อย่าให้คนไทยสิ้นหวัง กับผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ

อย่าให้คนไทยสิ้นหวัง กับผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ

สิ่งที่ประเทศไทยเจอมาตลอด คือ ฝ่ายการเมืองไม่มีพลังเพียงพอที่จะยกระดับประเทศได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน ไม่ว่ารัฐบาลใดไม่สามารถสร้างผลสำเร็จได้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 3-7 เม.ย.2566 และจัดให้มีการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 4-7 เม.ย.2566 สำหรับในกรุงเทพมหานครจัดเตรียมสถานที่ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ส่วนในต่างจังหวัดในการรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้จัดเตรียมสถานที่ที่ศาลากลางจังหวัด จะเป็นการสตาร์ตฤดูกาลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

การรับสมัคร ส.ส.แต่ละครั้งจะมีการดึงดูดความสนใจของพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนจดจำ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มี ส.ส.จำนวนมากจะเห็นบรรยากาศการรับสมัครที่คึกคักขึ้น ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองที่มี ส.ส.มากที่สุด 33 คน รองลงมาเป็นจ.นครราชสีมา 16 คน จ.ขอนแก่น 11 คน จ.อุบลราชธานี 11 คน จ.อุดรธานี 10 คน จ.บุรีรัมย์ 10 คน จ.นครศรีธรรมราช 10 คน จ.เชียงใหม่ 10 คน จ.ชลบุรี 10 คน 

ขณะนี้คนไทยได้รับทราบรายชื่อผู้ที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยมีทั้งรายชื่อเก่าที่เคยร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และรายชื่อใหม่ที่เคยเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยถ้าย้อนกลับไปดูการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการเลือกตั้งในปี 2554 และปี 2562 เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2566 ส่วนใหญ่มีความเห็นไปแตกต่างกัน ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาปากท้อง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว ยกระดับการพัฒนาประเทศ รวมถึงการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 

สิ่งที่ประเทศไทยเจอมาตลอด คือ ฝ่ายการเมืองไม่มีพลังเพียงพอที่จะยกระดับประเทศได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน ไม่ว่ารัฐบาลใดไม่สามารถสร้างผลสำเร็จได้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การที่ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงมา 12 ปี แล้ว หลังจากที่ธนาคารโลกประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูงเมื่อปี 2554 ถือเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 3,976-12,275 ดอลลาร์ หรือประมาณ 118,662-366,337 บาท

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประกาศให้ประเทศไทยเลื่อนชั้นไปอยู่กลุ่มประเทศรายได้สูงภายในปี 2580 เท่ากับคนไทยจะมีรายได้เฉลี่ย 12,536 ดอลลาร์ โดยไม่ว่าจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือประกาศยุทธศาสตร์ประเทศฉบับใหม่ขึ้นมา ดูเหมือนว่ายังไม่เห็นช่องทางที่ประเทศไทยจะขึ้นไปอยู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ได้แต่หวังว่าผู้ที่เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จะมองเห็นความสำคัญของการยกระดับประเทศมากกว่ากลุ่มผลประโยชน์ในเครือข่ายการเมืองและนักธุรกิจที่กำหนดนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนตน