ป.ป.ช.ลงดาบชี้มูล “อดีตผู้ว่าฯกาฬสินธุ์” รวยผิดปกติ 10 ล้าน

ป.ป.ช.ลงดาบชี้มูล “อดีตผู้ว่าฯกาฬสินธุ์” รวยผิดปกติ 10 ล้าน

ป.ป.ช.แถลงชี้มูลรวด 2 คดี ฟัน “ภุชงค์ โพธิกุฎสัย” อดีตผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ รวยผิดปกติ 10 ล้านบาทเศษ ด้าน “ปลัด อบต.ห้วยร่วม” จ.นครสวรรค์ โดนคดีเรียกรับเงินบรรจุ ขรก.ท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ดำเนินการไต่สวนนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ  ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน พบว่านายภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตนและคู่สมรส ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่ง ปรากฏว่ามีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ 

รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจากการเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ มีเงินฝากในบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบัญชีในชื่อของภรรยาของนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย 

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่านายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท จึงมีมติให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน

  • ฟันอดีตปลัด อบต.ห้วยร่วม เรียกรับเงินบรรจุ ขรก.ท้องถิ่น

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางสาววราภัสร์ ลอยขจร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะช่วยเหลือในการบรรจุเข้ารับราชการ 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นกรณีกล่าวหานางสาววราภัสร์  ลอยขจร  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ กับพวก เรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอ   คีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นการตอบแทนที่จะช่วยเหลือในการบรรจุเข้ารับราชการ 

คณะไต่สวนเบื้องต้นได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ได้ความว่าเมื่อปี พ.ศ. 2558 องค์การบริหารส่วนตำบลโตนด อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ได้ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล โดยก่อนที่จะมีการประกาศรับสมัครสอบแข่งขันดังกล่าว นางสาววราภัสร์ ลอยขจร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม ได้โทรศัพท์แจ้งให้นายจักรินทร์ นิลแพทย์  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำร้อน ทราบว่าสามารถช่วยเหลือผู้เข้าสอบให้ได้รับการบรรจุแต่งตั้งได้ โดยต้องเสียค่าตอบแทน 

จากนั้นนายจักรินทร์ นิลแพทย์ ได้เรียกผู้กล่าวหา พร้อมกับพนักงานจ้างรายอื่น ๆ เข้ามาในห้องทำงานของนายจักรินทร์ นิลแพทย์ เพื่อแจ้งรายละเอียดเรื่องดังกล่าวให้ทราบว่าในการช่วยเหลือดังกล่าวนั้นมีค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 400,000 บาท สำหรับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลระดับ 2 โดยขึ้นบัญชีไว้ 1 ปี และ 600,000 บาท สำหรับการบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลระดับ 2 โดยไม่ต้องขึ้นบัญชี และ 700,000 บาท สำหรับพนักงานส่วนตำบลระดับ 3 โดยขึ้นบัญชีไว้ 1 ปี และ 800,000 บาท สำหรับพนักงานส่วนตำบลระดับ 3 โดยไม่ต้องขึ้นบัญชี 

ต่อมาเมื่อผู้กล่าวหาได้ตกลงใจที่จะจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท ตามข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และ   ได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทย และในวันเดียวกันนั้นนางสาวเอติพากร ธรรมยม ผู้ช่วยเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยร่วม ได้นำใบถอนเงินไปถอนเงิน จำนวน 400,000 บาท จากบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาให้แก่นางสาววราภัสร์ ลอยขจร

ต่อมาผู้กล่าวหาได้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ในตำแหน่งเจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ระดับ 2 และเมื่อการรับสมัครสอบได้เสร็จสิ้นแล้ว ปรากฏว่าต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลโตนดประกาศยกเลิกการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2558 ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อผู้กล่าวหาได้ทราบการยกเลิกการสอบดังกล่าว ผู้กล่าวหา ได้ติดต่อนางสาววราภัสร์ ลอยขจร เพื่อพูดคุยเรื่องขอเงินคืน จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 นางสาววราภัสร์ ลอยขจร ได้เดินทางนำเงินมาคืนผู้กล่าวหาด้วยตนเอง ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาวิเชียรบุรี

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของนางสาววราภัสร์ ลอยขจร และนายจักรินทร์ นิลแพทย์ มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 175) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง  นางสาวเอติพากร  ธรรมยม  มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 175)