ก้าวไกลชวนจับตา “ประยุทธ์” เคาะงบกลาง 2 พันล.ตอบแทน รมต.สวามิภักดิ์หรือไม่

ก้าวไกลชวนจับตา “ประยุทธ์” เคาะงบกลาง 2 พันล.ตอบแทน รมต.สวามิภักดิ์หรือไม่

“ศิริกัญญา ก้าวไกล” ชวนประชาชนจับตา “ประยุทธ์” เคาะงบกลาง 2 พันล้านบาท ต่างตอบแทน รมต.ที่ยอมสวามิภักดิ์หรือไม่ ซัดชอบบลัฟนโยบายสวัสดิการของพรรคอื่น แต่ รทสช.แจกแหลก 1 พันบาท/เดือน

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2566 อนุมัติงบกลางเกือบ 2,000 ล้านบาทใน 2 โครงการ คือ โครงการนำร่องตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 1,037 ล้านบาท ที่เสนอโดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) ภายใต้การกำกับดูแลของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และอนุมัติงบช่วยเหลือผู้เสพ, ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 826 ล้านบาท ที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทย จะถูกมองว่าเป็นการใช้งบเพื่อให้รัฐมนตรีคนสนิทนำไปใช้เอื้อประโยชน์สร้างคะแนนความนิยมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในช่วงการเลือกตั้งหรือไม่ ว่า เป็นไปได้ทั้งหมด แต่เป็นที่น่าจับตาว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีปัญหามากมายแต่กลับมาเร่งอนุมัติในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จึงต้องติดตามดูต่อไปจนกว่าจะมีการยุบสภาฯ แม้ว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่การนำมาอนุมัติในช่วงนี้ จึงเป็นเครื่องหมายคำถามว่าจะเป็นการแจกจ่ายผลประโยชน์ครั้งสุดท้ายให้กับรัฐมนตรีที่ยอมมาสวามิภักดิ์ให้กับตัวเองหรือไม่

เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นแค่การอนุมัติโครงการ ส่วนการจะนำปฏิบัติอย่างไรก็ต้องจับตามองต่อไป ที่สำคัญคือต้องไปดูว่างบกลางถูกอนุมัติไปมากน้อยเพียงใด เพราะงบกลางไม่ใช่ให้รัฐบาลนี้ใช้เท่านั้น แต่รัฐบาลต่อไปก็ต้องมาใช้เงินก้อนนี้ด้วย เราจึงต้องมาตรวจดูว่ามีความผิดปกติของการใช้เงินอย่างใด แต่การตรวจสอบงบกลาง ก็เป็นไปค่อนข้างยาก และมีกลไกให้ตรวจสอบผ่านการติดตามมติครม. เท่านั้น

  • ซัด “ประยุทธ์” บลัฟนโยบายพรรคอื่น แต่ รทสช.แจกแหลก 1 พัน/เดือน 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศนโยบายพรรค รทสช. บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาทต่อเดือน ถูกมองว่าเป็นการโชว์เหนือนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า ตอนพรรคการเมืองอื่นเสนอนโยบายสวัสดิการ พล.อ.ประยุทธ์ มักเป็นตัวตั้งตัวตีพูดจาดูแคลนด้อยค่าว่า แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาทำ แต่พอตัวเองทำบ้างก็กลับไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกับตัวเองที่จะออกมาพูดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงเป็นการบลัฟแข่งกันอย่างไม่มีความรับผิดชอบ เมื่อตอนที่พรรคก้าวไกล นำเสนอนโยบายสวัสดิการ เราไม่เคยละเลยที่จะพูดกับประชาชนตรง ๆ ว่าต้องใช้เงินจำนวนเท่าไหร่และหาเงินเหล่านั้นมาจากไหน โดยเราไม่ได้เสนอแค่ตัดงบประมาณของกองทัพ แต่ยังเสนอการเก็บภาษีประเภทใหม่ และเก็บภาษีเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นยาขมสำหรับพรรคการเมืองที่จะต้องหาเสียง โดยการบอกว่าจะต้องขึ้นภาษี

เมื่อถามว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ชูนโยบายบัตรสวัสดิการเป็น 1,000 บาทต่อเดือนหมายความว่าประชาชนชื่นชอบใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นการผูกนโยบายกับบัตรสวัสดิการชุดใหม่ที่มีคนลงทะเบียนใหม่ พบว่าเพิ่งจะมีการปรับข้อเสนอสวัสดิการต่าง ๆ ถ้าอยากจะปรับเป็น 1,000 บาทต่อเดือนจริง ทำไมไม่ทำตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเป็นรัฐบาลทำไมต้องรอให้มีการเลือกตั้งถึงจะมาทำ 

เมื่อถามว่า หากทำตามนโยบายที่เสนอนี้จะต้องใช้เงินจำนวนมากเท่าไหร่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคที่เสนอนโยบายนี้จะต้องชี้แจงว่าจะต้องทำนโยบายไม่ให้เกิดภาระทางการคลัง ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ พูดเสมอว่าจะต้องเอาเงินไปลงทุนไม่สามารถนำมาจ่ายแบบนี้ แต่สุดท้ายตัวเองก็ทำเอง ทั้งนี้ หากคูณง่าย ๆ จ่าย 1,000 บาทต่อหนึ่งคนต่อเดือน เมื่อมี 14 ล้านคน ก็แสนกว่าล้านบาทหรือสองแสนล้านบาทต่อเดือน