นักกฎหมายมหาชน สอนมวย “ชัชชาติ” ยันที่ดิน “ชูวิทย์” ตกเป็นที่ดินสาธารณะแล้ว

นักกฎหมายมหาชน สอนมวย “ชัชชาติ” ยันที่ดิน “ชูวิทย์” ตกเป็นที่ดินสาธารณะแล้ว

นักกฎหมายมหาชน สอนมวย “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ปม การยกให้ที่ดินสาธารณะของ “ชูวิทย์” ตกเป็นที่ดินสาธารณะแล้ว แม้ไม่จดทะเบียนการยกให้และเสียภาษีทุกปี

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 จากกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยข้อมูลตรวจสอบที่ดิน ของ นาย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ บริเวณสุขุมวิท ซอย 10 ว่า ยังเป็นของเอกชน ไม่ได้เป็นที่ดินสาธารณะ และมีการจ่ายภาษีที่ดินต่อเนื่องตามกฎหมายประมาณ 3,000,000 บาท พร้อมเชื่อว่าการยกที่ดินให้เป็นที่ดินสาธารณะ เกิดในกระบวนการศาลชั้นฎีกา หลัง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบ 

ล่าสุด นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน โดยอธิบายให้ความรู้และมุมมองกฎหมายให้แก่ประชาชนว่า การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อาจกระทำโดยแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยาย ที่ดินนั้นย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่แสดงเจตนาอุทิศ ตาม ป.พ.พ.1304 ไม่จำต้องจดทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องแสดงเจตนารับ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๔/๒๕๕๕, ๔๓๗๗/๒๕๔๙ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๐๘๙/๒๕๕๖ เมื่อที่ดินตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ผู้ยกให้จะทำหนังสือยกเลิกการยกให้

จึงไม่ทำให้ที่ดินนั้นกลับคืนมาเป็นของผู้ยกให้อีก การที่นายชูวิทย์มีเจตนาอุทิศที่ดินให้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินในคดีรื้อบาร์เบียร์ โดยนายชูวิทย์ สร้างสวนชูวิทย์เพื่อประชาชนในการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจเพื่อให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบา วิธีการอุทิศที่ดินเพื่อให้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (2) จะด้วยวาจาหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อศาล ถือเป็นการอุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสมบูรณ์แล้ว ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

เมื่อการอุทิศที่ดินให้เป็นประโยชน์สาธารณะ แม้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามความประสงค์ของผู้อุทิศ หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ ที่ดินนั้นยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๐๔/๒๕๔๔, ๕๑๑๒/๒๕๓๘, ๓๐๐๘/๒๕๓๕ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐาน

ส่วนกรณี นายชัชชาติ  ให้สัมภาษณ์พิจารณาเพียงว่า กทม.ไม่ได้มีส่วนร่วมเข้าไปปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ยังเป็นที่ดินเอกชนอยู่ และมีการจ่ายภาษีที่ดินอย่างต่อเนื่องตามกฎหมายที่ผ่านมา สรุป ภาษาชาวบ้าน คือ ที่ดินยังเป็นของนายชูวิทย์ฯ ถามว่า ก่อนที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายชัชชาติ ได้ปรึกษานิติกร กทม.หรือฝ่ายกฎหมายหรือไม่ เพราะการทำหน้าที่ผู้ว่า กทม.จะต้องยึดหลักกฎหมาย เน้นความถูกต้อง ไม่เน้นถูกใจ ทั้งนี้ตนไม่ได้รู้จักกับนายชูวิทย์  หรือนายศรีสุวรรณ แต่จะให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง แม้จะเป็นเรื่องที่ดินส่วนตัวของ นายชูวิทย์ แต่ได้อุทิศที่ดินให้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติแล้ว เพื่อลดโทษคดีอาญา
ในชั้นฎีกาสถานเบา ถือเป็นเรื่องสาธารณะ ตนสามารถติชมด้วยความสุจริตได้ อยากให้นายชัชชาติ ไปอ่านแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยได้ชัดแจ้ง เพื่อสำเหนียกในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ แม้นายชูวิทย์ จะมีทนายความข้างกาย ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง หลักนิติรัฐ นายชูวิทย์ สร้าง “สวนชูวิทย์” อุทิศที่ดินให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นการกระทำโดยปริยาย โดยยินยอมให้ประชาชนทั่วไปที่มิได้มีนิติสัมพันธ์ทางส่วนตัวกับนายชูวิทย์ ไม่ว่าทางใด ได้อย่างอิสระเสรี แม้ไม่ได้จดทะเบียนยกให้เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1403 (2)

เมื่อถามว่า เงื่อนไขการอุทิศให้ที่ไม่ตกเป็นของแผ่นดิน มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง 
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เคยมีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไว้ การยกที่ดินให้กับทางราชการโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเริ่มดำเนินการปลูกสิ่งปลูกสร้างอาคารภายในเวลาที่กำหนด หากหน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ดินไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามแนว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๓๔/๒๕๖๓ แต่กรณีของนายชูวิทย์ฯ ต้องไปตรวจสอบคำอุทิศว่า การยกให้มีเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร แต่หากอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว ที่ดินนั้นย่อมตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีที่แสดงเจตนาอุทิศ แม้นายชูวิทย์ฯเพิ่งคิดได้ภายหลังพ้นโทษแล้ว แม้กรุงเทพมหานครมิได้เข้ามาถือประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยนายชูวิทย์ฯ สร้างสวนสาธารณะเอง และเข้าครอบครองใช้ประโยชน์นานเพียงใด รวมทั้งเสียภาษีที่ดินให้แก่รัฐ ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของนายชูวิทย์ได้อีก แม้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนก็ตาม เพราะมาตรา 1306 ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เทียบเคียงกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๐๔/๒๕๔๔ ให้ประชาชนเทียบเคียง เหมือนการอุทิศยกที่ดินให้เป็นถนนสาธารณะ หรืออุทิศที่ดินให้แก่สาธารณะประโบชน์ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน หรืออุทิศให้แก่วัด โรงเรียน สาธารณะสถานต่างๆ พี่น้องประชาชนจะได้เห็นภาพชัดแจ้งยิ่งขึ้น 

วิธีการร้องขอให้กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบของนายศรีสุวรรณ จรรยา ไม่เป็นประโยชน์และไม่สามารถยับยั้งการก่อสร้างได้ เพราะการที่นายชูวิทย์ฯ อุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในชั้นศาลฎีกาในคดีอาญา ศาลไม่อาจบังคับให้นายชูวิทย์ฯ ผู้อุทิศไปจดทะเบียนโอนได้ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๒๗/๒๕๓๗ และ๑๒๗๒/๒๕๓๙ หากนายศรีสุวรรณฯ จะทำเพื่อสังคมจริงๆ เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นมองว่า เป็นนักร้องบ้าง หิวแสงบ้าง ไปจับผิดนายชัชชาติฯ ผู้ว่า กทม.บ้าง แนะนำว่าควรไปยื่นฟ้องคดีแพ่งขอให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไต่สวนฉุกเฉินขอคุ้มครองชั่วคราวห้ามดำเนินการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ดินพิพาทและขอให้ศาลเรียกให้ กทม.เข้ามาในฐานะบุคคลที่สามหรือโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในฐานะผู้ร้องสอดตาม ป.วิแพ่ง มาตรา 57 ตนไม่แน่ใจว่า นายศรีสุวรรณฯ ร้องให้ตรวจสอบในนามองค์กรสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สมาคมมีอำนาจ ขอบเขตเพียงใด และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ อย่างไร เพราะที่ดินของนายชูวิทย์ฯ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เป็นเรื่องทางแพ่ง ไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือการใช้อำนาจทางปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย