โชว์ทีมแบคอัพนายกฯอุ๊งอิ๊ง บิ๊กเนม“ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย”

โชว์ทีมแบคอัพนายกฯอุ๊งอิ๊ง  บิ๊กเนม“ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย”

เป้าหมายของพรรคคือการหาบิ๊กเนม ทีมเศรษฐกิจ ก็เพื่อเป็นแบ็คอัพสำคัญ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแคนดิเดตนายกฯหญิงอุ๊งอิ๊งนั่นเอง และหลังจากประกาศยุบสภาฯ เพื่อไทยเตรียมอีเวนท์ใหญ่ โชว์นโยบายแพ็กเกจใหม่ กระตุ้นแลนด์สไลด์ อีกหลายระลอก 

คล้อยหลังที่ เศรษฐา ทวีสิน เข้ามานั่งที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เพียงวันเดียว 3 มี.ค.66 พรรคเพื่อไทยก็มีคำสั่งแต่งตั้งทีมเศรษฐกิจของพรรคทันที รวม 14 คน โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช​ หรือ หมอมิ้ง เป็นประธาน พร้อมผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจด้านต่างๆ ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ 

โฟกัสหลัก ของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของเพื่อไทย อยู่ที่ “4 กุนซือ” หรือที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย  “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบาย 3 นายกรัฐมนตรี  “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีตผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ "เศรษฐา ทวีสิน" มาร่วมเป็นที่ปรึกษา รวมทั้ง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรองประธาน

โปรไฟล์ 5 บิ๊กเนมหัวแถวของทีมเศรษฐกิจ ต่างก็อยู่แนวหน้าของประเทศ แม้บางจังหวะทางการเมืองจะซุ่มอยู่ฉากหลัง แต่ในวงการเศรษฐกิจภาพใหญ่ย่อมรู้มือกันดี

“พันศักดิ์” เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบาย 3 นายกรัฐมนตรี

เริ่มจากประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อด้วยประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองสมัย และผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญหลายนโยบายในรัฐบาลทักษิณ 1 และ ทักษิณ 2 เช่น นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน และเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง ในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช

 

“ศุภวุฒิ” ในปี 2540 เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต่อมาปี 2544 เคยเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการเงินคลัง รมว.คลัง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐบาลทักษิณ และนั่งกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเลขานุการทักษิณ ชินวัตร 

ขณะเดียวกัน ยังเป็นคนที่เคยเสนอการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินแห่งชาติ (เอเอ็มซีแห่งชาติ) ในอดีตยังเคยเป็นผู้เสนอการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินแห่งชาติ

“ปานปรีย์” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้แทนการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและนโยบายภาครัฐ เริ่มทำงานเป็นข้าราชการ ที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบาย และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และในสมัย พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี

ประสบการณด้านการเมืองและการทำงาน ปี 2551 เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ในปี 2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยการทำงานที่ผ่านมายังเคยเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard

“กิตติรัตน์” นั่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเคยเป็น อาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เศรษฐา” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลประกอบการในปี 2564 มีรายได้ถึง 29,747.52 ล้านบาท และกำไร 2,017.28 ล้านบาท นอกจากนี้ยังนั่งกรรมการบริษัทในเครืออีกประมาณ 6 บริษัท ดังนี้ บริษัท ปารณัท จำกัด กำไร 533 ล้าน บ.จิรภาส เรียลตี้ จำกัด กำไร 141 ล้าน บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กำไร 234 ล้าน บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด กำไร 145 ล้าน บริษัท เอ็นอีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด กำไร 13 ล้าน

จะว่าไปแล้ว 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่า ผู้มีบารมีเหนือพรรคจะเชิญเสี่ยนิด เศรษฐา มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค เพื่อเป็นจุดขายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ต่อมาก็มีข่าวจะถูกขยับไปเป็นว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคอีกชั้น

กระทั่งต่อมา เมื่อเพื่อไทยเปิดตัว “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร กระแสทีมเศรษฐกิจของพรรคนี้ก็จางลง กระทั่งใกล้เวลาเลือกตั้ง ได้จังหวะที่พรรคจะโชว์ให้เห็นถึงทีมที่จะแบ็คอัพ“นายหญิง”คนใหม่ของพรรค ที่ถูกวางตัวเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค 

อย่างไรก็ตาม การเป็นพรรคใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายชื่อทีมเศรษฐกิจที่ลุ้น(ในพรรค)กันมานาน เพราะมีความหมายถึงนัยการมีตำแหน่งทางการเมือง หากเพื่อไทยได้มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้หลายคนต้องผิดหวัง ทั้งที่พยายามเปิดหน้า เปิดตัว ขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

“พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีต รมว.พลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พร้อมนั่งเก้าอี้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคมาโดยตลอด จัดอีเวนท์แถลงข่าวด้านเศรษฐกิจ เพื่อเสริมเครดิตให้กับพรรคเพื่อไทยแทบทุกสัปดาห์ หวังเลี้ยงกระแสให้พรรคไม่ตกเทรนด์

อีกราย “สุชาติ ธาดาดำรงเวช” อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอดีต รมว.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจ้าตัวพยายามปรากฏตัวในอีเวนท์ทางเศรษฐกิจในนามพรรคเพื่อไทย แม้จะไม่ค่อยมีชื่อตามหน้าสื่อก็ตาม

บางรายชื่อที่ถูกตีตกไป ถูกมองว่าอาจเป็นเพราะอยู่คนข้างกับทีมยุทธศาสตร์ของพรรค และบางรายชื่อว่ากันว่า อาจไม่ผ่านมาตรฐาน คนแดนไกล และเพื่อตัดปัญหาการช่วงชิงอำนาจ บาดหมางกันในพรรค จึงจำเป็นที่ต้องดัน “หมอมิ้ง” สายตรงคนแดนไกล ขึ้นมาเป็นประธาน เพื่อสยบปัญหาคลื่นใต้น้ำ​ในเวลานี้

หมอมิ้ง ยังนำเสนอทีมเศรษฐกิจ ที่เชิญเข้ามา รวมถึงส.ส.ที่ดึงมาร่วมงานอีกส่วน ได้แก่ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ นักวิชาการด้านการเกษตร ที่จะแปรเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตรให้เป็นรายได้ พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ อดีตผู้บริหารฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับบุคลากรที่หลากหลายและนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย เช่น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ​​ส.ส.เชียงใหม่ ที่เป็นผู้อภิปรายรัฐบาลในประเด็นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

จักรพงษ์ แสงมณี ​​นักธุรกิจผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อดีตผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้​เชี่ยวชาญด้านการค้าการลงทุนชายแดน ศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านไอทีและอาชญากรรมทางไซเบอร์​  ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล ​​เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ผู้ประกอบการด้านธุรกิจยานยนต์

เป้าหมายของพรรคคือการหาบิ๊กเนม ทีมเศรษฐกิจ ก็เพื่อเป็นแบ็คอัพสำคัญ ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแคนดิเดตนายกฯหญิงอุ๊งอิ๊งนั่นเอง และหลังจากประกาศยุบสภาฯ เพื่อไทยเตรียมอีเวนท์ใหญ่ โชว์นโยบายแพ็กเกจใหม่ กระตุ้นแลนด์สไลด์ อีกหลายระลอก