สแกนพลพรรค 'ประยุทธ์' รถไฟเที่ยวสุดท้าย 'พรรคขวาจัด'

สแกนพลพรรค 'ประยุทธ์' รถไฟเที่ยวสุดท้าย 'พรรคขวาจัด'

สแกนกองกำลังเฉพาะกิจ พลพรรค ‘ประยุทธ์’ แบกอุดมการณ์แนวขวาจัด กวาดแต้มฝั่งขั้วรัฐบาลเดิม แม้ลุงตู่เรตติ้งดี แต่ ‘ขุนพล’ ในสนามรบยังขาดเอกภาพ

เอาเข้าจริง ‘รวมไทยสร้างชาติ’ มีสภาพไม่ต่างจากพรรคเฉพาะกิจในอดีต ที่ก่อรูปก่อร่างขึ้นมารองรับอดีตนายทหารใหญ่บางคน เพียงแต่พรรคของลุงตู่ มีความชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ เหมือนบางพรรคการเมืองยุคสงครามเย็น

วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค รทสช.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก บอกเหตุผลทำไมต้องไปต่อ “...อยากไปต่อไหม ไม่อยาก แต่ที่มานั่งตรงนี้ เหตุผลของผม คือ อันนี้มันใกล้เสร็จ ไม่แน่ใจว่าถ้าทิ้งไปมันจะเสร็จไหม แต่ว่าผมอยู่อีก 2 ปี ถ้าได้อยู่”

สำหรับกรณีพรรค รทสช. พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า “เผอิญตุ๋ย(พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ตั้งพรรคไว้แล้ว ผมมายืนอยู่จุดนี้ ก็อึดอัด ต้องตัดสินใจ เพราะอยากให้ได้ สส.ที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ทำเพื่อพรรคอย่างเดียว ต้องทำชาติ ศาสน์ กษัตริย์และประชาชน”

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้า รทสช. ได้กล่าวปราศรัยบนเวทีว่า “...หัวใจของพรรคคือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน” และประโยคนี้ทำเอากองเชียร์ฝ่ายขวาจัด ส่งเสียงเฮ “..ถ้ารวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำรัฐบาลเราจะจัดการกับพวกชังชาติ พวกล้มสถาบันโดยเด็ดขาด”

นักวิชาการที่เกาะติดเวทีเลือกตั้งหลายสถาบัน ต่างประเมินว่า พรรค รทสช. ที่ขายความเป็นอนุรักษ์นิยม น่าจะได้เก้าอี้ ส.ส. ประมาณ 25-30 ที่นั่งเท่านั้น

ขณะที่แกนนำพรรค รทสช.เชื่อว่า พรรคจะได้ 80 ที่นั่ง โดยอ้างโพลความมั่นคง ทั้งสาย กอ.รมน. , สันติบาล ,กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น

ร้าวลึกบัญชีรายชื่อ

หมวกอีกใบหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ในพรรค รทสช. คือ ประธานคณะ กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่เป็นศูนย์รวมของนักการเมืองต่างสายพันธุ์ ในพรรคเฉพาะกิจนี้

การจัดลำดับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรค รทสช. ก็สะท้อนภาพการเมืองในความเป็นจริง อย่างเช่น สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อยู่ในลำดับที่ 2 , มล.ชโยทิต กฤดากร ลำดับที่ 4 และพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ลำดับที่ 6 ก็เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค

กลุ่มเสี่ยตุ๋ย อย่าง วิทยา แก้วภราดัย ,ชัชวาลล์ คงอุดม ,จุติ ไกรฤกษ์, เกรียงยศ สุดลาภา และดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ก็อยู่ในเซฟโซน ไม่เกินลำดับที่ 15

ส่วน สุชาติ ชมกลิ่น หอบหิ้ว ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ มาอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 ทำเอากลุ่มก๊วนอื่น มองตาปริบๆ

อหังการ์ก๊กเฮ้ง

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในฐานะแม่ทัพภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอดีต ส.ส.จากพรรค พปชร. อยู่ในมือ 8-9 คน พร้อมกับทีมผู้สมัครหน้าใหม่ ที่อยู่ในการดูแลของกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา และชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี

สแกนพลพรรค \'ประยุทธ์\' รถไฟเที่ยวสุดท้าย \'พรรคขวาจัด\'  

กรณี จ.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ เป็นแชมป์เก่าสมัยที่แล้ว แต่ไม่ลงสมัคร ส.ส.เขต โดยขยับไปอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 และให้อดีตผู้ช่วย ส.ส.ลงสนามแทน  

มีรายงานข่าวว่า ต้อย แปดริ้วหรือชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ได้เปิดทางให้ อรรถกร ศิริลัทธยากร ลูกชาย อิทธิ ศิริลัทธยากร ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ในสีเสื้อพรรค พปชร.เนื่องจากเสี่ยอิทธิ เป็นพันธมิตรการเมืองท้องถิ่นกับ กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.แปดริ้ว

กรณีต้อย แปดริ้ว ไม่ลง ส.ส.เขต แต่มาเสียบบัญชีรายชื่อ อันดับต้นๆ สร้างความไม่พอใจให้กับบางซุ้ม ในภาคกลางที่มาจากพรรค ปชป. ซึ่งพวกเขากลับลงไปเสี่ยงสอบตกในสนาม ส.ส.เขต

ก๊กหิมาลัย-จุติ

เนื่องจากเป็นพรรคเฉพาะกิจ ในแต่ละภาค ก็มีขุนพลที่มาจากคนละสายพันธุ์อย่างภาคเหนือ พรรค รทสช. ก็มีทั้งก๊ก หิมาลัย ผิวพรรณ กับก๊ก จุติ ไกรฤกษ์ และศิริวรรณ ปราศจากศัตรู

สแกนพลพรรค \'ประยุทธ์\' รถไฟเที่ยวสุดท้าย \'พรรคขวาจัด\'

อย่างกรณี จ.พิษณุโลก หิมาลัย ผิวพรรณ จับมือ ธวัชชัย กันนะพันธุ์ อดีตนายก อบจ.พิษณุโลก และมานัส อ่อนอ้าย อดีต ส.ส.พิษณุโลก จัดตัวผู้สมัคร ส.ส.ครบทั้ง 5 เขต เฉพาะเขต 5 (อ.นครไทย) วางตัว ชนะชน อ่อนอ้าย ลูกชายมานัส เป็นผู้สมัคร ส.ส.

สแกนพลพรรค \'ประยุทธ์\' รถไฟเที่ยวสุดท้าย \'พรรคขวาจัด\'

พลันที่ จุติ ไกรฤกษ์ ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับพรรค รทสช. ก็มีการขยับตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 และเขต 5 โดยจุติ ส่งคนของตัวเองลงสมัคร ส.ส.เขต ส่งผลให้มานัส อ่อนอ้าย คนสนิทหิมาลัย พาลูกชายไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย

ดังนั้น สนามพิษณุโลก เขต 5 กลายเป็นศึกคนกันเอง ระหว่างตัวแทนจุติ ไกรฤกษ์ พรรค รทสช. กับลูกชาย มานัส อ่อนอ้าย ในสีเสื้อพรรค ทสท.

สามก๊กปักษ์ใต้

สนามเลือกตั้งปักษ์ใต้ เป็นความหวังสูงสุดของพรรค รทสช. เพราะเป็นภูมิภาคเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนนิยมนำโด่ง แต่สภาพภายในพรรค ก็แบ่งออกเป็น 3 ก๊ก

ก๊กบ้านใหญ่ปักษ์ใต้ ตอนที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ ร่วมก่อการตั้งพรรคใหม่ๆ ได้ไปชักชวนกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นภาคใต้ มาเป็นแกนหลักของพรรค

สแกนพลพรรค \'ประยุทธ์\' รถไฟเที่ยวสุดท้าย \'พรรคขวาจัด\'

เริ่มจาก วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ,พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี และกลุ่มบ้านใหญ่ชุมพร ที่นำโดย ลูกหมี-ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร

วิสุทธิ์ ธรรมเพชร กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และดึง กูเซ็ง ยาวอหะซัน บ้านใหญ่นราธิวาส มาร่วมงานด้วย


ก๊กอดีต สส.พลังประชารัฐ นำโดย     ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแลทั้งที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา

ก๊กอดีต สส.ประชาธิปัตย์ ที่มี วิทยา แก้วภราดัย , ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และชุมพล กาญจนะ อดีต สส.สุราษฏร์ เป็นแกนนำ

สแกนพลพรรค \'ประยุทธ์\' รถไฟเที่ยวสุดท้าย \'พรรคขวาจัด\'
    
จะว่าไปแล้ว การแบ่งเป็นก๊กก๊วนในพรรค รทสช. ก็เป็นเรื่องปกติ ของพรรคเฉพาะกิจ เพราะนักเลือกตั้งเหล่านี้ ย้ายเข้ามาร่วมงานกับพรรคนี้ ก็มีเป้าหมายที่จะส่งลุงตู่ เป็นนายกฯต่อไปอีก 2 ปี 

หากการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ส.ส. จบลงที่ตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็อาจจะเห็นการแยกย้ายไปตามหาล่าฝันของกลุ่มก๊วนเหล่านี้อีกครั้ง