25 ปีที่ผ่านมา คุ้มครองสิทธิเป็นหลัก ยุบพรรคเป็นรอง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

25 ปีที่ผ่านมา คุ้มครองสิทธิเป็นหลัก ยุบพรรคเป็นรอง | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา จนถึงฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ก็ยังคงบัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถึงบัดนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอายุครบ 25 ปีแล้ว

ที่ผ่านมา 25 ปี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่เป็นที่สนใจของประชาชน น่าจะมีสองกรณีใหญ่ คือ 

 

การยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

การยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับปัจจุบัน คือฉบับ พ.ศ.2560 ตามมาตรา 92 ที่บัญญัติว่า

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติ ใน (1)-(4) ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วมีหลักฐานเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการตามคำร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองนั้น

การยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่ จะเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจะติดตามข่าวคราวมาก แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่มาก และมีผลกระทบเฉพาะสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ไม่มีผลต่อประชาชนอื่นในวงกว้าง

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับหรือการกระทำนั้น จะใช้บังคับมิได้ 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติ หรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

จากหลักการของการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสำคัญ เพราะมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้ง บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งมีช่องทางที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้

กรณีบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

เป็นไปตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือในกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 5 วรรคสอง ให้ศาลส่งความเห็นนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย 

หรือเป็นไปตามมาตรา 213 กรณีบุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอันเป็นผลจากบทบัญญัติกฎหมายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินการตามมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 คือ

ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันรู้หรือควรรู้ว่าถูกละเมิดสิทธิ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในเก้าสิบวัน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องภายในเวลาที่กำหนด ผู้ถูกละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

กรณีบุคคลถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง

ต้องดำเนินการตามมาตรา 46 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันรู้หรือควรรู้ว่าถูกละเมิดสิทธิ ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในเก้าสิบวัน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องภายในเวลาที่กำหนด ผู้ถูกละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ที่ผ่านมามีคำร้องเรื่องบทบัญญัติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาก ผลการวินิจฉัยมีทั้งไม่ขัดหรือแย้ง และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งที่น่าศึกษา เช่น

คำวินิจฉัยที่ 7/2563 ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บิดาชาวเนเธอร์แลนด์และมารดาคนไทย มารดาได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้ผู้ร้องเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไม่อนุญาตด้วยเหตุติดขัดตามที่กำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 213

ระหว่างการพิจารณา สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบข้อมูลว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทย กระทรวงมหาดไทยยกเลิกคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสมควรวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน โดยวินิจฉัยว่า การเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทยหรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้

คำวินิจฉัยที่ 8/2564  พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้ร้องและพวกรวม 22 คน ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องโต้แย้งว่ากฎหมาย ปปง.ไม่ได้กำหนดความผิดตามประมวลรัษฎากรเป็นความผิดมูลฐานไว้ 

แต่ประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี กำหนดให้ความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 เป็นความผิดมูลฐาน กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักนิติธรรม เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 มาตรา 27 ศาลแพ่งส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ 37 วรรคหนึ่งวรรคสอง

คำวินิจฉัยที่ 22/2565 จำเลยถูกพนักงานอัยการฟ้องในฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ พนักงานอัยการขออนุญาตฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรอง จำเลยขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา เพราะไม่เป็นปัญหาสำคัญแก่การวินิจฉัย 

จำเลยโต้แย้งว่าการที่พนักงานอัยการขออนุญาตฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรอง ถือว่าเป็นปัญหาควรแก่การวินิจฉัยและให้ศาลฎีการับฎีกา เป็นบทกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกับพนักงานอัยการ บทบัญญัติของมาตรา 46 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 และมาตรา 27 ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 46 วรรคสี่ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่ง และกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับเมื่อพ้นสามร้อยหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย.