กสม.นับถอยหลังติดตามแก้ไขคน “ไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ” ขีดเส้นเสร็จปี 67

กสม.นับถอยหลังติดตามแก้ไขคน “ไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ” ขีดเส้นเสร็จปี 67

กสม. นับถอยหลัง ติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในไทย ขับเคลื่อนเรื่อง “สถานะบุคคล” แก้ไขประเด็น “ไร้สัญชาติ” ขีดเส้นเสร็จปี 2567

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า  กสม. ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ชุดปัจจุบัน ได้พิจารณาและกำหนดให้ประเด็น “สถานะบุคคล” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะขับเคลื่อนและสร้างผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสม. โดยในการประชุมสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน ก.ย. 2565 กสม. และภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้ประเมินสถานการณ์สถานะบุคคล และพบข้อจำกัดหลักใน 2 ส่วน คือ 

1.ปัญหาต้นน้ำ จากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอพิสูจน์หรือแก้ไขสถานะบุคคล รวมถึงทัศนคติและความเข้าใจที่ผิดพลาดทั้งของประชาชนผู้ทรงสิทธิที่ยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานโดยตรง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางครั้ง มีการใช้ดุลพินิจ หรือสร้างภาระการพิสูจน์สถานะบุคคลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  

2.ปัญหาความล่าช้าของการตรวจพิสูจน์และการกำหนดสถานะบุคคล ทั้งจากขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่คล่องตัว จำนวนบุคลากรผู้ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ รวมถึงการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่ทำให้ระบบการทำงานสะดุดและขาดการฝึกฝนความเชี่ยวชาญต่อเนื่อง

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า จากการประชุมดังกล่าว กสม. ภาคีเครือข่ายด้านสถานะบุคคล ได้มีมติขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยติดตามเป้าหมาย “การขจัดการไร้รัฐ” ในปี 2567 ผ่านการประสานพลังภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เช่น การประสานความร่วมมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาสถานะให้กับผู้ที่มีคุณสมบัติ การเสริมสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาสำหรับกลุ่มชายขอบ อาทิ กลุ่มเด็กนักเรียนกลุ่ม G กลุ่มบุตรหลานติดตามแรงงาน กลุ่มภิกษุและสามเณรและกลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การเดินทาง และสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งมีแผนการสร้างเสริมศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในประเทศไทย เช่น การเร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคล การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลและสัญชาติ รวมถึงขั้นตอนการยื่นคำขอพิสูจน์สถานะบุคคล การนำเสนอการปรับปรุงโครงสร้างและกระบวนการงานทะเบียนและงานสถานะบุคคลที่กรมการปกครองรับผิดชอบ และการนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านสถานะบุคคลมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนงานด้านสถานะบุคคล

“ในโอกาสที่ปี 2567 เป็นปีเป้าหมายขจัดปัญหาการไร้รัฐให้หมดไปภายใน 10 ปี ตามโครงการ Global Campaign to End Statelessness by 2024 หรือ #IBelong แคมเปญ กสม.จะได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวของประเทศไทย ซึ่งในการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือน ก.ค. 2566 จะมีการติดตามสถานการณ์ และนำเสนอตัวเลขของการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติในภาพรวมของประเทศไทย นำเสนอต่อสาธารณะชนต่อไป” นายชนินทร์ กล่าว