"ตำรวจไซเบอร์" แนะระวังภัย 2 รูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์   

"ตำรวจไซเบอร์" แนะระวังภัย 2 รูปแบบมิจฉาชีพออนไลน์   

"โฆษกตำรวจไซเบอร์" ออกคำเตือน ภัยมิจฉาชีพในการหลอกทำภารกิจออนไลน์หารายได้เสริม หลอกได้รับบัตรโดยสารฟรี และการลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันสายการบินปลอม พร้อมให้คำแนะนำแนวทางป้องกันการตกเป็นเหยื่อ

วันที่ 4 มีนาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวเตือนภัยมิจฉาชีพ จากพฤติกรรมหลอกลวงเหยื่อทำภารกิจออนไลน์หารายได้เสริม หรือการหลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม และการหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันสายการบินปลอม จาก 2 กรณีหลัก  ดังนี้

กรณีแรก ตามที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายเป็นหญิง อายุ 30 ปี กลัวสามีทราบว่าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงทำภารกิจผ่านแอปพลิเคชันปลอม โดยให้ทำการโฆษณาสินค้า และซื้อสินค้าภายในแอปพลิเคชันดังกล่าว แล้วให้บันทึกภาพหน้าจอ (Capture) ส่งให้มิจฉาชีพเพื่อรับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาพบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพชักชวนหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์เพื่อหารายได้เสริมต่างๆ เช่น... 

การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวที่พัก รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok เป็นต้น หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรงให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้น มิจฉาชีพจะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ 

ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อ้างว่าทำผิดขั้นตอน หรือยอดเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าตนได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป

 

กรณีที่สอง ตามที่ปรากฏเป็นคลิปวิดีโอสั้นเตือนภัยจากผู้เสียหายรายหนึ่ง ได้รับแจ้งว่าตนได้รับบัตรโดยสารจากสายการบินแห่งหนึ่งฟรี ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเข้าเว็บไซต์สายการบินดังกล่าวปลอม จากนั้นพูดคุยสอบถามข้อมูลหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม แล้วดำเนินการตามขั้นตอนของมิจฉาชีพแจ้ง 

สันนิษฐานว่า เป็นการให้เหยื่อกดอนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่อันตราย (.apk) หรือแอปพลิเคชันรีโมตที่สามารถควบคุมมือถือของเหยื่อได้ โดยเฉพาะอย่างการให้ตั้งรหัส PIN 6 หลัก ซึ่งคนส่วนใหญ่จะตั้งรหัสซ้ำกับรหัสการทำธุรกรรมการเงินของธนาคารที่ใช้อยู่ เมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลดังกล่าว โทรศัพท์ของเหยื่อก็จะอยู่ลักษณะโทรศัพท์ค้างไม่สามารถกดทำกิจกรรมใดๆ กระทั่งเงินในบัญชีของผู้เสียหายถูกโอนออกไปยังบัญชีของมิจฉาชีพที่เตรียมรอไว้

ตามนโยบายของรัฐบาล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายและมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า การหลอกลวงทั้ง 2 กรณีดังกล่าว มิจฉาชีพจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนภารกิจ กิจกรรมที่นำมาหลอกลวงเหยื่อ หรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน่วยงานต่างๆ ไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ โดยอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ไม่เลือกอายุ หรือเพศของเหยื่อ ทุกคนทุกอาชีพสามารถตกเป็นเหยื่อได้หมด เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม บช.สอท.ขอประชาสัมพันธ์

แนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงของมิจฉาชีพจากพฤติกรรม 2 กรณี ดังนี้ 

  • แนวทางป้องกันถูกหลอกหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 

1.เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ เช่น Shopee, Lazada เป็นต้น

2.หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

3.หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษาสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 เพื่อปรึกษาว่างานดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

4.หากพบว่ามีการติดต่อให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด

5.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

6.ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่

7.ช่วยกันตรวจสอบ สอดส่องบุคคลใกล้ชิดว่ามีพฤติกรรมทางการเงินผิดปกติหรือไม่

 

  • แนวทางป้องกันถูกหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน

1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ หรือให้โปรโมชันต่างๆ

2.ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน ผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น ป้องกันการเข้าสู่แอปพลิเคชันปลอม

3.ตรวจก่อนว่าสิ่งที่ติดต่อมามาจากสายการบิน หรือหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ท่านขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ติดต่อกลับ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง

4.หากต้องการจะเข้าเว็บไซต์ใดให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม

5.หากท่านสงสัยว่ากำลังจะตกเป็นเหยื่อ ให้รีบทำการ Hard Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ หรือทำการถอดซิมโทรศัพท์ออกทันที

6.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ตั้งรหัสการทำธุรกรรมการเงินเหมือนๆ กันทุกสถาบันการเงิน หรือเหมือนกับรหัสปลดล็อกการเข้าถึงโทรศัพท์ของตน

7.หมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการ หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงแจ้งเตือน ไปยังบุคคลใกล้ตัวเพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ