ปชป.ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ ชาวนารับ 30,000 บาท

ปชป.ลั่นเดินหน้าประกันรายได้ ชาวนารับ 30,000 บาท

ทีม ศก.ประชาธิปัตย์ โชว์ประกันรายได้ 4 ปี พลิกชีวิตเกษตรกรไทย 8 ล้านครัวเรือน เตรียมอัดฉีบงบ 4 แสนล้านบาท พร้อมเดินหน้าต่อเพิ่มประโยชน์ชาวนารับ 30,000 บาท

วันที่ 9 เมษายน 2566 ที่จังหวัดนครสวรรค์ ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์แถลงนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ภายใต้หัวข้อ “ประชาธิปัตย์ประกันรายได้ 4 ปี เกษตรกรไทยได้อะไร” ตอกย้ำผลงานในช่วง 4 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลและได้ช่วยสร้างเงินให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมาก โดย ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ  สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทยประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ และม.ร.ว. ศศิพฤนท์  จันทรทัต อดีตซีอีโอ บล. กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ผู้สมัคร ส.ส. นครสวรรค์ เขต 1 เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดนครสวรรค์

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขับเคลื่อนโครงการประกันรายได้จ่ายส่วนต่างพืชเกษตรทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์ม ยางพารา ข้าวโพด และมันสำปะหลัง พิสูจน์แล้วว่าได้ผล สามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีหลักประกันในชีวิตในยามที่พืชผลการเกษตร มีราคาตกต่ำ สามารถกระจายรายได้เข้าถึงประชาชนระดับฐานรากให้อยู่ดีกินดี ซึ่งปัจจุบันนโยบายนี้ถือเป็น DNA ของพรรคประชาธิปัตย์ และจะเดินหน้าทำต่อไปเพื่อเป็นส่วนในการสร้างฐานรากที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน  

สำหรับโครงการประกันราคาพืชผลเกษตรกร ทั้งข้าว ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง และข้าวโพด ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่เกษตรกรในทุกภาคส่วน ทั้งภาคใต้ อีสาน เหนือ ตะวันออก ตะวันตก และภาคกลาง ต่างได้รับประโยชน์ และลืมตาอ้าปากได้ ทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์กว่า 8 ล้านครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกกว่า 103 ล้านไร่ โดย 4 ปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรอย่างเต็มที่ ใช้งบประมาณเงินประกันส่วนต่างพืชทั้ง 5 ชนิด ในปีที่ 1-3 (2562-2565) เป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมปีที่ 4 คาดว่าจะเกิน 5 แสนล้านบาท (รวมค่าเก็บเกี่ยว) สามารถพลิกชีวิตให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เรามาที่จังหวัดนครสวรรค์เพราะที่นี่คือศูนย์กลางการเกษตรด้านข้าวของประเทศ  ตลอด 4 ปี เราให้ความสำคัญด้านเกษตรมากที่สุด โครงการประกันรายได้เกษตรกร ถือเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ซึ่งถือเป็นกลุ่มฐานรากที่มีความสำคัญของประเทศให้มีหลักประกันในชีวิตในยามที่พืชผลการเกษตรมีราคาตกต่ำ” ดร.พิสิฐ กล่าว

ทั้งนี้ ดร.พิสิฐ กล่าวว่าเรื่องเกษตร โดยเฉพาะเรื่องข้าว คือหัวใจของพรรคประชาธิปัตย์ และยืนยันว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ จะยังเดินหน้าสานต่อนโยบายประกันรายได้ต่อไป และมีนโยบายจะเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวจากไร่ละ 1,000 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งจะได้ครอบครัวละ 30,000 บาท โดยพรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะดูแลเกษตรกร และชาวนาให้ดีที่สุด  

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร กล่าวว่า เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์คืออยากเห็นเกษตรกรไทยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำรัฐบาล จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทย โดยจะจัดให้พื้นที่ปลูก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ มีการจัดโซน และผลผลิตทางการเกษตรที่แปรรูปในพื้นที่กลุ่มจังหวัดนี้จะได้สิทธิประโยชน์เต็มที่สร้างวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สร้างการเป็นหุ้นส่วนในการผลิต เช่น การให้เกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนเข้าไปถือหุ้นในโรงสี เป็นต้น 

“ผลงานในช่วง 4 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลและได้ช่วยสร้างเงินให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมากโดยโครงการประกันรายได้ภายใต้การขับเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยผนึกกำลังระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากการสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังดำเนินควบคู่ไปกับการค้าเชิงรุกซึ่งสามารถสร้างทั้งเงินให้เกษตรกร และเงินให้ประเทศอีกด้วย” นายเกียรติ กล่าว

ในขณะที่ ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ จันทรทัต กล่าวว่า วันนี้ปัญหาใหญ่ของคนไทยคือมีหนี้เยอะ ไม่เฉพาะเกษตรกร แต่รวมถึงทุกอาชีพ การแก้ไขหนี้ไม่ง่าย ไม่ใช่เพียงแค่ใส่เงินเข้าไปแล้วจะแก้ได้ตรงจุด แต่สิ่งที่จะต้องทำคือทำอย่างไรที่ใช้เงินเพื่อให้เงินทำงาน พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายที่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะกลไกทางการเงินมีอยู่แล้วเพียงแต่ต้องหยิบมาใช้ให้ถูกต้อง ถูกทาง ถูกเวลา โดยพรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันพื้นที่การเกษตรให้มีศักยภาพ มีเทคโนโลยีทางการเกษตร และต่อยอดจากนั้นคือการวางวิธีการ การพัฒนา ยกระดับสินค้าทางการเกษตรให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยการตลาดในอนาคตจะมีส่วนร่วมในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ปัญหาและสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์อยู่ดีกินดี มีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติต่อไป

“ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยก่อนหน้านี้ถูกขับเคลื่อนอยู่ที่ระดับบน โดยบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม การขับเคลื่อนที่ผ่านมาหวังว่าจะเกิดเม็ดเงินลงสู่จังหวัด หมู่บ้าน ชุมชน ฐานรากของเรา แต่เม็ดเงินดังกล่าวลงมาไม่เยอะ มีความเหลื่อมล้ำมากระหว่างรายได้ของเกษตรกับผู้มีรายสูง ทำให้ประเทศจะเติบโตไม่ได้เลย ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียแซงหน้าเราไปหมดแล้ว เพราะเขาสามารถกระจายรายได้สู่ภาคประชาชนได้ดีกว่า ซึ่งนโยยาบพรรคประชาธิปัตย์เราทำได้ เรามีนโยบายที่กระจายรายได้สู่ระดับฐานรากก็คือภาคการเกษตร ซึ่งทำมาแล้วและจะทำต่อไป” ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ กล่าว