ชทพ. ชูนโยบาย 'เศรษฐกิจสีเขียว' ประเดิมวิสัยทัศน์ 'WOW Thailand'

ชทพ. ชูนโยบาย 'เศรษฐกิจสีเขียว' ประเดิมวิสัยทัศน์ 'WOW Thailand'

ชทพ. ชูนโยบาย "เศรษฐกิจสีเขียว" ประเดิมวิสัยทัศน์ "WOW Thailand" เตรียมผลักดันไทยสร้างมาตรฐานคาร์บอนเครดิตเทียบเท่าสากล

"วันนี้ไม่มีประเทศใด ไม่มีรัฐบาลใด ไม่มีผู้นำประเทศใดที่จะไม่พูดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม" นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เอ่ยประโยคแรกบนเวทีแถลงนโยบาย เรื่อง "จากสิ่งแวดล้อมไทย สู่สิ่งแวดล้อมโลก : ความมั่งคั่ง โอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน" (From Thai Environments to Global Environments : Wealth, Opportunity and Welfare For All.) พร้อมเปิดประเด็นถึงที่มาในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีก 1 ไฮไลต์สำคัญจาก 10 นโยบายว้าวไทยแลนด์ (WOW Thailand) ของพรรค เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกล่าวถึงคำว่า "Thai Environments to Global Environments" ว่าไม่ได้หมายถึงสิ่งแวดล้อมในเมืองหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่หมายถึงสิ่งแวดล้อมในทุกระดับตั้งแต่รากหญ้า ภาคธุรกิจ ไปถึงระดับนานาชาติ เนื่องจากเรื่องสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน แม้แต่พี่น้องเกษตรกรไทยทั้งสิบล้านคน จึงเป็นที่มาในการเปิดนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Carbon Credit Center; CCC) ด้วยการเร่งขยายการตรวจวัด Carbon Net ที่ได้มาตรฐานรวดเร็ว แม่นยําให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ตลอดจนการประสานซื้อ-ขายและการตลาด และสร้าง Excellence Center รวมถึงการดันไทยเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยี

"ที่ผ่านมาตัวผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันภายใต้องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานในการจะเร่งมาตรฐานนี้ขึ้นมา เรามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการที่จะพัฒนาต่อยอดยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นกฎเกณฑ์ที่ทำไปแล้วต้องมีความชัดเจนและทำให้รวดเร็วยิ่งกว่านี้" วราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันนโยบายดังกล่าวนี้ ถือเป็น Global Vision ของพรรค มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน The Sustainable Development Goals (SDG) ของสหประชาชาติ อีกทั้งมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งนํ้าดื่มที่สะอาด อากาศที่ปลอดภัย พื้นดินอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรมีรายได้ และยังได้ค่าตอบแทนในการเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตอีกทางหนึ่ง

"ประเทศไทยมีพื้นที่ 323 ล้านไร่ ที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ เรามีพื้นที่ป่าธรรมชาติ 31% และมีพื้นที่อื่นๆ อีกที่สามารถเพิ่มเป็นพื้นที่ป่า และเพิ่มปริมาณ คาร์บอนเครดิต ในประเทศไทยได้ ซึ่งประเทศไทยสามารถเป็นซัพพลายให้กับพื้นที่อื่นๆ บนโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชียกลาง หรือแม้แต่ประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน" วราวุธ กล่าว

ที่สําคัญนโยบายดังกล่าวยังเป็นการสร้าง Compettive Advantage ให้ประเทศไทยและยังเป็นการขับเคลื่อนที่จะทําให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลก ตลอดทั้งเป็นจุดเชื่อมโยงด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม จากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสร้างมลภาวะต่อโลกกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีไทยเป็นผู้นําให้เป็นพื้นที่ลดการผลิตคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลก และเป็นศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อกระจายความรู้สู่พื้นที่กําลังพัฒนาส่วนต่างๆ ของโลก

"ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากมาย เราต้องดึงศักยภาพเหล่านี้ออกมาและทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 66 ล้านคน ไม่ใช่คนไทยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกๆ คนจะต้องได้ประโยชน์จากการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ ตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการลงไปถึงพี่น้องเกษตรกรทุกตำบล และทุกหมู่บ้าน" วราวุธ เอ่ย

สู่เป้าหมาย Excellence Center ด้าน Carbon Credit ในเอเชียแปซิฟิก

ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบาย และยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เอ่ยถึงการนำเสนอนโยบายการสร้าง Excellence Center ด้าน Carbon Credit ในภูมิภาค Asia Pacific เพื่อยกระดับพัฒนาการวัดประเมินและยกระดับมาตรฐาน Carbon Net ผ่านการถ่ายทอดและร่วมมือทางวิชาการและการปฏิบัติภาคสนามกับประเทศในภูมิภาค ตลอดจนการทํา R&D ด้านการใช้ประโยชน์จาก Carbon Credit เพื่อการแก้ไขความไม่เท่าเทียม (Equity) และความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายไปจนถึงแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ Carbon Credit เพื่อการกีดกันทางการค้าและสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประเทศกําลังพัฒนา พร้อมกันนี้ยังอธิบายถึงสถานการณ์การปล่อย ก๊าซเรือนกระจก ในประเทศไทย โดยจากตัวเลขล่าสุดในปี 2019 มีปริมาณคือ 372 ตัน ซึ่งเป็น Land Use, Land Use Change and Forestry (LULUCF) ตรึงสุทธิ 92 ล้านตัน โดยเป็นปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศไทยเท่ากับ 281 ล้านตันโดยประมาณ ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 56.8 ล้านตัน (15%) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรกลุ่มสำคัญคือ ผู้ปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจก 28.7 ล้านตัน (50%) ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร

"นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่ทำอะไร เรามีแต่จะเสียสตางค์ และคนที่เสียสุดท้ายคือเกษตรกรที่ผลผลิตการเกษตรจะต้องถูกหักด้วยคาร์บอนเครดิตที่เป็นต้นทุน" ศ.ดร.กนก กล่าวย้ำว่า ถ้าเราทำไม่ทัน ประเทศไทยจะเสียประโยชน์ แต่ถ้าทำได้ดีสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย พี่น้องประชาชนคนไทย แต่การจะทำได้ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ศ.ดร.กนก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการวัดในเพียงระดับเทียร์ 1 (Tier 1) ซึ่งเป็นการวัดภาคสนามแล้วไปเทียบกับค่าคงที่ของ IPCC 2006 ซึ่งยังขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากนานาประเทศมองว่ายังเป็นการวัดที่ไม่เป็นมาตรฐาน ทำให้ราคาขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยที่ผ่านมามีราคาถูก หรือทำให้เกษตรกรไทยต้องเสียเปรียบ ขณะนี้แม้รัฐบาลไทยกำลังต้องการขยับไปสู่ขั้นที่ 2 (Tier 2) โดยสามารถนําข้อมูลเฉพาะในระดับประเทศมาใช้ในการประเมินค่าเฉลี่ย E mission factor อย่างไรก็ดี การวัดรูปแบบนี้ยังเป็นการวัดครั้งคราว และความแม่นยำไม่เต็มที่ ซึ่งต่างกับระดับที่ 3 (Tier 3) ที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นการประเมินที่มีความเที่ยงตรงสูง ได้รับความเชื่อถือ

"โดยมาตรฐานระดับ Tier 3 เป็นการประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวิธี Eddy Covariance Technique ด้วยการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลดาวเทียม ประมวลผลร่วมกับการตรวจวัดภาคพื้นดิน ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดแบบถาวรบนหอคอย หรือเรียกว่า Flux-Tower ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนนำมาผ่านการคํานวณด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์และ AI เพื่อให้ได้ Net GHG emission/removal ซึ่งการวัดค่ามาตรฐานดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสามารถคาดการณ์ปริมาณการตรึงสุทธิ GHG emission/removal หาค่า Carbon Net ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยํา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ สามารถกําหนดตําแหน่งของแปลง ตรวจวัดอายุรายแปลง ให้ได้มาตรฐานในระดับ Tier 3 ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล ซึ่งวิธีการนี้จำเป็นต้องติดตั้ง Flux-Tower ประมาณ 800-1,000 ต้น ทั่วประเทศ" ศ.ดร.กนก กล่าว

คาร์บอนเครดิตจะเป็นสินค้าตัวใหม่ของประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงแนวทางการนำประโยชน์จาก Flux-Tower ดังกล่าว ยังมีข้อมูลรายละเอียดพื้นที่และความเป็นเจ้าของคาร์บอนเครดิตของแต่ละบุคคล ทำให้สามารถนำข้อมูลเบื้องต้นมาคํานวณ (net) carbon credit ตามมาตรฐานสากล และด้วยกระบวนการ tokenization สามารถนำ (net) carbon credit สร้างเป็น Carbon credit token (CCT) คือสินทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ (tradeable asset) และมีมูลค่าที่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับได้ในสากล ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้ Blockchain technology ในการเก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

"มาตรฐานของ CCT แต่ละแบบถูกกําหนดให้เหมาะสมตามแต่ประเภทของ source of carbon credit มีมาตรฐานสากลกํากับ เพื่อทําให้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดสากล" ผศ.ดร.สันติ กล่าว

ศ.ดร.กนก กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการได้ประโยชน์ของการขายสินค้าตัวใหม่ ยังได้ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่า เนื่องจากอุปกรณ์ Flux-Tower ยังสามารถมอนิเตอร์และสร้างแบบจําลองจุดที่เกิดไฟป่าซํ้าซาก ทำให้ประเทศไทยสามารถกําหนดมาตรการป้องกันการเกิดไฟป่า พร้อมกับการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ Carbon Credit จากไฟป่าโดยให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งจะได้รับประโยชน์จาก Carbon Credit จากป่า ท้ายที่สุดยังส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่น PM 2.5

คาร์บอนเครดิตทางรอดสู่ความมั่งคั่ง โอกาสและคุณภาพชีวิต

นายวราวุธ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า นโยบายการผลักดันประเทศไทยให้เป็น Regional Carbon Credit Center ของเอเชียแปซิฟิกนั้น สอดคล้องกับแนวคิด "ว้าว ไทยแลนด์" (WOW Thailand) ซึ่งประกอบด้วย W = Wealth ความมั่งคั่ง O = Opportunity โอกาส และ W = Welfare For All คุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ภายใต้นโยบายดังกล่าว จะสามารถสร้างความมั่งคั่ง สร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน 4 กลุ่ม ที่ชาติไทยพัฒนาให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรกคือ พี่น้องประชาชนทั่วไป กลุ่มที่สองภาคการเกษตร กลุ่มที่สามภาคธุรกิจ และกลุ่มสี่ภาครัฐและประเทศอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

ประเทศไทยจะต้องลงทุนกับเรื่องนี้ประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนามาตรฐานการวัด ประเมิน และกําหนดเกณฑ์มาตรฐาน Carbon Net ในระดับ Tier 3 แต่จะช่วยสร้างมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ที่จะเป็นรายได้ของประเทศไทย คนไทยและเกษตรกรไทย ตัวอย่างเช่นที่นาหนึ่งแปลงปีหนึ่งจะได้รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตประมาณ 500 บาท ประเทศไทยมีที่นาประมาณ 60 ล้านไร่ หรือประมาณสามหมื่นล้านที่จะอยู่ในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนเกษตรกรไทย

"ที่สำคัญเชื่อว่า นโยบายที่ดีไม่ใช่นโยบายที่แก้ปัญหาในวันนี้แล้วไปสร้างปัญหาในวันหน้า นโยบายที่ดีจะต้องแก้ปัญหาวันนี้และต้องแก้ปัญหาในอนาคตด้วยเช่นกัน" นายวราวุธ กล่าว