"นักกฎหมาย" สวน “ปิยบุตร” ปมเสนอยกเลิก นายกฯคนนอก

"นักกฎหมาย" สวน “ปิยบุตร” ปมเสนอยกเลิก นายกฯคนนอก

"นักกฎหมาย" สวน “ปิยบุตร” ปมเสนอยกเลิกนายกฯคนนอก ชี้เพิ่งคิดได้ จัดตั้งรัฐบาลปี 62 เสนอ “ธนาธร” แคนดิเดตนายกฯ เป็นคู่แข่ง ที่ผ่านมาจะยกเลิก ม. 112 แต่ล้มไม่เป็นท่า ยังไม่เข็ด

29 มีนาคม 2566 จากกรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ ว่าด้วยนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.โดยมีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1.รื้อฟื้นเจตนารมณ์ของ พฤษภาคม 2535 ป้องกันมิให้นายกฯคนนอกฟื้นคืนชีพ  2.ระบบรัฐสภา ยึดหลักแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ/บริหาร หากปล่อยให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส.หรือหากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วลาออกจาก ส.ส.ส่งผลให้ค่านิยมหรือธรรมเนียมผิดตามมาว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาสภา ไม่ต้องมาตอบกระทู้ หรือหลบหนีการอภิปราย และ 3. การฉวยโอกาสทางการเมืองหากสภาชุดถัดไปนี้มีพรรคการเมืองหนึ่ง เสนอชื่อคนที่ไม่ได้ลง ส.ส.ให้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้ครบสามคน ต่อมาหากพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจและวุฒิสภาร่วมมือกันดัดหลังด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.เท่านั้นจะทำอย่างไร 

ล่าสุด นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม  นักกฎหมายมหาชน ได้ให้ความเห็นและอธิบายให้ความรู้ด้านกฎหมายมหาชนแก่ประชาชนว่า ตนเพิ่งเข้าไปอ่านข่าว นายปิยบุตร ไล่เรียงข้อเท็จจริงเหตุการณ์ทางการเมืองละเอียดยิบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่สะดุดประเด็นข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.ด้วยเหตุผล 3 ประการ 

ทั้งนี้นายปิยบุตร เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนเรียนจบปริญญาเอกทางกฎหมาย ดอกเตอร์ด้านกฎหมายมหาชน เขียนดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รั้วแม่โดมเช่นกัน ย่อมรู้ทางนายปิยบุตร เกลือต้องจิ้มด้วยเกลือ หากพูดถึง
ข้อกฎหมายในอดีตที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามความในมาตรา 201 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 และในมาตรา 118(7) ที่ว่า เมื่อ ส.ส.ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน โดยนำหลักผสมผสานระหว่างระบบการปกครองอังกฤษและระบบการปกครองฝรั่งเศสเข้าไว้ด้วยกัน คือ ในระบบรัฐสภาอังกฤษ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.และในระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. แยกเด็ดขาดระหว่างอำนาจฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยนำมาเขียนประยุกต์ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ของประเทศไทย

ผลการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นายปิยบุตรฯ ร่ายรัฐธรรมนูญ กลับไม่ครบทุกมิติ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป ผลผลิตรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เรียกว่า “ฉบับประชาชน” ในปี 2544 พรรคไทยรักไทยชนะเสียงข้างมาก โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 นายทักษิณ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ อ้างสิทธิอันชอบธรรมว่า มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้มแข็ง ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลย่อมอ่อนแอ ทำให้ฝ่ายบริหารแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ระบบการตรวจสอบกลไกรัฐสภาล้มเหลว แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะเกิดองค์กรอิสระ

อาทิ ปปช.กกต.เป็นต้น ที่มาของนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.แม้จะยึดโยงจากประชาชน หากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้พ้นจากความเป็น ส.ส. โดยปริยาย ผลพวงรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารมีการใช้อนาจตามอำเภอใจ จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคมช.สมัยนั้น หากนายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ความขัดแย้งทางการเมือง แบ่งแยกสีเสื้อต่างๆ สืบเนื่องถึงปัจจุบัน แล้วนายปิยบุตรฯมีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลรื้อฟื้นเจตนารมณ์ของ พฤษภาคม 2535 ป้องกันมิให้นายกคนนอกฟื้นคืนชีพ เพื่ออะไร การออกแบบรัฐธรรมนูญตะต้องดูบริบทสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้น จะนำของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในขณะบ้านเมืองยังไม่พร้อม กลไกตรวจสอบไม่เข็มแข็ง ย่อมเกิดปัญหาในทางปฎิบัติ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้นำข้อเท็จจริงที่เกิดปัญหาในอดีตนำมาอุดช่องว่าง ดังนั้นการเขียนลอกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ไม่เป็น ส.ส.เจตนารมณ์หลักเพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมืองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทั้งผ่านการจัดทำประชามติ หากให้ประชาชนร่างทั้งฉบับ จะต้องไปสอยถามประชาชนผ่านการจัดทำประชามติว่า จะเอาด้วยหรือไม่ หากแก้ไขบางประเด็น มาตรา 256 ในวาระที่สาม จะวางกับดักแก้ไขไว้ว่าต้องมีองค์ประกอบใช้เสียงสมาชิกวุฒิสภาหนึ่งในสาม 

ส่วนในประเด็นระบบรัฐสภา ยึดหลักแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติ/บริหาร หากปล่อยให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. หรือหากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วลาออกจาก ส.ส.ส่งผลให้ค่านิยมหรือธรรมเนียมผิดตามมาว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาสภา ไม่ต้องมาตอบกระทู้ หรือหลบหนีการอภิปราย ตนมองว่า ประเด็นนี้ นายปิยบุตรฯ พูดความจริงแค่ครึ่งเดียว กลไกระบบรัฐสภา ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหาร ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง 

เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยลงมติ หรือ อภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ลงมติ เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ กรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ลงมติ หากพบว่า รัฐมนตรีทั้งคณะหรือรัฐมนตรีรายใด มีหลักฐานชัดแจ้งกระทำโดยทุจริต สามารถส่งเรื่องให้ ปปช.ตรวจสอบพร้อมพยานหลักฐาน ทั้งหากได้ความว่า ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาตรา 235 เปิดช่องให้ ปปช. ดำเนินการได้ เป็นผลให้ตัดสิทธิการเมืองตลอดชีพและไม่สามารถดำรงตำแหน่งการเมืองใดๆ ไม่เกี่ยวกับค่านิยมหรือค่าธรรมเนียม.เพราะหากออกแบบให้ นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ทำให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส.แล้ว เกี่ยวกับค่านิยมที่ผิดๆหรือไม่ มันย้อนแย้งกัน

ส่วนการหลบหนีการอภิปรายของนายกรัฐมนตรี หากในปี 2566 หากฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกลได้ ถามว่า นายปิยบุตรฯ จะออกมาพูดแบบลักษณะแบบนี้หรือไม่ อย่างไร เชื่อว่าเป็นแค่จ่าเฉย เป็นใบ้ เพราะฝ่ายตนเองได้ประโยชน์ นายปิยบุตรฯ มีแต่ภาคทฤษฎี ขาดประสบการณ์ภาคปฎิบัติทางกฎหมาย โดยเฉพาะที่ฝ่ายตนเองเสียประโยชน์ กลับเงียบเป็นเป่าสาก ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หงายเงิบไปหนึ่งครั้งแล้ว ประชาชนคนไทยเขาไม่เอา กระแสตีกลับ เพราะสังคมไทยยังควบคู่กับสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่คนไทยเทิดทูนและจงรักภักดี จะเห็นได้จาก ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า ทำการเมืองท้องถิ่น แยกต่างหากจากพรรคก้าวไกล แต่จะเชื่อมโยงกันหรือไม่ ให้ประชาชนดูเอาเอง ผลคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าที่ผ่านมา ล้มไม่เป็นท่า กลายเป็น“คณะก้าวพลาด”  

อีกเหตุผลประการที่สามที่ว่า การฉวยโอกาสทางการเมือง หากสภาชุดถัดไปนี้ มีพรรคการเมืองหนึ่ง เสนอชื่อคนที่ไม่ได้ลง ส.ส.ให้เป็นนายกรัฐมนตรีไว้ครบสามคน ต่อมาหากพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจและวุฒิสภาร่วมมือกันดัดหลังด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไปกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เท่านั้นจะทำอย่างไร

นายณัฐวุฒิ  กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 88 บัญญัติให้ เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบัญชีของพรรคการเมืองต่อ กกต.พรรคการเมืองใดจะเสนอชื่อหรือไม่ก็ได้ ตามมาตรา 88 วรรคสอง ภาษาชาวบ้าน จะส่งหรือไม่ส่งก็ได้ จะเห็นได้จากล่าสุดก่อนสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และนายชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะต้อง ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับที่เท่าไหร่ อย่างไร

แต่เมื่อเลือกตั้งแล้ว ใช้เกณฑ์แต่ละพรรคการเมือง ห้าเปอร์เซ็นต์จาก ส.ส.500 คน หรือ 25 ที่นั่ง เป็นเกณฑ์ในการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 การเสนอชื่อต้องมีสมาชิกรัฐรับรองหนึ่งในสิบของสมาชิกเท่าที่มีอยู่มาตรา 159 วรรคสอง โดยเปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภาเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ จะยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน อาทิ การเสนอชื่อนายกรัฐรัฐมนตรีในปี 2562 พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากบัญชีรายชื่อที่พรรคอนาคตใหม่เสนอต่อ กกต.เป็นนายกรัฐมนตรี แข่งกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ส่วนตามที่มีการเสนอข่าวและเปิดเผยจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ นายวิรัช รัตนเศรษฐ์  พรรคเพื่อไทย เสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี อาจเป็นไปได้ หากจับขั้วกัน รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม เพียงแต่นายวิรัชฯ ปากไวไปหน่อย เพื่อโชว์เหนือว่า ลุงป้อม หัวหน้าพรรคจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เพื่อปลุกใจลูกพรรค ทั้งๆที่ยังไม่มีมติพรรคเพื่อไทย มติพรรคพลังประชาชรัฐ ในการจับขั้วการเมือง พูดง่ายๆ ต้องดูว่า แต่ละพรรคได้กี่เสียง ในทางการเมือง ออกมาปฏิเสธ ยิ่งเป็นความจริง ให้ติดตามหลังเลือกตั้ง ประชาชนอ่านเกมการเมืองขาด เขาไม่ได้กินหญ้า ดังนั้น แนวคิดเหตุผลแก้รัฐธรรมนูญข้อที่สามของนายปิยบุตรฯ เป็นการคาดคะเน เพราะสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ห้าปีแรกที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดในวันที่ 11พฤษภาคม 2567 (อ้างอิงราชกิจจานุเบกษาพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 11 พฤษภาคม 2562) ไม่มีเหตุผลอะไรไปแก้ที่มาของนายกรัฐมนตรี เพราะสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ลดลงเหลือ 200 คน ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี