สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก. พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก.  พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

"ไพบูลย์" ประกาศ "พปชร." ไม่ร่วมรัฐบาล "พท.-ก้าวไกล" ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ใน "สมการตั้งรัฐบาล" หลังม่าน นี้ กลยุทธ์เอาใจกลุ่มอีลีท เพื่อหวังแรงหนุนขึ้นสู่อำนาจ

การประกาศจุดยืนทางการเมือง ต่อการ “จับมือ-ดีลขั้ว” ร่วมตั้งรัฐบาลของบรรดาพรรคการเมือง ในห้วงเวลาหาเสียง ได้กลายเป็นเรื่องปกติในยุคปัจจุบัน ที่ทุกพรรคหมายมั่นจะเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

หากเทียบกับการเมืองในยุคก่อนการรัฐประหาร ก็อาจเป็นเรื่องแปลก เพราะจะไม่มีใครดีลกับใครไว้ล่วงหน้า จนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้ง ว่าจะได้ ส.ส.เข้าสภาฯ กี่ที่นั่ง

ล่าสุด การประกาศของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุจุดยืนพรรค ที่ “ไม่ดีล“ และ ”ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล” 

 

แม้เหตุผลที่ยกมาชี้แจง เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายเรื่องของทั้ง 2 พรรค แต่ก็มีสิ่งที่น่าคิด ว่าทำไม “ไพบูลย์” ถึงออกมาประกาศอย่างชัดแจ้ง ในห้วงที่ข่าว “ดีลการเมือง” อยู่ในภาวะนิ่ง แม้เจ้าตัวจะบอกว่า ได้ “ไฟเขียว” จาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว หลังจากไปหารือเมื่อไม่นานมานี้

สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก.  พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

จนกลายเป็นแรงเขย่าที่ทำให้ “สันติ พร้อมพัฒน์ - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” แกนนำพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นที่รู้กันในทางลับ ว่าคือ “มือดีล” ต้องประสานเสียงบอกปัดว่า “ความเห็นนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรค”

 

ทว่า ยังมีเหตุผลที่ไม่แจกแจง คือเนื้อในของ “ไพบูลย์” คือ บุคคลที่ยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็น “ส.ว.” หลังการรัฐประหารปี 2549 และในบทบาทของ ส.ว.นั้น ไพบูลย์ได้รวบรวม ส.ว.สายพันธมิตร และกลุ่มที่มีความคิดแนวเดียวกันเป็นกลุ่ม “40 ส.ว.” เพื่อแสดงความคิดความเห็นที่อยู่ตรงข้าม “คนในขั้วเสื้อแดง”

“ไพบูลย์” จึงถือเป็นคนที่ดับฝัน “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้กุมอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหาร

 

เริ่มแรกจากเขี่ย “ยิ่งลักษณ์” ให้ลงจากตำแหน่งนายกฯ หญิง เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วยข้อหาก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายเลขาฯ สมช. “ถวิล เปลี่ยนศรี” ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 และยังพบความเชื่อมโยงถึงการเอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้อง จนศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” ต้องสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ฐานะนายกฯ และพ่วงรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลขณะนั้น 9 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย และทั้ง 9 คนนั้น ปัจจุบันส่วนใหญ่สังกัดอยู่กับพรรคเพื่อไทย

สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก.  พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

ยังมีคดีต่อมาที่ “ไพบูลย์”ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง คัดค้านพรรคไทยรักษาชาติ กรณีเสนอชื่อ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ อีกทั้ง ยังชี้ช่องให้“ยุบพรรค”เพราะเห็นว่าผิดระเบียบ กกต.กรณีนำสถาบันเบื้องสูงหาเสียงเลือกตั้ง 

 

ผลงานที่เกิดขึ้นคือ “ไทยรักษาชาติ" ซึ่งเป็นพรรคน้องของเพื่อไทย ในกลยุทธ์ “แตกแบงค์ร้อย” ของ “ทักษิณ” เพื่อสู้กับกติกาเลือกตั้งบัตรใบเดียว “ถูกยุบพรรค” ก่อนวันเลือกตั้งไม่กี่วัน

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ “ไพบูลย์” จะออกมาประกาศ ไม่ดองกับเพื่อไทย ขณะที่ก้าวไกลมีปมฝังใจกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก.  พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

เช่นเดียวกับ “คนเพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่ลึกๆ แล้วไม่ขอข้องเกี่ยวกับคนชื่อ “ไพบูลย์” ทั้งในทางลับ หรือที่แจ้ง

ดังนั้น ในมุมคิดของคนที่เคยมีความหลังฝังใจกับไพบูลย์ หากสมการ “ตั้งรัฐบาล” ตามสูตรพลังประชารัฐ + (เพื่อไทย+ก้าวไกล)เกิดขึ้นจริง ทางที่ควรจะเป็น และต้องทำคือเขี่ย “ไพบูลย์” พ้นวงอำนาจ

 

ทว่า หากมองมุมของ “พลังประชารัฐ” ต่อการก้าวไปสู่ “ผู้จัดตั้งรัฐบาล” มีสิ่งที่ต้องคำนึงคือ การผสานได้กับคนทุกกลุ่มขั้ว โดยเฉพาะกลุ่มอิลีทที่เปรียบเป็น “ขั้วอำนาจแฝง” ในสมการการเมือง ซึ่งมองภาพ “ประวิตร” ว่า ตอบโจทย์ได้น้อย เมื่อเทียบกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และหากยังมีท่าทีไปรวมกับ “ขั้ว” ที่กลุ่มอีลีทไม่นิยม อาจทำให้แรงสนับสนุนในการ “ขึ้นสู่อำนาจ” ถอยห่างมากไปกว่านี้

สัญญาณ“ล่มดีล” พท.-กก.  พปชร.เอาใจ“ขั้วอำนาจ”แฝง

ดังนั้น การประกาศตัดสัมพันธ์ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่ไม่ลงรอยกับกลุ่มอีลีท ผ่าน “ไพบูลย์” ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังรักษาสัมพันธ์ของกลุ่ม “40 ส.ว.” และ “ส.ว.ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสัมพันธ์กับอีลีทบางกลุ่มในสังคมไทย จึงอาจเป็นมุมที่คิดได้ว่า เพื่อ “รักษาฐานสนับสนุนและความไว้ใจ”

ในโจทย์ของการเมืองไม่มีสมการร่วมรัฐบาลที่แน่นอนตายตัว เพราะทุกอย่างล้วนจบลงที่การ “ดีลที่สมประโยชน์” 

แม้ฉากหน้าจะประกาศ “ไม่เอา” แต่เงาที่ปรากฎบนฉากหลัง คือการจับมือบนข้อตกลงทาง “ผลประโยชน์” ที่เหลือแค่การลงนามหลังวันเลือกตั้งเท่านั้น.