14 พฤษภาคมนี้ เลือกแล้วไม่เลือกเลย | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

14 พฤษภาคมนี้ เลือกแล้วไม่เลือกเลย | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

วันที่ 14 พฤษภาคมนี้จะเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย  ตอนนี้ยังพอมีเวลาขบคิดตัดสินใจว่าควรมอบคะแนนเสียงให้กับใคร  ยังไม่ต้องรีบร้อน ยังไม่ต้องรีบปักใจ เก็บข้อมูลและสังเกตพฤติกรรมของคนที่เราหมายตาไว้ให้ละเอียดที่สุด

ถ้าเป็นผู้สมัครหน้าเก่าให้ลองนึกย้อนกลับไปว่าสมัยที่แล้วๆ มาตอนเขาได้รับเลือกตั้งไปเขาทำอะไรให้กับชุมชนและชาติบ้านเมืองบ้าง  หรือว่าได้รับเลือกไปแล้วก็หายหน้าหายตาไปเลย  ปีหนึ่งโผล่มาให้เห็นหน้าแค่สองสามครั้งเฉพาะตอนมีงานใหญ่

เช่นเดียวกัน ผู้สมัครที่สอบตกในรอบก่อนเขามีพฤติกรรมอย่างไร  แพ้แล้วหายเข้ากลีบเมฆ หรือยังหมั่นวนเวียนไปมาหาสู่ดูแลชาวบ้านในเขตเลือกตั้งของตนอย่างต่อเนื่อง  ให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก  เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน

สำหรับผู้สมัครหน้าใหม่คงประเมินยากหน่อย บางคนเราอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตารู้จักมักคุ้นกันมาก่อน  หากเป็นคนที่เคยทำงานเพื่อสังคม  มี “ชื่อเสียง” หรือ “ชื่อเสีย” เป็นทุนเดิมอยู่แล้วยังพอทำเนา 

แต่ที่ความดียังไม่เห็น การทำงานเป็นยังไม่ปรากฏ แล้วดีแต่พูดนี่แหละน่าปวดหัว  ไม่รู้จะเลือกยังไงดี

พวกเราต่างก็อยากได้คนดีเข้าไปดูแลบริหารบ้านเมือง  แต่ความอยากไม่ได้รับประกันว่าเราจะเลือก ส.ส. ได้ถูกเสมอไป เพราะว่าผู้เข้าประกวดทุกคนพยายามนำเสนอตัวเองให้ดูดีที่สุดอย่างสุดฤทธิ์  จนแทบแยกไม่ออกว่าคนไหนของจริงคนไหนย้อมแมวขาย

ในเมื่อกระบวนการต้นทางในการเลือกคนมันไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่เราต้องทำคือ เลือกแล้วไม่เลือกเลย  อย่าลืมว่าเขาได้คะแนนเสียงของเราไป  จึงเป็นหนี้บุญคุณเรา  เราต้องติดตามดูพฤติกรรมในสภาของเขาด้วย 

หากพูดอะไรไว้แล้วไม่ทำตามสัญญา  หายตัวเข้ากลีบเมฆ  ไม่เอาใจใส่ประชาชน  ไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเราอย่างแท้จริง  ก็กาหัวเอาไว้เลย  เลือกตั้งคราวหน้าขอลาขาดกัน

โดยปกติแล้ว  ก่อนลงคะแนนเสียงเรามักจัดลำดับความชอบไว้ในใจว่าใครเป็นพระเอก  ใครบ้างเป็นพระรอง  การที่พระเอกได้รับเลือกไม่ได้หมายความว่าเราควรจะให้ความสนใจติดตามกิจกรรมของพระเอกเท่านั้น  ต้องแบ่งความสนใจไปติดตามพระรองเช่นกัน 

เพราะเมื่อติดตามพฤติกรรมหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งของเขาก็จะได้เป็นธาตุแท้ของคนเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น ในอนาคตหากพระเอกของเราเกิดออกลาย  เลือกตั้งคราวหน้าจะได้ตัดสินใจได้ถูกว่าพระรองคนไหนจะได้คะแนนเสียงของเราไปแทน

การเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมองกันระยะยาว  อย่าตั้งความหวังว่าการเลือกตั้งแค่ครั้งสองครั้งจะปฏิรูปการเมืองไทยได้ 

การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องซึ่งต้องใช้เวลานานมาก  และผู้ที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไม่ใช่เหล่า ส.ส. ในสภา  พวกเราประชาชนผู้มีสิทธิมีเสียงต่างหากเป็นผู้กำชะตาอนาคตการเมืองไทย

ความจริงแล้ว นักการเมืองไทยส่วนหนึ่งมีคุณสมบัติสำคัญที่เหมือนกันสองประการ 

1. นักการเมืองอาจแสดงออกเหมือนคนไม่มีเหตุผล แต่ถ้าดูให้ดีจะพบว่า ทุกการกระทำของเขามีเหตุผลซ่อนอยู่เสมอ ก่อนตัดสินใจทำอะไรจะชั่งน้ำหนักผลได้ผลเสียว่าทำไปแล้วคุ้มหรือเปล่า

2. ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเห็นแก่ตัวหรือนักการเมืองเห็นแก่ชาติก็เป็นคนมองการณ์ไกลเหมือนกัน 

คนเห็นแก่ตัวหวังจะได้รับเลือกเพื่อเขาไปตักตวงผลประโยชน์โกงกินชาติบ้านเมืองเอารัดเอาเปรียบประชาชนเพื่อให้ตัวเองได้ร่ำรวยมีอำนาจมากขึ้น   คนที่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองก็คิดจะกลับเข้าไปสานต่องานให้สำเร็จ เพื่อให้ประเทศของเราดีขึ้น

การที่การเมืองของเรายังติดหล่มอยู่แบบนี้ จะโทษเหล่านักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้  พวกเราก็มีส่วนต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน  นอกจากประชาชนแล้ว  เสาหลักอีกต้นหนึ่งคือสื่อมวลชนทั้งหลาย 

เพราะลำพังชาวบ้านร้านตลาดคงไม่มีเวลาไปหาข้อมูลติดตามการทำงานของ  ส.ส. อยู่ตลอดเวลา  ขืนทำแบบนั้นก็ไม่ได้ทำมาหากินกันพอดี 

สื่อต้องทำหน้าที่เป็นผู้คอยขุดคุ้ยเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้กับประชาชนอย่างเที่ยงตรงเป็นธรรมไม่เติมไข่ใส่สี  เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง  สามารถได้ตัดสินใจได้ว่าควรเลือกใคร และคนที่เลือกเข้าไปเป็นของจริงหรือเปล่า

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าผลเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมจะออกหัวหรือออกก้อย  ใครจะอยู่ใครจะไป  จึงคาดได้ยากว่าทิศทางการเมืองไทยในสมัยหน้าจะไปทางไหน  ถึงสุดท้ายแล้วผลออกมาไม่ดีเหมือนที่คาดหวังไว้ก็ไม่เป็นไร  การที่เราคอยติดตามส่งเสียงทักท้วงเมื่อเขาออกนอกลู่นอกทางระหว่างที่ดำรงตำแหน่งก็ช่วยได้เหมือนกัน

ที่สำคัญก็คือ เราต้องตระหนักว่า ส.ส. ทั้งหลายถูกเลือกเข้าไปเพื่อ “รับใช้ประชาชน”

คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
[email protected]