เศรษฐกิจโลก ยัง‘เสี่ยงสูง’

เศรษฐกิจโลก  ยัง‘เสี่ยงสูง’

ประเทศไหนรับมือได้ หรือมีภูมิต้านทาน มีนโยบายที่แข็งแกร่งพอ เข้าใจโลก เข้าใจวิกฤติ มีแผนหลัก แผนสำรอง และมีแผนเผด็จศึก รู้วิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ย่อมได้เปรียบ.....

เมื่อต้นปี เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 ที่วิเคราะห์ความเสี่ยงที่โลกยังต้องเผชิญ และยังไม่สามารถไว้วางใจได้แม้แต่เสี้ยววินาที แม้สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายลง

หากในห้วงแห่งความยากลำบากก่อนหน้านั้น โลกถูกชัตดาวน์ในทุกมิติ การจะฟื้นคืนกลับมาสู่จุดเดิมก่อนมีโรคระบาด ไม่ได้ง่ายแค่พลิกฝ่ามือ เพราะหลังโรคซาไม่ทันไร ก็มีวิกฤติใหม่ซ้อนขึ้นมาทันที

ความขัดแย้ง สงครามระหว่างรัสเซีย ยูเครน การไม่ลงรอยกันของมหาอำนาจโลก ปมภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นวิกฤติใหม่ที่กำลังบานปลายไปเรื่อย ๆ 

วิกฤติทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนกระทบโดยตรงต่อ “ค่าครองชีพ” ปลาเล็ก ปลาน้อย นอนตายกันเป็นเบือ ส่วนปลาใหญ่ก็ดูจะว่ายน้ำอ่อนแรงลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ความซบเซาทางเศรษฐกิจ กำลังฉุดรายได้ กำไร ทุกภาคส่วนกระทบกันเป็นลูกโซ่ ซัพพลายเชนที่ถูกปิดจากโรคระบาด

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กลับต้องมาเผชิญปมขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจของโลก ซัพพลายเชนก็ทรุดลงหนักอีก

ประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเทคโนโลยี การกีดกันทางการค้า สั่นสะเทือนไปทุกภาคส่วน ล้วนฉุดกำลังใจ กำลังกายของระบบเศรษฐกิจ

เมื่อความเสี่ยงยังคงเป็นความเสี่ยงสูง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นโจทย์หินที่ทุกประเทศในโลกต้องแก้ไข และหาทางรับมือให้ได้

“วิกฤติค่าครองชีพ” ติดอันดับ 1 ของความเสี่ยงโลกที่จะมีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ ความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมติด อันดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มรุนแรงในระยะยาว 10 ปี  มิติทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด สงคราม ส่งผลให้ตลาดเงินทั่วโลกผันผวน เงินเฟ้อ

ขณะที่ปมขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินเป็นวงกว้างในระยะยาว

สงครามเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นเรื่องปกติที่เรากำลังคุ้นชิน การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจโลกอาจทวีความซับซ้อน รุนแรง เกิดสิ่งที่คาดไม่ถึง และไม่สามารถควบคุมได้

ความเหลื่อมล้ำของโลกจะมีมากขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน  ความไม่เท่าเทียมด้านเทคโนโลยี อาจเป็นเรื่องที่ต้องนำมาขบคิดมากขึ้น

ความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ หรือ การทำ Cyber Warfare  อาจปะทุหนักหน่วงขึ้น ไม่นับเรื่องวิกฤติอาหาร เชื้อเพลิง การขาดแคลน ความเปราะบางทางสังคม ทั้งหมดนี้ คือ ความเสี่ยงที่ทั้งโลกยังต้องเผชิญอยู่ 

ประเทศไทย กำลังจะมีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคกำลังหาเสียง ชูนโยบายต่างๆ

อย่าลืมมองถึงความเสี่ยงของโลกเหล่านี้เอาไว้ด้วย หาแนวทางแก้ไขรับมือให้ทันท่วงที เพราะทุกความเสี่ยงล้วนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

ประเทศไหนรับมือได้ หรือมีภูมิต้านทาน มีนโยบายที่แข็งแกร่งพอ เข้าใจโลก เข้าใจวิกฤติ มีแผนหลัก แผนสำรอง และมีแผนเผด็จศึก รู้วิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ย่อมได้เปรียบ.....