 1,000 คน ระยะเวลา 5 ปี ส่งเสริมการท่องเที่ยว กีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม พัฒนาระบบเกษตรกรรม (Smart Farmer) เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ครู อสม. ใช้งบ 1.3 หมื่นล้านบาท นโยบายเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวพิเศษ เพิ่มรายได้ประเทศ ใช้งบ 50,000 ล้านบาท เป็นต้น

  • พรรคพลังปวงชนไทย

เดิมพรรคนี้ถูกก่อตั้งโดย “นิคม บุญวิเศษ” และถูกสื่อหลายสำนักวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นหนึ่งใน “พรรคแบงก์ร้อย” เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับเครือข่าย “ทักษิณ ชินวัตร” โดยปี 2562 ส่ง “นิคม” เป็น ส.ส.ได้สำเร็จ ต่อมาปี 2563 มีการประชุมพรรค และเรียกเสียงฮือฮาเนื่องจาก พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. ญาติผู้พี่ของ “ทักษิณ” มาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค อย่างไรก็ดีช่วงต้นปี 2566 “นิคม” ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค ไปสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย

นโยบายพรรคนี้มีหลัก ๆ 8 ข้อ เช่น Cash Back สวัสดิการประชาชนเกิดจากการใช้จ่ายประจำวัน ใช้งบ 1 หมื่นล้านบาท เงินยังชีพผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน ใช้งบ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล 30% โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้งบ 4.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังผลักดันแก้ไขกฎหมายสำคัญ เช่น การเปิดประเทศ 24 ชั่วโมง วิทยุชุมชนต้องไปต่อ แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กสทช. รวมถึงสร้างสะพานการศึกษาสู่ปริญญาตรี ด้วยการโอนประสบการณ์อาชีพ สำหรับผู้ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น

  • พรรคสามัญชน

พรรคนี้แสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2561 ที่ว่ามาจากประชาชนเต็มขั้น โดยเคยส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง มาปี 2566 ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ต่อ โดยนโยบายพรรคนี้เน้นไปด้านการเมืองอย่างเข้มข้น ประชาธิปไตยแบบฐานราก ผลักดันด้านสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ส่งเสริมสิทธิเด็ก สวัสดิการเด็กและครอบครัว เป็นต้น

  • พรรคความหวังใหม่

อีกหนึ่งพรรคยักษ์หลับ ที่เดิมเคยเป็นพรรคใหญ่กระทั่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค ได้ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ภายหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2544 อย่างไรก็ดี “ชิงชัย มงคลธรรม” และสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งได้แยกตัวออกมา และจัดตั้งพรรคความหวังใหม่อีกครั้งช่วงปี 2545 เปลี่ยนสัญลักษณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหารชุดเดิม ดำเนินกิจการพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเรื่อยมานับแต่นั้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันพรรคความหวังใหม่มี “ชิงชัย” เป็นหัวหน้าพรรค “วิทยา ปราบภัย” เป็นเลขาธิการพรรค

สำหรับนโยบายพรรคในการเลือกตั้งปัจจุบัน ยังเน้นไปด้านแก้ไขเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น นโยบายพัฒนาชาติด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้งบ 78,903.7 ล้านบาท ฟื้นฟูโครงการอีสานเขียวภาค 2 เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 33 ล้านไร่ ใช้งบ 58,853.9 ล้านบาท ผุดไอเดียก่อตั้ง “กระทรวงน้ำ” ใช้งบ 54,121.9 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงเอกสารที่ดินทั้งหมดให้เป็นโฉนด (น.ส.4 จ) ใช้งบ 2,818.7 ล้านบาท เป็นต้น

  • พรรคประชากรไทย

อีกหนึ่งพรรคในตำนานการเมืองไทย ก่อตั้งโดย “สมัคร สุนทรเวช” อดีตนายกฯ มีบทบาทโดดเด่นในแวดวงการเมืองระหว่างทศวรรษ 2520-2540 ก่อนจะเสื่อมมนต์ขลังไปเมื่อ “สมัคร” ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน ปัจจุบันพรรคประชากรไทย มี คณิศร สมมะลวน เป็นหัวหน้าพรรค

นโยบายพรรคนี้ส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข สังคม และทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก เช่น เพิ่มเงินเดือนแรกเข้าให้ข้าราชการ เพื่อลดการคอร์รัปชัน จัดให้มีสวัสดิการไทย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาท/เดือน เพิ่มค่าตอบแทน อสม. ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ แก้กฎหมายป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร เสนอกฎหมายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี เสนอนโยบายถมทะเลกรุงเทพเขตบางขุนเทียน สร้างศูนย์ราชการแห่งที่ 2 ลดความแออัดและสร้างความสะดวกให้ประชาชน เป็นต้น

  • พรรคเส้นด้าย

อีกหนึ่งพรรคน้องใหม่ที่จากมาด้วยความดราม่า นำโดย “คริส โปตระนันทน์” อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล แต่ได้ลาออกจาก “ค่ายสีส้ม” มาด้วยความไม่พอใจระบบ “โปลิตบูโร” มาตั้งพรรคเองในชื่อ “พรรคเส้นด้าย” ซึ่งเดิมเจ้าตัวกับพรรคพวกก่อตั้งมูลนิธิเส้นด้าย เพื่อช่วยเหลือสังคมในช่วงโควิด-19 ระบาด และได้รับเสียงชื่นชมจากภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย

นโยบายของพรรคนี้ที่แจ้งต่อ กกต. นำเสนอประเด็นสาธารณสุขคือ “ตรวจก่อนเจอ รักษาครอบคลุม” ใช้วงเงินงบประมาณ 15,544 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น งบสร้างเสริมสุขภาพ 15,023 ล้านบาท งบพัฒนาระบบ AI Audit เพื่อตรวจสอบการเก็บเงินเกินสิทธิ 117 ล้านบาทเศษ และงบพัฒนาระบบติดตามและประเมินผลการรักษา 28 ล้านบาทเศษ วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการเชิงป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย ยกระดับสิทธิการตรวจสุขภาพของผู้มีอายุ 20 ปีให้เทียบเท่าสิทธิเบิกตรงกรมบัญชีกลาง ประชาชนไม่ต้องจ่ายค่าส่วนเกินสิทธิ เป็นต้น