อุ๊งอิ๊ง VS บิ๊กตู่ ศึกชิงนายกฯ '250 ส.ว.' แลนด์สไลด์ที่ใคร?

อุ๊งอิ๊ง VS บิ๊กตู่ ศึกชิงนายกฯ '250 ส.ว.' แลนด์สไลด์ที่ใคร?

ดูเหมือนหลายฝ่าย มีความพยายามตัดสินว่า ขั้วไหนจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” กันตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้งแล้ว เหลือก็แต่เอาผลเลือกตั้งมาวางทาบลงไปและเขย่ากันอีกทีเท่านั้น

 ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมีตัวแปรหลักอยู่แล้ว อย่าง “ส.ว. 250 เสียง” ในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย

 และแน่นอนว่า “ส.ว.250 เสียง” คือ ไพ่ในมือของฝ่าย “3 ป.” ที่ผูกโยงกันมาตั้งแต่ “คสช.” เป็นคนแต่งตั้งอยู่แล้ว ส่วนจะมีแตกแถวหรือไม่ ก็ไม่น่าจะมีผลต่อการเป็น “ตัวแปร” มากนัก

ดังนั้น ผู้ท้าชิงจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายอำนาจปัจจุบัน หรือ “3 ป.” ก็จะต้องรวบรวมคะแนนเสียงในรัฐสภาให้ได้เกิน 376 เสียง หรือ เกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน

แล้วก็ไม่แปลก ที่พรรคเพื่อไทยจะชู “สโลแกน” ชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” มากกว่า 250 เสียง เพื่อต่อสู้กับเสียง ส.ว. 250 เสียง เอาไว้ก่อน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ส่วนที่เหลือเชื่อว่า พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า“ประชาธิปไตย” จะเป็นส่วนเติมเต็มได้  

ส่วนฝ่าย “อำนาจปัจจุบัน” นอกจากจะมี “ส.ว. 250 เสียง” ในมือแล้ว สิ่งที่ต้องลุ้นอย่างหนัก ก็คือ ผลเลือกตั้งจะเป็นใจหรือไม่ และการย้ายพรรคของส.ส.เพียงพอที่จะทำให้ได้ที่นั่งอย่างเป็นกอบเป็นกำหรือไม่ นั่นคือ รวมกันแล้วจะต้องได้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียงขึ้นไป เพื่อการันตีจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าเสียงปริ่มน้ำ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบริหารประเทศให้ราบรื่นอยู่ดี

เพราะถ้าผลเลือกตั้ง แพ้พรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างขาดลอย “ส.ว.250 เสียง” ก็ไม่อาจฝืนกระแสประชาชนได้เช่นกัน

ดังนั้น ปรากฏการณ์การสู้ศึกเลือกตั้งของทั้งสองฝ่าย จึงมี “อาวุธ” คนละแบบ พรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย, ก้าวไกล ใช้วิธีปลุกกระแสเลือกฝ่าย “ประชาธิปไตย” ปิดประตูสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยเฉพาะเพื่อไทย ชูเลือกให้ “แลนด์สไลด์” เพื่อกดดัน “ส.ว.” ไม่ให้ฝืนกระแสประชาชน หรือ ไร้ความหมายไปเลย

ขณะที่พรรคฝ่ายอำนาจปัจจุบัน เน้นการ “ดูด” ส.ส.เข้าพรรค โดยเฉพาะส.ส.ในสังกัด “บ้านใหญ่” ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งกระแสพรรค หรือ ผู้นำพรรคมากนัก เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งจุด “ดึงดูด” น่าจะมาจากความเชื่อมั่นในผลงานรัฐบาลที่ผ่านมา และโอกาสตั้งรัฐบาลมีสูง จากส.ว. 250 คนที่มีอยู่ในมือ
 

สรุปแล้ว ต่อให้มี “ส.ว. 250 เสียง” เป็นตัวแปร แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่าย ถ้าผลการเลือกตั้งปรากฏว่า แพ้ยับเยิน แต่ถ้าผลการเลือกตั้งทั้งสองฝ่ายคู่คี่สูสีเมื่อไหร่ ส.ว.250 คน จะเป็นตัวตัดสินรัฐบาลทันที

ส่วนผลเลือกตั้งขึ้นอยู่กับอะไร นี่ต่างหากที่น่าวิเคราะห์ โดยเฉพาะกระแสที่ “พลิกไปพลิกมา” จากเกมการเมืองของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งปัจจัยเกื้อหนุนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

อย่างกรณี นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ออกมาส่งสัญญาณ(โพสต์เฟซบุ๊ก)ให้รู้ว่า ในมุมของส.ว.นั้น มองอย่างไรกับการเลือกตั้งครั้งหน้า การจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ยึดหลักการอะไร

“ใครรวมเสียงส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ คนนั้น พรรคนั้นควรเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล ส.ว.ส่วนใหญ่จะโหวตให้ตามหลักการ ส่วนใครจะเป็นนายกฯต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ เป็นที่ยอมรับของคนทั้งสภาทั้งประเทศ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ของเล่นของใคร หรือตระกูลใด นายกฯ คือหน้าตาคนทั้งประเทศ จะเที่ยวจับใครยัดมาเป็น เหมือนที่เคยเป็นมาคงไม่ได้ เป็นการตบหน้าประชาชนและสมาชิกรัฐสภา”

พูดแค่นี้ ก็รู้แล้วว่า ใคร เป็น “จุดอ่อน” ที่ส.ว.มองเห็น

“ได้เห็นมาเต็ม 2 ลูกตา ได้ยินมาเต็ม 2รูหู ว่าเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ จะเลือกอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ เป็นเรื่องของเพื่อไทย แต่พรรคผมและพวกผมไม่เลือกแน่นอน หมายความว่า ถ้าอุ๊งอิ๊งจะเป็นนายกฯ เพื่อไทยต้องรวมเสียงพรรคพวกตัวเองให้ถึง 376 เสียง และเสียงเหล่านั้นทุกคนต้องยอมรับตัวอุ๊งอิ๊ง ถ้าไม่ได้ 376 เสียง ทางเดินอุ๊งอิ๊งจะไปสู่ดวงดาวเป็นนายกรัฐมนตรีคงริบหรี่เต็มที

ไม่ใช่ดูถูกดูแคลน แต่เป็นเรื่องทางการเมืองที่เป็นจริง ไม่ใช่ปราศรัยหาเสียง ไม่ใช่โฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องทางการเมืองของคนจะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อถึงวันนั้นจะรู้เองว่า ใครตัวจริงเสียงจริง ไอ้ที่ตะโกนปาวๆ มันของเล่นของหลอก ไม่เช่นนั้นจะไม่มีชื่อ ส.ตัวใหญ่ โผล่ออกมา ที่เรียกร้องแลนด์สไลด์ ให้ 250 ส.ส.ปะทะ 250 ส.ว. ระวัง 250 ส.ว.จะแลนด์สไลด์ตีกลับ”

การแสดงความคิดเห็นของ นายวันชัย โดยอ้างเสมือนตัวเองได้ไปรับรู้ข้อมูลเบื้องลึกที่ ส.ว.พูดคุยกัน ในแวดวงที่มีอิทธิพลต่อส.ว.ด้วยกัน จนกล้ามองว่า เป็นตัวแทนส.ว.ได้นั้น ไม่เพียงทำเอาส.ว.หลายคนต้องออกมา โต้แย้งว่า ไม่ใช่ความเห็นที่เป็นตัวแทนของส.ว. ด้านพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง ทำนองว่า หนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจ และปลุกประชาชนเลือกเพื่อไทยให้ “แลนด์สไลด์” เพื่อเอาชนะส.ว.ไปเลย

ประเด็นของส.ว.วันชัย สะท้อนนัยสำคัญ สองเรื่อง หนึ่ง ต้องดูผลการเลือกตั้ง ว่าฝ่ายไหนจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ก็จะได้เป็นรัฐบาล สอง การโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ไม่ใช่ใครก็ได้ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หากแต่ส.ว.จะเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม กล่าวคือ เป็นคนดี มีภาวะผู้นำ เป็นหน้าตาของคนไทย และของประเทศ ไม่ใช่ของเล่นของใคร หรือ ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

“ตามมารยาท ส.ว.ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ถ้าเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ส.ว.ก็ต้องยกมือให้ ส.ว.จะไปค้านเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้อย่างไร”

“ยกเว้นต้องเลือกคนที่มีขีดความสามารถ คนเก่ง คนดี มาเป็นนายกฯ อยู่ในตะกร้า ไม่อย่างนั้น ส.ว.อาจจะงดออกเสียง และต้องเลือกใหม่ ถึงแม้ว่า ส.ว.จะไม่ค้านเสียงส่วนใหญ่ แต่แค่ ส.ว.งดออกเสียงก็ยุ่งแล้ว ถ้าเสนอคนไม่ดีมาเป็นนายกฯ ส.ว.อาจจะรวมพลังกันงดออกเสียง ยุ่งเลยนะ ต้องเปลี่ยนคนใหม่ ถ้า ส.ว.งดออกเสียง เสียงไม่ถึง 375 เสียง ยุ่งนะ” หนึ่งในส.ว.แสดงความเห็นผ่านสื่อบางสำนัก

ประเด็นก็คือ สมมุติบางพรรคชนะเลือกตั้งเกิน 250 ที่นั่ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า ในบัญชีรายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค มีคนที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ว.อาจใช้วิธีงดออกเสียง เพื่อให้เปลี่ยนตัวบุคคลลำดับรองลงไป หรือ ไม่ก็เปลี่ยนเป็นของพรรคอื่นกรณีเสนอชื่อเพียงคนเดียวได้

จึงไม่แปลกที่มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมเอาไว้ถึง 3 รายชื่อ นอกจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็อาจด้วยเหตุนี้?

ขณะเดียวกัน ความเห็นของ “ตู่ -จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธาน นปช. หรือ “คนเสื้อแดง” ในฐานะวิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “ตีเนียน” พูกถึงประเด็น ความเหมาะสมที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ก็นับว่าน่าสนใจ

โดยนายจตุพร ชี้ให้เห็นว่า หาก “อุ๊งอิ๊ง” ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีจริง ต้องฉายความพร้อมที่จะเป็นออกมา โดยผ่านกระบวนการความคิด เพื่อให้คนก้าวข้ามการวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติแค่เป็นลูกสาวทักษิณ แสดงความสามารถให้ประชาชนเห็นศักยภาพ ทั้งคิดเป็น ทำเป็น และแก้ไขปัญหาเป็น เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในประเทศได้

“ต้องยอมรับว่า ถึงวันนี้ ผมยังไม่เห็นแววอุ๊งอิ๊งเหมาะกับการเป็นนายกฯ ตัวจริงของประเทศได้เลย เพราะนายกฯ ตัวจริง เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเป็นนายกฯ แล้วรอการตัดสินใจจากคนที่เห็นแค่ภาพ ไม่ได้อยู่หน้างาน จะตัดสินใจผิดพลาดและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง”

“จตุพร” กล่าวอีกว่า วันนี้การเป็นนายกฯ ตามอารมณ์ความรู้สึกที่โพลสำรวจนั้น แม้เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคนจะเป็นนายกฯ ได้ ต้องมีความบริบูรณ์มากกว่าคะแนนเสียง อีกทั้งที่ผ่านมา การเมืองไทยคนที่ถูกยกย่องเหมาะเป็นนายกฯ มักอายุเกิน 40 ปีทั้งสิ้น หากอุ๊งอิ๊งได้เป็นแล้ว ก็จะเป็นนายกฯ คนแรกของประเทศที่อายุไม่ถึง 40 ปี

อีกอย่าง นายกฯ ที่ผ่านมานั้น เมื่ออายุไม่ถึง 40 ปี ยังไม่กล้าเป็นนายกฯ แม้ทางการเมืองจะเปิดโอกาสให้ก็ตาม เช่น กรณีของนายปรีดี พนมยงค์ ที่มีความรู้มากมาย เป็นต้น ดังนั้น การกล้าคิดเป็นนายกฯตัวจริง คงไม่มีใครรู้จักตัวเองเท่ากับ “อุ๊งอิ๊ง” รู้จักแน่นอน ว่าจะเป็นได้หรือไม่

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. แสดงความคิดเห็นกับสื่อบางสำนัก เกี่ยวกับการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ของ ส.ว. ว่า การโหวตของ ส.ว.ไม่มีแบ่งข้าง เรื่องการโหวตฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเรื่องที่ “มโน” กันไปเองมากกว่า

เพราะสังเกตการโหวตของ ส.ว.ในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะลงมติเลือกองค์กรอิสระ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือวาระที่ไม่สามารถเปิดเผยการลงมติได้ จะเห็นว่า ส.ว.ไม่มีการแบ่งข้างใดข้างหนึ่ง แต่ ส.ว.มีวุฒิภาวะในการลงมติว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองมากกว่า

ทั้งนี้ “สมชาย” ย้อนไปถึงการเลือกนายกฯเมื่อปี 2562 ว่า ถ้าตอนนั้น พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงข้างมาก เป็นพรรคอันดับหนึ่ง เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของตัวเอง เช่น เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เชื่อว่าจะมี ส.ว.จำนวนหนึ่งยกมือสนับสนุน แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับไปเสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคอันดับสาม จึงไม่โหวตให้

ส่วนหลังการเลือกตั้ง 2566 “ส.ว.สมชาย” คาดการณ์สูตรจัดตั้งรัฐบาลว่า จะมี 3 สูตร 2 ขั้ว

สูตรแรก ขั้วรัฐบาลเดิม อันประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคหลักๆ จะมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลเป็นรอบที่ 2 ซึ่ง “สมชาย” ให้น้ำหนักกับสูตรนี้มากที่สุด เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังมีการแบ่งขั้วในลักษณะแบบเดิมชัดเจน

และการเลือกนายกฯในสภา จะไม่ใช่การแข่งกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล เพราะทั้ง 3 พรรคหลักของรัฐบาลจะขาดพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ ยังต้องการเสียงของกันและกันในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะแข่งกันไม่ได้เลย

สูตรที่ 2 ขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันพลิกมาจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เป็นตัวนำ ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

“สมชาย” เห็นว่า สูตรนี้ไม่ใช่ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยยังมุ่งแต่จะเอาพ่อกลับบ้าน โดยไม่ต้องมารับโทษทางคดี เชื่อว่า ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าพรรคก้าวไกล ยังต้องการล้มรัฐธรรมนูญ แก้รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย ดังนั้นจะต้องให้คำมั่นกับสังคมก่อนว่าจะไม่แตะต้องเรื่องพวกนี้

สูตรที่ 3 คือ พรรคพลังประชารัฐ จับมือกับพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาลเป็นขั้วที่ 3 ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่เป็นไปได้ยาก และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะมารวมกันในขณะนี้

ในฐานะที่อยู่ในสภาสูงมา 16 ปี และเป็นแกนหลักของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการเสนอ “คำถามพ่วง” ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตอนทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 “สมชาย” เดาทาง ส.ว.ในการโหวตนายกฯว่า

หนึ่ง - ถ้าฝ่าย ส.ส.ชูใครมาเป็นนายกฯ แล้วรวมเสียงไม่ได้ 250 เสียง ส.ว.ก็จะไม่โหวตให้ จะมาหวังให้ได้ 125 เสียง แล้วมารวมกับ ส.ว. 250 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 375 เสียง เป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ว.รู้ว่า ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เปิดสภาวันเดียว ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็แพ้แล้ว

สอง - ถ้าไม่อยากให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ก็รวบรวมเสียงให้ได้เกิน 375 เสียง เท่านั้น ส.ว.ก็ร่วมโหวตนายกฯ ด้วยไม่ได้แล้ว ส.ว.ยึดรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง

ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ กระแส “ต่อสู้” ทางการเมือง กระแสหลักอยู่ในเวลานี้ ยังคงหนีไม่พ้น ฝ่ายหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวเลือกรอง? โดยวัดกันที่ผลเลือกตั้ง ว่าใครจะได้ที่นั่งส.ส.มากกว่ากัน และการยอมหลีกทางให้กันละกัน

 

กับฝ่ายหนุน “อุ๊งอิ๊ง” และพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยมี “ทักษิณ” เป็น “คนคุมเกม” ฝ่ายนี้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และเมื่อรวมเสียงพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน จะทำให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงขึ้นไป อย่างที่ “ทักษิณ” วาดหวังเอาไว้

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสการเคลื่อนไหวทั้งสองฝ่าย จึงถูกจับตามองอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็น การย้ายพรรคของส.ส. ที่ยังไม่หยุดนิ่ง ซึ่งนับวันพรรครวมไทยสร้างชาติ จะกลายเป็นพรรคเนื้อหอม หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าร่วมทางการเมือง

ขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่า คู่ต่อสู้ทางการเมือง ที่ “อุ๊งอิ๊ง” และพรรคเพื่อไทย รวมทั้ง “ทักษิณ” โจมตีอย่างหนัก ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง

นั่นแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ ฝ่าย “ทักษิณ” กลัวที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ สังกัดพรรคเกิดใหม่ อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ดูเหมือนรังสีอำมหิต ก็ยังคงไม่อาจประมาทได้อยู่ดีนั่นเอง

ยิ่ง “ส.ว.” ออกมา ตั้งเงื่อนไขโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี”เอาไว้ สวนกระแส “อุ๊งอิ๊ง” และพรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์ แล้วด้วย ยิ่งเห็นได้ชัดว่า “ส.ว.” จะแลนด์สไลด์ไปที่ใคร

และยิ่งพักหลัง “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง” ต่างก็ถูกกระแสโจมตีอย่างหนัก ฝ่ายแรก นอกจากเรื่อง “ทุจริต” ที่เป็นคดีติดตัว การออกมาแฉอย่างต่อเนื่องของ “จตุพร” ยังทำให้เห็นธาตุแท้ ที่ทำลายความเชื่อมั่นหลายอย่าง จนแม้คนรักก็ยังอาจรักอยู่เหมือนเดิม แต่คนชัง ก็ยิ่งชังเข้าไปใหญ่ ส่วนฝ่ายหลังที่ชาวเน็ตแชร์กันให้ว่อนก็คือ คลิปการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษของ “อุ๊งอิ๊ง” ที่มีศัพท์ง่ายๆบางคำ แต่พูดเป็นภาษาไทยปนอังกฤษ เหมือนคน “ไม่เก่งภาษาอังกฤษ” แต่อยากโชว์อะไรประมาณนั้น จนกลายเป็นกระแส “ลบ” ที่ถูกหยิบยกมาเทียบคุณสมบัติ “นายกรัฐมนตรี” ของฝ่ายที่ต้องการ “ดิสเครดิต” อย่างสนุกสนาน อย่างนี้มีหรือ คนที่ต้องการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจะไม่หวั่นไหว?

อย่าลืมว่าทุกข้อผิดพลาด ล้วนมีผลต่อคะแนนเสียง และตำแหน่งนายกฯ?

นี่ยังไม่นับว่า ช่วงใกล้เลือกตั้งเข้ามาจริงๆ ระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ กับ “อุ๊งอิ๊ง-ทักษิณ-เพื่อไทย” ใครจะถูกกรีด “แผลเป็น-แผลสด” มากกว่ากัน

รวมทั้งกระแส “เอา-ไม่เอาทักษิณ” ก็อาจตามมา “ปิดเกม” หาก “อุ๊งอิ๊ง” และเพื่อไทย ยังไม่มี “จุดขาย” ใหม่ นอกจาก “ลูกทักษิณ-หลานอาปู”