นโยบาย "ใช้จ่ายเงิน" ต้องเคลียร์ ขายฝันเกินจริง “โทษยุบพรรค”

นโยบาย "ใช้จ่ายเงิน" ต้องเคลียร์ ขายฝันเกินจริง “โทษยุบพรรค”

"...ทั้งหมดคือ “กฎเหล็ก” ของ กกต. ที่ “พรรคการเมือง” จำเป็นต้องเรียนรู้ และเข้าใจ แต่หากมีการออก “นโยบาย” เพื่อ “หาเสียง” แก่สาธารณชนแล้ว จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อตรวจสอบว่านโยบายนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่..."

กำลังเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับ “พรรคเพื่อไทย” กรณี “เสี่ยนิดเศรษฐา ทวีสิน ผู้นำนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” แจกวอลล็อตให้กับบุคคลผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เติมเงินให้ขั้นต่ำ 10,000 บาท จนถูกหลายพรรค ภาคประชาชน นักวิชาการ โจมตีอยู่ในตอนนี้

เพราะนโยบายดังกล่าวถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็น “ประชานิยม” จนเกินเหตุ และที่สำคัญจะ “หาเงิน” จากไหนมาเป็นค่าใช้จ่ายนโยบายดังกล่าว เพราะมีการดีดลูกคิดคำนวณตัวเลขคร่าว ๆ ว่า อาจต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

เรื่องนี้ถูกนำไปขยายผลหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ “เพื่อไทย” จนสุดท้าย “ทีมเศรษฐกิจพรรค” นำโดย “หมอมิ้งนพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตมือขวา “คนแดนไกล” ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ต้องรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวสามารถทำได้จริง และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5%

“หมอมิ้ง” ชี้แจงการหารายได้ที่มาของงบประมาณนั้น มาจากการ “เก็บภาษี” เพิ่มเติม จากการประเมินของหน่วยงานของรัฐ ที่คาดว่าจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท และมาจากภาษีต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณแสนกว่าล้านบาท รวมทั้งงบประมาณจากโครงการต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้แล้ว

ไม่วายเงื่อนไขดังกล่าว ยังถูกสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งชี้แจงรายละเอียด วัตถุประสงค์ของนโยบายนี้โดยด่วน ขีดเส้นกำหนดภายใน 7 วัน เนื่องจากเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้วงเงินงบประมาณ และ “พรรคเพื่อไทย” ยังไม่ได้แจกแจงรายละเอียดเรื่องนี้กับ กกต.แต่อย่างใด

แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ถึงกรณีที่ให้พรรคเพื่อไทยชี้แจงที่มาของเงิน หลังประกาศนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท ภายใน 7 วัน ว่า เพราะยังไม่ได้บอกที่มาของเงิน ตามเงื่อนไขจะต้องบอกเพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมแบบใด ถ้าไม่มีข้อมูลรายละเอียด อาจเข้าข่ายขัด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 2561

แต่ “เลขาฯ กกต.” ยังยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีความผิด เพราะการไม่แจ้งยังไม่ถือว่าผิด

นโยบาย \"ใช้จ่ายเงิน\" ต้องเคลียร์ ขายฝันเกินจริง “โทษยุบพรรค”

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเรื่องนี้ มิใช่แค่กับ “พรรคเพื่อไทย” เพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลสะเทือนไปยังทุกพรรคที่นำเสนอนโยบายลักษณะ “ประชานิยม” โดยสำนักงาน กกต.ทำหนังสือส่งไปยังทุกพรรคการเมือง ให้ชี้แจงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดินมายัง กกต.เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีหลายพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายลักษณะดังกล่าว

กรุงเทพธุรกิจ พลิกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากสำนักงาน กกต.มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบอีกครั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566

สาระสำคัญที่ กกต.กำลังเร่งตรวจสอบจากทุกพรรคตอนนี้คือ จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด อยู่ในมาตรา 12 แก้ไขมาตรา 73 แห่ง พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ 2561 แก้ไขปี 2566

โดยในมาตรานี้ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนแก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. จำนวน 5 วิธีคือ

1.จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด

3.ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือสถาบันอื่นใด

4.เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

โดยหากพรรคการเมืองกระทำเข้าข่าย 5 ข้อข้างต้น หรือตามมาตรา 73 ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 158 และมาตรา 159 โดยอาจโดนโทษตั้งแต่ถูกปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และหากพบว่า “กรรมการบริหารพรรค” มีส่วนรู้เห็น อาจเข้าข่ายถูก “ยุบพรรค” ได้ด้วย

ส่วนในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงฯ มีสาระสำคัญอีก 5 ข้อดังนี้

1.การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนด เป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

2.ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะ นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร ยานพาหนะ หรือค่าจ้างซึ่งต้องเสียตามปกติ

3.ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครใด

4.ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย เข้ามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง โดยประการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด ทั้งนี้เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการช่วยราชการ หรือเป็นการประกอบอาชีพตามปกติ โดยสุจริตของผู้นั้น

5.ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ทั้งหมดคือ “กฎเหล็ก” ของ กกต. ที่ “พรรคการเมือง” จำเป็นต้องเรียนรู้ และเข้าใจ แต่หากมีการออก “นโยบาย” เพื่อ “หาเสียง” แก่สาธารณชนแล้ว จำเป็นต้องชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อตรวจสอบว่านโยบายนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่

เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว อาจมีการนำนโยบายมา “ขายฝัน” ให้ประชาชนเลือกเพื่อลงคะแนน แต่สุดท้ายทำไม่ได้จริงอย่างปากพูด จนถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันขรม เหมือนอย่างที่ผ่านมาอีก