กฎหมายปราบ ป้องกัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

กฎหมายปราบ ป้องกัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

 ช่วงนี้มีมิจฉาชีพใช้วิธีการทางเทคโนโลยี โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือหลอกลวงประชาชน  ทำให้มีประชาชนจำนวนมากที่ถูกหลอกลวง และต้องสูญเสียเงินมูลค่าสูงมาก

รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรปราบปรามและป้องกันมิจฉาชีพดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกหลอกลวง เนื่องจากเป็นความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลจึงอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายของฝ่ายบริหาร ตราเป็นพระราชกำหนด

เรียกว่า พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ 2566 ออกใช้บังคับ  มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

                 สาระสำคัญ โดยสรุป คือ
                  คำนิยาม
                 “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี”  หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชกทรัพย์หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ

 “สถาบันการเงิน”    หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น  ทั้งนี้ตามกฎหมาย ว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน    
                สถาบันการเงินของรัฐ ในที่นี้ส่วนใหญ่คือธนาคารของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายพิเศษ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นต้น   

             “ผู้ประกอบธุรกิจ”  หมายความว่า  ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน

             จากคำนิยามของคำว่าอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดังกล่าว  กรณีมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์มือถือ โทรมาหาหรือส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันต่างฯ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก หลอกลวงให้บุคคลโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพลักษณะเช่นนี้เป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฐานฉ้อโกง

 การหลอกลวงอีกลักษณะหนึ่งคือการสร้างเรื่องเท็จ และใช้เรื่องเท็จนั้นไปขู่เข็ญผู้ถูกหลอกลวงว่ากระทำความผิดกฎหมายหรือกระทำผิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ข่มขู่จนผู้ถูกหลอกลวงกลัว จึงโอนเงินเข้าบัญชีให้มิจฉาชีพ ลักษณะเช่นนี้เป็น อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กรรโชกทรัพย์

กฎหมายปราบ ป้องกัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

 มาตรการการปราบปรามและป้องกัน โดยการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูล
                     ในกรณีมีเหตุสงสัยว่า มีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ธนาคารหรือผู้ให้บริการการชำระเงิน เปิดเผยข้อมูลบัญชีและธุรกรรม ระหว่างธนาคารและผู้ประกอบการกับลูกค้าผ่านระบบ

หรือกระบวนการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรม และธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดตั้งขึ้นต่อไป        

รวมทั้งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นเกี่ยวข้อง มีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ระหว่างกัน ผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะจัดตั้งต่อไป

                   เมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ให้ผู้เปิดเผยแลกเปลี่ยนข้อมูลแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทราบโดยทันทีและเมื่อได้รับแจ้งข้อมูลดังกล่าวแล้ว หน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้

                 เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์  ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น มีหน้าที่ส่งข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานข้อมูลการจรารทางคอมพิวเตอร์ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามที่หน่วยงานดังกล่าวสั่ง 

                 ถ้าธนาคารหรือผู้ประกอบการให้บริการชำระเงิน พบเหตุอันควรสงสัยว่า บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ อาจถูกใช้ในการกระทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  

ธนาคารหรือผู้ประกอบดังกล่าว มีหน้าที่ต้องระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและให้แจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือ ป.ป.ง.เพื่อตรวจสอบ 

              ถ้าเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา หรือ ป.ป.ง. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า บัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายในเจ็ดวัน

กฎหมายปราบ ป้องกัน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

               การแจ้งธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจให้ระงับการทำธุรกรรม
              ผู้เสียหายที่ถือบัญชีธนาคาร หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกหลอกลวง และโอนเงินเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ  สามารถแจ้งต่อธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ธนาคารหรือผู้ประกอธุรกิจนั้นมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์  

เมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจนั้นทราบ   และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ภายในเจ็ดวัน  

             การแจ้งให้ธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจทราบเพื่อระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวข้างต้น จะกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางโทรศัพท์ก็ได้

              การร้องทุกข์
              การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ทั่วประเทศ หรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้และจะร้องทุกทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้  

              กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
               การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง การเก็บการรวบรวมข้อมูลหรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

               การกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้             
            - การเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน หรือยินยอมให้ใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์หรือความผิดอาญาอื่นใด  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            -  เป็นคนกลางหรือนายหน้า ให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า ให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี ปรับตั้งแต่สองแสนถึงห้าแสนบาท 

             -  เป็นคนกลางหรือนายหน้าให้มีการซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปี ถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.