นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง ความหวังเปลี่ยนประเทศ

นับถอยหลังสู่เลือกตั้ง  ความหวังเปลี่ยนประเทศ

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1-2 ของโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นอีกโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องมากำหนดแนวทางการรับมือควบคู่ไปกับปัญหาอื่นที่เชื่อมโยงกัน เช่น การส่งออก อัตราแลกเปลี่ยน

หลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปตามวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศ

หลายพรรคการเมืองได้ทยอยประกาศผู้ที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งไม่เกิน 3 เดือน นับจากปัจจุบันจะมีความชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะเป็นใคร จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนเก่าหรือได้บุคคลใหม่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเข้าสู่ตำแหน่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 นับถึงปัจจุบันทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมา 8 ปี เศษ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ในตำแหน่งลำดับ 3 ถัดจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลถนอม กิตติขจร

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศที่จะเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายหลายด้านสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะกลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ประเทศไทยได้ผ่านมรสุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่หนักหน่วงในช่วงปี 2562-2565 ทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถึง 2 ฉบับ รวมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะนี้กำลังสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตให้ได้เต็มศักยภาพให้ได้

เศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่รู้ได้ว่าจะจบลงเมื่อใด รวมถึงความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1-2 ของโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นอีกโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องมากำหนดแนวทางการรับมือควบคู่ไปกับปัญหาอื่นที่เชื่อมโยงกัน เช่น การส่งออก อัตราแลกเปลี่ยน

การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีความคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลง และการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นเดียวกันที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ โดยเฉพาะการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการกำหนดทิศทางประเทศในระยะยาวที่จะยกระดับประเทศไทยให้ก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางที่ประเทศได้ติดกับดักนี้มานานกว่า 30 ปี

เราจึงต้องเลือกพรรคที่ตอบโจทย์ได้ทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาวของประเทศ