เลขา ป.ป.ช.ยกปม “เขากระโดง” สะท้อนปัญหารุกที่ดิน เหตุ 2 หน่วยงานไม่คุยกัน

เลขา ป.ป.ช.ยกปม “เขากระโดง” สะท้อนปัญหารุกที่ดิน เหตุ 2 หน่วยงานไม่คุยกัน

สำนักงาน ป.ป.ช.จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ปี 66 “นิวัติไชย” อธิบายนิยามคดีทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งงบจัดซื้อระบบ GIS วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศแก้ปัญหาแล้ว ยกเคส “เขากระโดง” กรมที่ดิน-รฟท.ไม่คุยกัน แต่เลือกฟ้องศาลปกครองแทน ทำล่าช้า

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมลาโค่ เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า คำว่าทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้หมายถึงที่ดินอย่างเดียว แต่หมายถึงดิน น้ำ ลม ไฟ ทุกอย่างแม้กระทั่งในอากาศก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไทยเป็นผู้ครอบครอง แต่อาจมีการให้สิทธิสัมปทาน อนุญาตเอกชน หรือหน่วยงานรัฐเข้ามาใช้ ก่อให้เกิดปัญหา เช่น ในที่ดิน หรือเหมืองแร่ หรือที่ได้รับสัมปทานต่าง ๆ 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ดินนั้น ปัญหาตอนนี้คือกรมที่ดินไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ หรือที่หลวงให้ได้ทั้งหมดทั่วประเทศ ดังนั้นวันนี้ ป.ป.ช.ร่วมกับกรมที่ดิน ขับเคลื่อนการออกหนังสือที่หลวงให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นเวลาหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่สาธารณประโยชน์ เอาไปหากิน ทำให้ถูกบุกรุก หรือครอบครองไป 

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอให้ยกเลิก สค. 1 ไป เพราะมีปัญหามาก เดิมที่อนุญาตให้มี สค. 1 เพื่อให้คนทำมาหากินดั้งเดิม แต่เป็นเวลาที่เนิ่นนานมาแล้ว จนคนมี สค. 1 จริง ๆ ควรไปออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ได้แล้ว แต่ยังมีการสวมสิทธิออกเอกสารสิทธิขยายจากพื้นที่เดิม หรือเรียกว่า “นส. บวม” ทำให้ไม่มีความชัดเจน แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิลดน้อยลง วันนี้ที่ ป.ป.ช. ทำอยู่คือการแก้ไขปัญหาเรื่องเก่า ๆ อาจมีเจ้าหน้าที่ที่ดินบางคนทุจริต ได้รับผลประโยชน์ ร่วมกับเอกชน หรือราษฎร ออกเอกสารไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง เวลา ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไป ตามกฎหมายเดิมเราไม่มีอำนาจ เรามีอำนาจแต่ชี้มูลอาญา และดำเนินคดี แต่การเพิกถอนต้องส่งให้กรมที่ดิน โดยวันนี้มีปัญหาว่ากรมที่ดินทำอย่างไรถ้าจะเพิกถอน แล้วใครเป็นคนออก นั่นคือ จนท ในกรมนั่นเอง แล้วความรับผิดชอบคืออะไร หากมีการฟ้องร้องคดี การเพิกถอนอาจติดชะงัก เป็นต้น

นายนิวัติไชย กล่าวว่า ประเด็นนี้การปฏิรูปกฎหมาย ป.ป.ช. วันนี้การชี้มูลความผิดคดีอาญา การออกเอกสารสิทธิมิชอบต่าง ๆ กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. แล้วว่า ให้สามารถยื่นคำร้อง พร้อมกับการชี้มูลผิดทางอาญา เพื่อขอให้ศาลเพิกถอน ขอให้เขารับผิดชอบ ยกตัวอย่าง วันนี้มีปัญหาที่ดินเขากระโดง เกี่ยวกับนักการเมืองคนหนึ่ง กรมที่ดินดูแลที่ดินอยู่ รู้อยู่แล้วว่าบุกรุก ทำไมไม่เพิกถอน ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่เป็นเจ้าภาพก็บอกว่าแจ้งกรมที่ดินแล้ว กรมที่ดินบอกว่าพร้อมเพิกถอนแต่ให้ รฟท. ชี้แนวเขตหน่อย ก็ยื้อกันไปมา 

เลขา ป.ป.ช.ยกปม “เขากระโดง” สะท้อนปัญหารุกที่ดิน เหตุ 2 หน่วยงานไม่คุยกัน

“วันนี้ต้องหาเจ้าภาพว่าใครต้องดำเนินการ ทั้งที่เป็นหน้าที่ 2 หน่วยงานต้องร่วมกัน ไม่ใช่เกี่ยงกัน รฟท. เลยฟ้องศาลปกครอง อาจใช้เวลาพอสมควร ไม่รู้ว่าเป็นการใช้เวลานานหรือไม่ แทนที่จะคุยกันทั้ง 2 หน่วยงาน แต่ปัญหาของเรื่องนี้คือแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกาเรื่องเขตที่ดินไม่มี พอไม่มี การชี้แนวเขตอาจเป็นเรื่องลำบาก แต่อาจมีการลงพื้นที่ทำแนวเขตที่อาจชี้ได้ แต่ต้องใช้เวลา” นายนิวัติไชย กล่าว

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า นอกจากนี้คดีทรัพยากรธรรมชาติ ยังเกี่ยวกับแหล่งน้ำ การใช้น้ำ มลพิษ มลภาวะที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ปล่อยอากาศเป็นพิษ เจ้าหน้าที่บกพร่อง ปล่อยปละละเลย หรือรู้เห็นการตรวจสอบคุณภาพของโรงงาน หรือเอกชนต่าง ๆ คดีทุกอย่างอยู่ในความดูแลของ ป.ป.ช. หากเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ หากเอกชนทำกันเอง ต้องรับผิดกันเอง แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องไปดำเนินการ องคาพยพของทุกองค์กร มีการขยับ มีการดำเนินการเอาจริงเอาจัง ปัญหาการประพฤติมิชอบคิดว่าลดน้อยลงไป

“เรื่องดังกล่าวคิดว่าเป็นภาระองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องยอมรับว่าปฏิเสธไม่ได้ แต่ ป.ป.ช. องค์กรเดียวคงขับเคลื่อนทั้งประเทศไม่ไหว เป็นฟันเฟืองหนึ่งเท่านั้น ประชาชนต้องขับเคลื่อนด้วย หากทุกฟันเฟืองขับเคลื่อน ป.ป.ช. อาจเป็นแกนช่วยกันขับเคลื่อนไป อาจมีเรื่องล่าช้าบ้าง แต่ก็ยอมรับ นี่เป็นฟีดแบ็กสังคมส่งให้ ป.ป.ช. ต้องขยับ และปรับปรุงตนเอง วันนี้ ป.ป.ช. พร้อมเดินหน้า โดยเฉพาะประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ มีการตั้งงบมาจัดซื้อเครื่องมือ เข้าใจว่าดีสุดในไทย คือระบบ GIS เป็นระบบคอมพิวเตอร์แบบ 3 มิติ เดิมวิเคราะห์แปลภาพถ่ายทางอากาศ ใช้คอมพิวเตอร์ปกติ กับใช้แว่น 3 มิติ แต่เครื่องมือที่เราพัฒนาอ่านภาพแปลภาพแผนที่ได้ โดยไม่ต้องใช้แว่นตาเลย ทำงานได้รวดเร็ว และเครื่องนี้ไม่ใช่แค่อ่านแปลภาพถ่ายอย่างเดียว แต่ยังอ่านค่าความสูงของตึกในเขตเมืองได้ด้วยว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าว

นายนิวัติไชย กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ค่อนข้างมีความระมัดระวังสูง ทั้งเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความลับ ทุกหน่วยมีความลับ ป.ป.ช. ขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เขามีการปกป้อง มีการถามกลับว่า ป.ป.ช. มีอำนาจขอหรือไม่ แม้แต่ข้อมูลราชการยังเป็นความลับ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ หากเขาปฏิเสธ ก็อ้างกฎหมาย ดังนั้นการสื่อสารทำความเข้าใจ อยากให้เข้าใจปัญหาอุปสรรคของ ป.ป.ช. และมีช่องทางสื่อสารอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้