“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

“เขาจะเลือก ชทพ.หรือไม่ เพราะต้องดูว่าพรรคได้กี่เสียง หากได้เยอะเราจะเลือกเขา แต่หากได้น้อย เขาจะเลือกเราหรือไม่ ดังนั้นคำตอบไม่ได้อยู่ที่เรา”

รายการ “เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก.” ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 จับเข่าคุย “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ผู้ถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้ผู้นำรัฐบาล ในฐานะว่าที่ "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากพรรคชาติไทยพัฒนา

 

ในวันที่ประกาศความพร้อมถือธงนำพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อปักในสภาฯ พา ส.ส.ไม่ต่ำ 25 คนเข้าไปทำหน้าที่ “ผู้แทนราษฎร” เขายอมรับชะตา “ทายาทนักการเมือง” ซึ่งถูกลิขิตไว้ตั้งแต่เกิด โดยบิดา "บรรหาร ศิลปอาชา” อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคชาติไทย

ในวันที่ต้องมารับธงต่อเพื่อนำพรรคชาติไทยพัฒนาลุยสู้ศึกเลือกตั้ง “วราวุธ” ยอมรับกับความคาดหวัง ที่จะต้องรับบทแม่ทัพ และความท้าทายที่จะมาถึง โดยจุดที่ต้องพิสูจน์ตัวตนในบทบาทผู้นำพรรคครั้งนี้คือรักษาฐานที่มั่น ซึ่งเป็นถิ่นที่ “คนพรรคชาติไทยพัฒนา” ได้เป็น ส.ส. โดยเฉพาะ สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด รวมทั้งทวงคืนฐานที่มั่นสำคัญ ทั้งนครปฐมที่หมายจะทวงคืน 3-4 ที่นั่ง พื้นที่เมืองเพชรบุรีที่รอบก่อนเสียแชมป์ รวมทั้งประกาศสู้ในพื้นที่เชียงราย กทม.บางส่วน และขอเวลาอีก 1 สมัย จะขยายไปให้ครบทั้ง 4 ภาค

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

“พ่อบรรหารจากไปเมื่อปี 59 ตอนเลือกตั้ง 62 พี่นา (กัญจนา) นำทัพเลือกตั้ง มีคนบอกว่าจะมาเจาะฐานของพรรค เพราะเมื่อนายบรรหารไม่อยู่ สุพรรณบุรีก็เหมือนเป็นเค้กชิ้นโต แต่ผมไม่ว่าอะไร ใครจะมาก็ได้ แต่ผมพร้อมปกป้องและสู้กันตายไปข้างหนึ่ง"

ส่วนที่ใครหลายคนเปรียบเทียบว่า วราวุธลูกพ่อบรรหาร ต้องมีความพลิ้วไหวเหมือนที่นายบรรหารเคยได้ฉายา “ปลาไหลใส่สเกต” นั้น เจ้าตัวบอกว่า “จะหาคนแบบนายบรรหาร หาไม่ได้แล้ว และผมจะรู้ว่า ผมคือทายาทที่พ่อขีดเส้นให้เป็นนักการเมือง แต่ไม่คิดจะไปในตำแหน่งนายกฯ แต่หากมีโอกากส ผมก็ไม่กลัว ดังนั้นตอนนี้ผมต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รักษาพรรคให้อยู่เพื่อทำงานให้ประชาชน”

 

ทว่า บริบทการเมืองที่ถูกจับตาถึงการ “สลับขั้วการเมือง” ทำให้พรรคชาติไทยพัฒนาถูกจับตาว่าจะสวิงขั้วหรือไม่ “วราวุธ” บอกว่า เป็นปกติที่แต่ละพรรคจะคุยถึงการทำงานร่วมกันในอนาคต ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันมา แม้จะคุยว่าจะทำงานกันต่อ แต่ความเป็นจริง หลังเลือกตั้ง พ้นวันลงคะแนน ต้องนั่งบวกตัวเลขอีกครั้ง ว่าได้เท่าไร หากบวกกันแล้วได้ไม่เกินครึ่ง ไม่เกิดประโยชน์

แม้ว่า “ฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน” จะมีกองทุนเป็น “ส.ว.250 คน” แต่วราวุธมองไกลถึงภาพของอนาคตว่า

“อย่ามองแค่เฉพาะการเลือกนายกฯ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถบริหารได้ด้วย ส.ว. หรือเสียงข้างน้อย เช่น การเสนอกฎหมายงบประมาณ หากไม่ผ่านต้องกลับไปเลือกตั้งอีก เหตุผลที่มองแบบนั้น เพราะหลังเลือกตั้ง กว่าจะตั้งรัฐบาลได้คือช่วงเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม เป็นจังหวะที่ต้องพิจารณากฎหมายงบประมาณ หากรัฐบาลเป็นเสียงข้างน้อย อาจถูกเล่นงานได้ ขณะที่ประเด็น ส.ว.ที่แสดงท่าทีมาแล้วนั้น ผมเชื่อว่าเมื่อประชาชนมีฉันทามติอย่างไร ส.ว.มีวิจารณญาณระดับหนึ่งที่จะตัดสินใจ"

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

การตัด “ส.ว.” ออกจากสมการตั้งรัฐบาล แต่เอาเข้าจริง “สภาสูง” ยังมีบทบาทสำคัญและอาจเป็นอุปสรรคต่อการตั้งรัฐบาล เหมือนปี 62 ประเด็นนี้หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนามองว่า "การตั้งรัฐบาลทุกรอบมีปัญหา แต่มีแค่รอบเดียวที่ไม่เกิด คือสมัยที่รัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว เพราะได้เสียงเกิน 350 เสียง แต่แม้ไม่มีปัญหาพรรคร่วมเพราะไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล แต่กลับพบว่ามีปัญหาภายในพรรค ดังนั้น การตั้งรัฐบาลมีปัญหาทุกครั้ง”

 

สำหรับแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมจับมือทำงานหรือไม่ สิ่งที่วราวุธให้คำตอบคือ “เขาจะเลือกพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่ เพราะต้องดูว่าพรรคได้กี่เสียง หากได้เยอะเราจะเลือกเขา แต่หากได้น้อย เขาจะเลือกเราหรือไม่ ดังนั้นคำตอบไม่ได้อยู่ที่เรา”

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

กับประเด็น “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ที่ถูกชูให้เป็นนโยบายลำดับแรก วราวุธขยายความว่า จะใช้โมเดลสมัยนายบรรหารทำ คือให้มี ส.ส.ร. ซึ่งเป็นตัวแทนของความหลากหลายเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อครั้งที่นายบรรหารไม่ปิดกั้นคนที่เห็นต่างเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่านี่คือจุดที่ทำให้เกิดการถ่วงดุล และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปปัจจุบัน ต้องเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม

 

ขณะที่เหตุผลในมุมมองส่วนตัว ที่จำเป็นต้องทำกติกาสูงสุดของบ้านเมืองใหม่ วราวุธมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีความไม่สมดุล เพราะทำให้ ส.ส.ถูกมัดมือมัดขา ในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน แม้ว่า ส.ส.ตามกฎหมายจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คือการยกร่างกฎหมาย แต่ในบริบทปัจจุบัน เมื่อประชาชนเดือดร้อน ต้องมาขอความช่วยเหลือจาก ส.ส. ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดห้าม ส.ส.เกี่ยวกับงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถดูแลประชาชนได้เต็มที่

 

ขณะที่การลุยหาเสียง “ศรีหมอกออนทัวร์” โดยเปิดเวทีปราศรัยล็อตแรก 10 เวทีใน 10 อำเภอของ จ.สุพรรณบุรี ไปแล้ว สิ่งที่วราวุธ​นำไปหาเสียงเสมอ คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หลายครั้งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเข้าถึงชาวบ้านหรือไม่ เพราะพูดสิ่งที่ไกลตัว เมื่อเทียบกับนโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ 

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

ต้นเดือนมกราคม พรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำเสนอนโยบาย ภายใต้สโลแกน “รับฟัง ทำจริง” ที่จะใช้ในการเลือกตั้งปี 2566 พร้อมแคมเปญ “ว้าว ไทยแลนด์” มาจากคำว่า Wealth, Opportunity and Welfare For All คือ การสร้างความมั่งคั่งสร้างโอกาสและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อประชาชน โดยที่ครอบคลุม และทั่วถึงคนไทยทั้ง 4 กลุ่ม ประชาชนเข้มแข็ง เกษตรกรแข่งขันได้ ธุรกิจขยับขยาย และคนไทยแข็งแรง

 

โดยประกาศ 10 นโยบายเชิงรุก ในแนวทางพรรคสิ่งแวดล้อม (Green) เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเมกะเทรนด์ของโลก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งนโยบายเชิงรุก ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ ให้คนเก่งนำพาประเทศไทย ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ และเน้นการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มต่างๆ ทั้งการศึกษา เกษตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีนโยบายที่นำไปสู่การแข่งขัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“วราวุธ” แม่ทัพชาติไทยพัฒนา   ชนะเพื่อเลือก VS ลุ้นถูกเลือก

วราวุธยอมรับว่า นโยบายของพรรคไม่หวือหวา แต่ว้าว เพราะเป็นนโยบายที่เน้นการแก้ปัญหาในวันนี้และอนาคต ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ และสร้างปัญหาต่อในอนาคต จากการทำงานในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกือบ 4 ปี เห็นถึงทิศทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพาเกษตรกรไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลง แข่งขันบนเวทีโลก เพราะในอนาคตจะกำแพงภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนก่อนที่จะถูกต่างชาติบังคับให้เปลี่ยน 

 

แม้ว่าการพูดให้ชาวบ้านเห็นภาพ ต้องออกแรงให้มาก "วราวุธ" พร้อมลุยเพราะมองว่าการเปลี่ยนทัศนคติของคน แต่หากไม่เปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำตั้งแต่วันนี้ จะมีกี่นายกฯ หรือกี่การเลือกตั้ง ปัญหายังเหมือนเดิม

“หากจับพลัดจับผลู ผมได้เป็นฝ่ายค้าน ผมอยากให้รัฐบาลเอานโยบายนี้ไปใช้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าสิ่งที่นำเสนอนั้น เป็นความยั่งยืนของประเทศในอนาคต เพราะสิ่งที่พรรคชาติไทยพัฒนาคิด ไม่ได้แก้ปัญหาวันนี้ แล้วสร้างปัญหาต่อในวันข้างหน้า หากเชื่อในวิธีคิดที่จะเปลี่ยนขอให้มาร่วมทำกับพรรคชาติไทยพัฒนา” วราวุธทิ้งท้าย.