“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

ศึกเลือกตั้งต้องเลือกขั้ว ถึงเวลาชี้เป็นชี้ตาย พรรคสายกลางแทบไม่มีแต้มการเมือง ไม่แปลกที่ “บิ๊กป้อม” ต้องสลัดภาพลักษณ์พรรค “ขั้วสายกลาง” จากแนวทางก้าวข้ามความขัดแย้ง ปรับทิศทางใหม่ บอกกล่าวตรงๆ ไม่ร่วมรัฐบาลกับ “เพื่อไทย-ก้าวไกล”

ยิ่งใกล้ถึงวันกาบัตรเลือกตั้ง ยิ่งบีบให้พรรคการเมือง “เลือกขั้ว” แสดงจุดยืนเพื่อโกยแต้มเลือกตั้ง แม้จะมีบางพรรคพยายามเสนอตัวเป็น “ขั้วสายกลาง” แต่เมื่อถึงเวลาชี้เป็นชี้ตายแทบไม่มีแต้มการเมือง

จึงไม่แปลกที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องสลัดภาพลักษณ์พรรค “ขั้วสายกลาง” จากแนวทางก้าวข้ามความขัดแย้ง ปรับทิศทางใหม่ บอกกล่าวตรงๆ ไม่ร่วมรัฐบาลกับ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เนื่องจากมีนโยบายยกเลิก-แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ไม่ตรงกันกับ พปชร.

“บิ๊กป้อม-ขุนพล พปชร.” ประเมินแล้วว่า “ขั้วสายกลาง” ไม่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทางการเมือง เพราะทุกเวทีดีเบต ทุกจังหวะก้าว มักจะถูกกดดันให้เลือกขั้วทางการเมือง หากยังแทงกั๊กไม่ชัดเจน แต้มการเมืองย่อมมีโอกาสไหลออกไปทาง“พรรคน้อง” จนไม่สามารถหาแต้มมาเติมได้ทัน

กางแต้มผลการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. รวม 81 พรรค ได้รับคะแนนเสียงรวมกัน 35,532,647 คะแนน

โดยพรรคที่เรียกตัวเองว่า “ขั้วอนุรักษ์นิยม-กึ่งอนุรักษ์นิยม” มีคะแนนรวมกันกว่า 18 ล้านเสียง ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 8,433,137 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 เสียง พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 782,031 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 416,234 เสียง พรรคชาติพัฒนา 252,044 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 213,129 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 136,597 เสียง พรรคพลังชาติไทย 73,781 เสียง

“ขั้วเสรีนิยม-กึ่งเสรีนิยม” มีคะแนนรวมกันกว่า 15.5 ล้านเสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง อดีตพรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกล) 6,265,950 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 826,530 เสียง พรรคประชาชาติ 485,436 เสียง พรรคเพื่อชาติ 419,393 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 81,733 เสียง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 มีผู้ที่มีอายุ 18-22 ปี (เนื่องจากรัฐบาลมีอายุ 4 ปี) จำนวน 4,012,803 คน คิดเป็น 7.67% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นบ่อใหญ่ที่ทุกพรรคต้องการแย่งชิงมาให้ได้

“กรุงเทพธุรกิจ” จึงจำแนกพรรคการเมืองที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ฝั่งหนึ่งยึดแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” ส่วนอีกฝั่งหนึ่งยึดแนวคิด “เสรีนิยม” ที่ขับเคี่ยวกันหนักเพื่อชัยชนะทางการเมืองในรอบนี้

“ประยุทธ์-รทสช.”หัวหอกอนุรักษ์นิยม

ตั้งแต่ยอมลงจากหอคอยงาช้างมาคลุกฝุ่นการเมือง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีภาพหัวหอกอนุรักษ์นิยมติดตัวอยู่แล้ว สามารถกระชากแต้มการเมืองให้ “รทสช.” ดีดตัวขึ้นสูงมาเรื่อยๆ

เนื่องจากยี่ห้อ “ประยุทธ์” การันตี ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม “ขั้วเสรีนิยม” ประกาศตัวชัดเจนว่า พร้อมปกป้องสถาบันฯ ไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ที่สำคัญตัวตนของ “ประยุทธ์” ที่เติบโตมาจากกองทัพ ทำให้เลือดเนื้อจิตใจของ “ประยุทธ์” แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับสถาบันฯ ที่สำคัญยังขึ้นชื่อว่าเป็นทหารเสือราชินี ที่พร้อมปกป้องสถาบันฯ มากที่สุดคนหนึ่ง

จึงทำให้ “ประยุทธ์” เสมือนเบอร์หนึ่งของพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ที่จะมากวาดคะแนนเสียงของกลุ่มรักสถาบันฯ ที่ถือว่ามีจำนวนมากอยู่ในขณะนี้

จุดเด่นของ “ประยุทธ์” จึงสามารถโกยแต้มให้กับพรรคพลังประชารัฐเป็นกอบเป็นกำมาแล้ว ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า สถานะของ “ประยุทธ์” ในแบรนด์อนุรักษ์นิยม จะสามารถกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลสมัยที่ 3 ได้หรือไม่

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

ปชป.เสียแชมป์อนุรักษ์นิยมตัวพ่อ

สำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมตัวพ่อ ต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะถูก “ประยุทธ์” ชิงพื้นที่-ฐานเสียงไปได้ ตั้งแต่ยุคเดอะมาร์ค “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ต่อเนื่องมาถึงยุค “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต้องเสียแชมป์อนุรักษ์นิยมต้นตำรับ

ทว่าภายในประชาธิปัตย์ มักมีผู้บริหารพรรค ผู้สมัครส.ส. และทุนหนุนหลัง ส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายของเจ้าขุนมูลนายและกลุ่มอีลีทเกือบทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จุดยืนของพรรคนี้ จะอยู่เคียงข้างสถาบันฯ มาอย่างยาวนาน และจะอยู่ขั้วอนุรักษ์นิยมไปอีกนานเช่นกัน

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

"ภูมิใจไทย" เลือดสีน้ำเงิน

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบายชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่ปกป้องสถาบันฯ และไม่ต้องการให้คู่ขัดแย้งทางการเมืองนำสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

จุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย อาจไม่ได้อยู่ที่นโยบายปกป้องสถาบันฯ แต่อยู่ที่ตัวผู้สมัครส.ส.ของพรรค ซึ่งค่อนข้างมีฐานเสียงเหนียวแน่น ที่สำคัญพื้นที่ใดที่มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีในพรรค วางยุทธศาสตร์ชิงแต้มการเมืองได้เหนือกว่าคู่แข่ง

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ทั้ง “อนุทิน-เนวิน” ประกาศชัดทั้งทางลับ-ทางเปิดว่า พรรคภูมิใจไทยเลือดสีน้ำเงิน

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

พปชร.ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง

จดหมาย 6 ฉบับของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พยายามส่งสัญญาณก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างจุดขาย “พรรคสายกลาง” สามารถจับมือตั้งรัฐบาลได้กับทุกขั้วการเมือง

แต่ท้ายสุด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนภาพของ “ประวิตร” ให้ยืนอยู่ตรงกลาง เหนือความขัดแย้งได้ เพราะไม่สามารถสลัดภาพ “บิ๊กทหาร” ที่พัวพันกับการรัฐประหาร 2557 ได้  “ขุนพลพปชร.” จึงประเมินว่า หากยังดึงดันวางยุทธศาสตร์พรรคสายกลาง แต้มการเมืองคงลดน้อยถอยลง และไปเพิ่มให้พรรครวมไทยสร้างชาติในขั้วเดียวกัน

หลังจากนี้ต้องจับตากลยุทธของ “ประวิตร-พลังประชารัฐ” จะเดินเกมรุกคืบขอแชร์แต้มขั้วอนุรักษ์นิยมจากน้องเล็ก  “ประยุทธ์” ได้มากน้อยเพียงใด

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

"พรรคกลาง-เล็ก"สวิงได้ทุกขั้ว

นอกจากบรรดาพรรคการเมืองใหญ่แล้ว ในสมการการเมืองของไทย ยังมีพรรคการเมืองขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก เป็นตัวแปรสำคัญ ในเกมแย่งชิงอำนาจมาทุกยุค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากพรรคเล็ก แม้จำนวนเสียงในสภาอาจจะไม่มาก แต่มีผลต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และเสียงโหวตมีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล

พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า และบรรดาพรรคเล็กอื่นๆ มีโจทย์หินยิ่งกว่าพรรคใหญ่ ที่ต้องเบียดชิงเก้าอี้ ส.ส.เข้าสภาให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้เก้าอี้ ส.ส.จำนวนมาก เพียงแค่มี ส.ส.เข้ารวมเสียงกับขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ดังนั้นแนวทางของพรรคเหล่านี้จึงพยายามเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับ “ทุกขั้ว” ไม่แสดงจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับขั้วใดชัดเจน เพื่อไม่เป็นการปิดทางร่วมรัฐบาล 

“ทักษิณ-เพื่อไทย”เสรีนิยมจำแลง

มาถึง “ขั้วเสรีนิยม” พรรคเพื่อไทย และ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีบทบาทเบื้องหลังการเมือง แม้วันนี้เขาจะไม่ใช่เบอร์หนึ่งของขั้วเสรีนิยมอย่างเป็นทางการอีกต่อไป แต่ถูกจำแนกให้อยู่ใน"ขั้วกึ่งอนุรักษ์นิยม" โดยประเมินแล้วว่าหากจะเข้าสู่อำนาจ ต้องการชนะแบบแลนด์สไลด์เท่านั้น

เนื่องจากสถานะของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ไม่ข้อจำกัด โดยเฉพาะการจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เพราะอาจจะส่งผลกับแผนต่อรองทางการเมืองให้ “ทักษิณ” ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง

โดย “ทักษิณ-เพื่อไทย” จำเป็นต้องแอบอิงขั้วเสรีนิยม เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชิงคะแนนจาก “คนรุ่นใหม่” ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรคก้าวไกล จึงพยายามรีแบรนด์พรรค ชูการทำงานร่วมกับ “คนรุ่นใหม่” ชู “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หวังต่อยอดสร้างฐานเสียงคนรุ่นใหม่

“ทักษิณ-เพื่อไทย” มีโจทย์ใหญ่ คือการกวาด ส.ส. เข้าสภาฯให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการต่อรองทางการเมือง และพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ถูกผลักไปยืนอยู่ในข้างฝ่ายต่อต้านสถาบันฯ

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

“ก้าวไกล”ท้าชิงเบอร์หนึ่งเสรีนิยม

พรรคก้าวไกลต่อยอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค มีจุดยืน-จุดขายชัดเจน คือการเลือกยืนอยู่คนละฝั่งกับอนุรักษ์นิยม คือต้องการปฏิรูปประเทศในหลายๆ ด้าน

แนวคิดของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถูกถ่ายทอดมายัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึง ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ต้องการสานต่อเจตนารมณ์ของ “ธนาธร-ปิยบุตร”

ภาพ “ส.ส.ก้าวไกล” เข้าร่วมการชุมนุม “ม็อบ 3 นิ้ว” ภาพใช้ตำแหน่งส.ส.ประกันตัว “แกนนำม็อบ 3 นิ้ว” ภาพการเสนอแก้มาตรา 112 ภาพการเสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้พรรคก้าวไกลมีภาพจำในฐานะเบอร์หนึ่งของ “ขั้วเสรีนิยม” ที่อยู่ตรงข้ามสถาบันฯ

ดังนั้น แม้จะลดเพดานลง และปรับแนวทางการหาเสียงเน้นเรื่องนโยบายด้านต่างๆ มากขึ้น แต่พรรคก้าวไกลก็เลี่ยงไม่พ้น การนำประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ แก้โทษ ในมาตรา 112 มาเป็นจุดขายสำคัญ เพื่อโกยแต้มจาก “คนรุ่นใหม่”

“พลังป้อม”ก้าวไม่ข้ามความขัดแย้ง เปลี่ยนเกม“นำขั้ว”อนุรักษ์นิยม

พรรคเล็กฝ่ายค้านพันธมิตร พท.

นอกจากนี้ “ขั้วเสรีนิยม” ยังมีพรรคเล็กอยู่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน อาทิ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคอื่น โดยทุกพรรคมีเครือข่ายเดียวกัน โดยเฉพาะพรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ที่มี"เพื่อไทย" เป็นพรรคยานแม่

แนวทางการขับเคลื่อนของพรรคเล็กในฝ่ายค้าน จึงค่อนข้างสอดคล้อง-สอดประสานกับ ทักษิณ-เพื่อไทย ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับสถาบันฯ ของพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคอื่น จึงรอสัญญาณจาก ทักษิณ-เพื่อไทย เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ทสท.สายกลาง สู้ยาก-ไร้ที่ยืน

นอกจาก “ขั้วอนุรักษ์นิยม” และ “ขั้วเสรีนิยม” จะสู้รบกันหนักแล้ว ยังมี “พรรคสายกลาง” ที่ออกตัวอยู่ตรงกลางความขัดแย้ง โดยเฉพาะพรรคไทยสร้างไทย ที่ไม่ประกาศตัวว่าเลือกอยู่ขั้วใด พร้อมที่จะแปรผันตามสมการการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ข้อดีของ “พรรคสายกลาง” คือการเลือกอยู่ร่วมกับ “ผู้ชนะ” ได้ในภายหลัง แต่ข้อเสียที่ปฏิเสธไม่ได้คือการไร้ที่ยืนทางการเมือง คะแนนเสียงจาก “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง คะแนนเสียงจาก “คนรุ่นเก่า” ที่รักและปกป้องสถาบัน จะไม่เทมาให้พรรคสายกลาง

ทำให้พรรคสายกลางจะมีแต่คะแนนนิยมที่มีติดตัวกับ “ผู้สมัคร” ไม่มีประเด็นกระแสมาเป็นเสียงสนับสนุนให้มีโอกาสกวาด ส.ส. เข้าสภาเป็นกอบเป็นกำ