“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

“พิธา” นำทัพก้าวไกลเปิดเวทีปราศรัย “บึงกาฬ-หนองคาย” เตรียมเลือกตั้ง 66 พบคนเดือดร้อนปัญหาที่ดินรัฐรุกล้ำทับซ้อน ชูนโยบายแก้ทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยแกนนำและ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมจัดเวทีพบปะประชาชนที่ประสบปัญหาประเด็นที่ดินรัฐรุกล้ำทับซ้อนที่ทำกินประชาชน และปัญหาจากกรรมสิทธิ์ ส.ป.ก. ที่จังหวัดบึงกาฬและหนองคาย พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในทั้งสองจังหวัดและจังหวัดข้างเคียงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน

ในช่วงเช้า ได้เปิดเวทีพบปะประชาชนที่ได้รับผลกระทบกรณีป่าสงวนดงสีชมพู ประกาศทับที่ทำกินประชาชนที่ตั้งรกรากมากว่า 60 ปีก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวน ที่บ้านเหล่าทองหลาง ต.เหล่าทอง อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเดินตลาด อ.เฝ้าไร่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการจัดการที่ดิน ส.ป.ก. ครอบคลุมเป็นวงกว้าง และเข้าเยี่ยมพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีถูกสั่งให้รื้อถอนออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน

“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

หลังจากนั้นพรรคก้าวไกลเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ที่วัดเฝ้าไร่วนาราม เน้นเรื่องนโยบายการจัดการที่ดินของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม โดยนายพิธา กล่าวทักทายชาวบ้านเป็นภาษาอีสานว่า “เป็นอย่างไรกันบ้าง สบายดีบ่ คิดฮอดหลายทาง จำกันได้อยู่บ่ ข้อยซื่อ ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย” เรียกเสียงเฮจากบรรดากองเชียร์

หลังจากนั้นนายพิธา กล่าวว่า หนองคายเป็นจังหวัดที่มีปัญหาที่ดินมากที่สุดในประเทศ มีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่น้อยที่สุด และครัวเรือนมีการออมน้อยที่สุด หากจะถามว่าทำไมคนหนองคายถึงออมไม่ได้เลย คำตอบอยู่ที่ “กระดุมเม็ดแรก” ก็คือเรื่องที่ดิน ที่ติดผิดกันมาตลอดเวลา นั่นคือเหตุผลที่พรรคก้าวไกล จะทลายความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถ้าติดถูกเมื่อไร ก็จะแก้ปัญหาอื่นได้ตามมา ปัญหาที่ดินในประเทศไทย สะท้อนผ่านการถือครองที่ดินของรัฐ ที่ถือครองอยู่กว่า 62% ของทั้งประเทศ ภายใต้การบริหารของกระทรวงถึง 8 กระทรวง ประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีที่ไหนเก็บที่ดินอยู่ในมือของรัฐมากขนาดนี้ ถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ด้วยนโยบายของเรา ประชาชนทั่วประเทศได้ที่ดินเพิ่ม 10 ล้านไร่แน่นอน

“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

นายพิธา กล่าวอีกว่า หนองคายมีพื้นที่อยู่ 2 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ที่มีโฉนดแค่ 1 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นที่ดินของรัฐ โดยเฉพาะเป็น ส.ป.ก. ถึง 5 แสนไร่ ปัญหาที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนรูปแบบที่ดินไปมาจากป่าเสื่อมโทรมมาเป็น ส.ป.ก. มาบัดนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงจาก ส.ป.ก. มาเป็นที่ราชพัสดุอีก บริหารที่ดินกันเป็นเก้าอี้ดนตรีจนประชาชนไม่มีที่ดินทำกิน ตามที่ตนกล่าวไว้ ว่าพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายเอาที่ดินออกจากมือรัฐให้เป็นของประชาชนให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านไร่ ซึ่งที่ดินรัฐมีมากมายหลายประเภทตั้งแต่ที่ทหาร ราชพัสดุ นิคมสหกรณ์ ที่สาธารณประโยชน์ ไปจนถึง ส.ป.ก. ซึ่งการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดคือจุดเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายสุด

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีที่ดิน ส.ป.ก. อยู่ 40 ล้านไร่ ส.ป.ก. เริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดี นั่นคือการกระจายที่ดินให้เกษตรกร เมื่อปี 2518 แต่เวลาผ่านไปนานสภาพเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไป เป็นสังคมเมืองมากขึ้น แต่การที่ ส.ป.ก. ยังคงแช่แข็งเงื่อนไขการใช้ที่ดินอยู่ที่เดิม กลายเป็นการสร้างข้อจำกัดที่ทำให้ประชาชนที่ทำมาหากินอย่างอื่น ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไปไม่ได้ และเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงก็ปรากฎชัดแล้วว่าได้ตกไปอยู่ในมือของนายทุนถึง 4 ล้านไร่ในปัจจุบัน

“สิ่งแรกที่เราจะทำ คือการเอา ส.ป.ก. ออกจากมือนายทุนมาคืนให้ประชาชน ผ่านกลไกธนาคารที่ดิน ที่รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกลไกการกระจายที่ดินสู่มือประชาชน ซึ่งธนาคารที่ดินนี้เอง ที่จะเป็นกลไกเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม เปลี่ยนจากสิทธิที่เป็นแค่สิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ในที่สุด” นายพิธา กล่าว

“พิธา” ปลุกเลือก “ก้าวไกล” แก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ เปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด

สำหรับนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดของพรรคก้าวไกลนั้น มีกลไกในการเปลี่ยนรูปผ่านธนาคารที่ดิน โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

(1) หากชื่อผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นชื่อตรงกัน สามารถออกโฉนดที่ดินได้ทันที โดยภายใน 5 ปีแรก สามารถโอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนองต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดินเท่านั้น

(2) หากชื่อผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับชื่อผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ตรงกัน จะออกโฉนดที่ดินได้ก็ต่อเมื่อ (ก) เป็นผู้ที่มีหลักฐานใช้ประโยชน์ที่ดินมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี (ข) เป็นผู้ที่มีหลักฐานข้อตกลงระหว่างผู้ได้รับสิทธิเดิมกับผู้ใช้ประโยชน์ และ (ค) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่นับรวมมูลค่าของที่ดิน ส.ป.ก. ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นโฉนด

(3) กรณีที่ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อการเกษตร จะรับการเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่

(4) กรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร จะรับการเปลี่ยนเป็นโฉนดได้เฉพาะผู้ที่ครอบครองที่ดินทุกประเภทรวมกัน รวมทั้ง ส.ป.ก. ด้วยไม่เกิน 50 ไร่ โดยภายใน 10 ปีแรกสามารถโอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนองต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดินเท่านั้น

(5) ที่ดินส่วนที่เกิน 50 ไร่ ตามเงื่อนไขข้างบน หรือที่ดิน ส.ป.ก. ที่ได้มาแบบผิดกฎหมาย จะถูกยึดคืนเข้าสู่ธนาคารที่ดิน เพื่อนำมากระจายให้กับประชาชน ตามวัตถุประสงค์ต่อไป