'เพื่อไทย-ก้าวไกล' เกมสะดุด 'อดีต ส.ส.' ตัดสินผลเลือกตั้ง?

'เพื่อไทย-ก้าวไกล' เกมสะดุด 'อดีต ส.ส.' ตัดสินผลเลือกตั้ง?

เกมการเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจะเข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” ในอีกไม่นาน พรรคการเมือง อย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เริ่มต่อสู้กันอย่างดุเดือด “ชิงพื้นที่ข่าว ชิงกระแส ชิงไหวชิงพริบกันอย่างเมามัน” และที่สำคัญ กลับมาต่อสู้กันอย่างสูสีมากขึ้น

จากเดิมดูเหมือนกระแส “สวิง” มาอยู่กับ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่ได้แรงผลักสุดเหวี่ยงจากกระแส “เบื่อประยุทธ์”

หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมา 8 ปี ถูกโจมตีว่า ไม่มีอะไรดีขึ้น และเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ทั้งยังส่อว่าจะมีการ “สืบทอดอำนาจ” เผด็จการทหารหรือไม่?

ทำเอาพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล “ขี่กระแส” โหมโรงเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับประชาชนเป็นการใหญ่ โดยวาดหวังประกาศชัยชนะของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพราะเชื่อมั่นว่า “จุดจบ” พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มาถึงแล้ว

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มี “คนแดนไกล” เคลื่อนไหว“คู่ขนาน” ในนาม “โทนี่ วู้ดซัม” ผ่าน “คลับเฮาส์” ที่ “CARE คิด เคลื่อน ไทย” จัดให้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า “ขุมสมอง” ใน “CARE” ก็คือ “อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นส่วนใหญ่

ไม่ปล่อยให้ “โอกาสทอง” หลุดมือ ชิงเดินเกมต่อเนื่อง โหมกระแส “โจมตี” ขยี้ซ้ำ ขั้น “เอาตาย” พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายรัฐบาล โดยทุกการเพลี่ยงพล้ำของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือ ประเด็นที่ “CARE คิด เคลื่อน ไทย” นำมาเป็นประเด็น ให้ “โทนี่” ขยี้ซ้ำ วิเคราะห์วิจารณ์

นี่คือ การสื่อสารกับ “คนรุ่นใหม่” วัยทำงาน ฐานเสียงกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในปัจจุบัน ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับ โทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เน็ต ถือว่า ออกแบบการยึดครองฐานเสียงกลุ่มนี้ได้ดีเลยทีเดียว

ขณะที่อีกด้านของ “พรรคเพื่อไทย” ไม่เพียงตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ” เป็น “ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม” และตามด้วย “หัวหน้าครอบครัว” พรรคเพื่อไทย ในเวลาต่อมา เพื่อปลุกกระแส “คนรักทักษิณ” กลับมา โดยเสนอจุดขาย “ลูกสาวทักษิณ” ก็คือ “ทักษิณ”

ทั้งยังประกาศรื้อฟื้นสายสัมพันธ์ครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึง “เพื่อไทย” เพื่อที่จะ “ยึดโยง”ฐานเสียงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “แฟนคลับ” ยุคใดก็ตาม

รวมทั้งรื้อฟื้นสายสัมพันธ์กับ “คนเสื้อแดง” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยตั้ง “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ “นปช.” หรือ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” เป็น ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย

พร้อมกับ “โหมกระแส” ชนะเลือกตั้งครั้งหน้าแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” และ “เต้น-ณัฐวุฒิ” ยังปลุกกระแสเลือกเพื่อไทยแบบ “ยุทธศาสตร์” ทันควัน กล่าวคือ เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตยที่มีโอกาสชนะ ให้ได้ที่นั่งมากที่สุด จน “ส.ว.” 250 คนไม่กล้า “ฝืนกระแสประชาชน” เพื่อปิดประตู “เผด็จการสืบทอดอำนาจ”

กรณีรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล กำหนดให้ “ส.ว. 250 คน” ยังมีอำนาจโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” เป็นปีสุดท้าย ดังนั้นใครกุมฐานเสียงส.ว.ในมือได้มาก ก็จะได้เปรียบ

จากนั้นที่สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน ก็คือ การประกาศนโยบาย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และคนจบปริญญาตรีเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท โดยมีทั้งกระแส “ขานรับ” จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้ประโยชน์ และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หาเสียงเกินจริง และยากที่จะทำได้ ก่อนที่จะแก้ตัวว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ ภายใน 5 ปีมีความเป็นไปได้

ทั้งหมด ถือว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ดีกว่าทุกพรรค เพราะไม่ต้องห่วงหน้าพวงหลัง เหมือนหลายพรรคที่มีปัญหาภายในพรรค และไม่ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาประชาชน นอกจากการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

อีกพรรคคือ พรรคก้าวไกล หรือ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล หลังพรรคอนาคตใหม่ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจาก คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้กู้เงินกับพรรคอนาคตใหม่ 191 ล้าน จนเข้าข่าย “ครอบงำพรรค”

พรรคก้าวไกล ซึ่งมี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ดำเนินนโยบายพรรคสานต่อเจตนารมณ์ของ พรรคอนาคตใหม่ โดยมี “มวลชนสามนิ้ว” เคลื่อนไหวนอกสภา “คู่ขนาน”

ถ้ายังจำกันได้ “มวลชนสามนิ้ว” เกิดจาก “แพลชม็อบ” ของนายธนาธร นั่นเอง

โดยกิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า “เมื่อเสียงที่พวกเราเลือกเข้าสภาไม่มีค่า ได้เวลาประชาชนออกมาส่งเสียงด้วยตัวเอง” เมื่อเวลา 17.00 น.(วันที่ 14 ธ.ค.62) บริเวณลานสกายวอล์ก เขตปทุมวัน หลังจากนายธนาธร นัดหมายประชาชนให้เข้าร่วม “แฟลชม็อบ” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (13 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีหัวหน้าพรรคปล่อยเงินกู้ให้พรรค 191.2 ล้านบาทเพื่อทำกิจกรรมช่วงเลือกตั้ง

วันนั้น นายธนาธร ยืนบนเก้าอี้ตัวเดียว ปราศรัยผ่านโทรโข่ง ก่อนเปลี่ยนมาใช้เครื่องขยายเสียงในช่วงท้าย

“ถ้าไม่ลงถนนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว เพราะว่ามี (คน) เยอะเกินไป... เดือนหน้าได้ลงถนนแน่ ๆ ไม่ต้องรีบร้อน ซ้อมวิ่งได้เลย” นายธนาธรกล่าว เรียกเสียงฮือฮาจากมวลชนที่พากันตะโกนกลับไปว่า “ลงเลย ๆ ๆ”

 

หลังจากนั้น การเคลื่อนไหวของ “มวลชนสามนิ้ว” ก็ลงสู่ท้องถนน และเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” และยกเลิกม.112

กระทั้งวันนี้ “มวลชนสามนิ้ว” ก็คือ แนวร่วมทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ที่เข้มข้นและเข้มแข็งที่สุดนั้นเอง

แน่นอน, “พรรคก้าวไกล” ก็ไม่ต่างจาก “พรรคเพื่อไทย” ที่เริ่ม “มีความหวัง” จากกระแส “เบื่อประยุทธ์” เพราะถือว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ และเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ด้วยกัน

แต่พรรคก้าวไกล ดูเหมือนยึดโยงกับฐานเสียงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าพรรคเพื่อไทย เพราะมี “จุดยืน” ที่ชัดเจน สอดรับกับกระแสความต้องการของคนรุ่นใหม่ ทั้งยังสนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และ “ส.ส.” ของพรรคก้าวไกล ยังใช้ตำแหน่งในการประกันตัว ผู้ต้องหาหลายคนที่ถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

อะไรไม่สำคัญเท่ากับ “พรรคก้าวไกล” เป็นพรรคเดียวก็ว่าได้ ที่ประกาศนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 (กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ) และม.116 (กฎหมายว่าด้วยเรื่องความมั่นคง) เพื่อให้ประชาชนตัดสิน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อันสอดรับกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องหลักของเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือ “ม็อบสามนิ้ว”

และที่สำคัญ “พรรคก้าวไกล” ถือว่า เป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ วิธีคิด วิธีทำงาน การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ความพยายามสร้างมิติใหม่ทางการเมือง มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงประเทศ

เช่นเดียวกัน เกมการเมืองของพรรคก้าวไกล เดินมาด้วยดีตลอด และทำท่าว่าจะสร้างปรากฏการณ์จับขั้วกับ “เพื่อไทย” ตั้งรัฐบาล “ฝ่ายประชาธิปไตย” ได้ไม่ยากนัก เพราะถ้ากระแสไม่ “สวิงกลับ” โอกาสที่ทั้งสองพรรคจะโกยที่นั่งส.ส. ก็มีความเป็นไปได้สูง

แต่ปรากฏว่า “ทั้งสองพรรค” ต้องมา “สะดุด” เหตุการณ์คล้ายคลึงกัน และโดยบังเอิญมาเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย

นั่นคือ ถูก “คนใน” ที่รู้ไส้รู้พุงกันมาก่อน ออกมาแฉ “ความไม่น่าเชื่อถือ” ภายในพรรค

หนักสุดคือ พรรคเพื่อไทย จากเดิมที่ “ทักษิณ” มีคดีมากมายติดตัวอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็น “คดีทุจริตเชิงนโยบาย” เอื้อประโยชน์ตัวเอง และพวกพ้อง สะท้อนความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ จนนำไปสู่การประท้วงขับไล่ “ทักษิณ” ก่อนที่จะถูกรัฐประหารในปี 2549 

ยิ่งกว่านั้น การไม่ยอมแพ้ของ “ทักษิณ” แม้ว่าตัวเองจะหนีโทษหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ “โจมตี” บุคคลสำคัญระดับสูง และความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย รวมถึงการ “อยู่เบื้องหลัง” การต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง” ภายใต้การขับเคลื่อนเกมของ “นปช.” 

 

เรื่องนี้ แม้ว่า ประชาชนคนไทยที่เป็น “คอการเมือง” จะรู้ดี และรู้ทันมาตลอด แต่เชื่อว่า คนไทยอีกจำนวนมาก ยังเชื่อ อย่างที่ “ทักษิณ” ต้องการให้เชื่อว่า เขาถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ ผู้มากบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

แต่พอเรื่องทั้งหมด ถูก “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. หรือ ประธานคนเสื้อแดง ออกมาแฉ หลังเจ้าตัวขัดแย้งขั้นแตกหัก ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น จึงทำให้ “กระแสพรรคเพื่อไทย” ที่กำลังปั่นขึ้น แลนด์สไลด์มาแรง ต้องสะดุดหยุดลงทันควัน

“จตุพร” อ้างสาเหตุที่ออกมาแฉเพราะตัวเองถูก “ทักษิณ” ทรยศ โกหกมาตลอด แต่ทนได้ ยอมติดคุกติดตะรางเพื่อ “ทักษิณ” แต่การถูกกล่าวหาลับหลัง ว่าไปรับงานใครมาที่ฮ่องกง คือ ฟางเส้นสุดท้าย

สิ่งที่ “จตุพร” นำมาแฉเป็นตอนๆ ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ “ประเทศไทยต้องมาก่อน” มีหลายเรื่องที่ทำให้เห็นตัวตนของ “ทักษิณ” ที่ทำกับ “ทุกเรื่องทุกคน” เพื่อตัวเอง

เรื่อง ใหญ่ที่สุด ที่พอแฉออกมาแล้ว “มีผลกระทบสูง” ก็คือ กรณีเจรจากับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อหาทาง “ยุติ” การชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่ “ทักษิณ” ไม่ยอมให้ยุติ อ้างไม่ได้อะไร ถ้ายุติจะมีคนอีกกลุ่มเข้ามายึดเวที จนทำให้ “จตุพร” ต้องตัดสินใจสู้ต่อ เพื่อลดความสูญเสียและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นก็คือ การใช้มวลชนคนเสื้อแดง เป็นตัวประกัน “ต่อรอง” เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่คิดถึง “ความรุนแรง” ที่จะเกิดขึ้น

เรื่อง นิรโทษกรรมสุดซอย หรือ นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ “คนเสื้อแดง” ที่ติดคุก แต่ “ทักษิณ” กลับผลักดันชื่อตัวเอง สอดไส้เข้าไปด้วย ซึ่งเป็นคดีทุจริต ไม่ใช่คดีการเมือง ทำให้ถูกต่อต้านอย่างหนัก จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็อยู่ไม่ได้ ที่สำคัญ แทนที่มวลชนคนเสื้อแดง จะรอดพ้นจากคุก กลับต้องติดคุก เพราะไม่มีกฎหมายนิรโทษมาจนทุกวันนี้

ประเด็นก็คือ การ “ทิ้งมวลชนคนเสื้อแดง” ที่ต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ทั้งที่มีทางเลือกที่จะช่วยมวลชนก่อน แต่กลับเอาตัวเองรอดไว้ก่อน

 

หรือแม้แต่การปลุกคนเสื้อแดงสู้เพื่อตัวเอง ด้วยถ้อยคำ “โกหก” อย่างกรณี “โฟนอิน” เข้ามาในเวทีเสื้อแดงว่า ถ้าเสียงปืนแตกนัดเดียวจะกลับมานำมวลชนต่อสู้ด้วยตัวเอง แต่เสียงปืนแตกไม่รู้กี่นัด ก็ไม่เห็นแม้แต่เงา

ไม่นับการออกมา “ดิสเครดิต” ตอกย้ำ พฤติกรรมหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง อีกหลายอย่าง จน “ทักษิณ” กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ก็ไม่รู้ว่า อะไรจะถูกแฉตามมาอีก จึงส่งสัญญาณไม่ให้คนในพรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้

แต่หลายตอนที่ “จตุพร” นำมาแฉและขยี้ซ้ำ จนถ้าเป็นนักมวยก็คงถูกนวดน่วมไปทั้งตัว ที่สำคัญ ถือเป็นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ รวมทั้งคนที่ไม่เคยรับรู้การเมืองมาก่อน ก็ได้รู้เช่นเห็นชาติมากขึ้น มีหรือจะไม่มีผลกระทบอย่างรุนแรงกับพรรคเพื่อไทย?

ขณะที่พรรคก้าวไกล กรณีนายคริส โปตระนันทน์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ(8 ก.พ.66) ชี้แจง การลาออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2566 ถือว่า ฉีกหน้ากากความเป็นประชาธิปไตยของพรรค ซึ่งกล่าวอ้างมาตลอด

“คริส” อ้างเหตุผล 3 ประการคือ 1.อยากจะทำการเมืองในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยของพรรคยังห่างจากที่พรรคโฆษณาอีกมาก การที่ได้มาร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ไม่ได้มาทำการเมืองเพื่อให้ใครได้เป็น ส.ส. หรือเพื่อให้ใครได้อำนาจ หรือมาทำการเมืองเพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของใครบางคน

 

“ผมอยากได้พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เวลาจากวันนั้นถึงวันผ่านมา 5 ปี ต้องถามกลับไปที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 60,000 คน ว่าทราบบ้างหรือไม่ว่า พรรคมีประชุมสามัญวันไหน พรรคมีการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.กันอย่างไร กลไกในการคัดเลือกนโยบายที่จะหาเสียงในคราวนี้ คุณเคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่? ใครจะได้เป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณรู้หรือไม่ ผมในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกตลอดชีพทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ตอบได้เลยว่า เรื่องทั้งหมดที่เป็นเรื่องสำคัญมากทั้งสิ้น ล้วนเป็นเรื่องของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ผมให้ชื่อเล่นกลุ่มนี้ว่า โปลิตบูโร”...

2.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลายประการของพรรคก้าวไกล เพราะพรรคอนาคตใหม่ที่ร่วมจัดตั้ง ต้องสามารถโอบรับความเห็นหลากหลาย ไม่ว่าการเมืองแบบฝั่งซ้าย ฝั่งขวา ความคิดเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม สังคมนิยม โดยมีจุดร่วมสำคัญคือไม่เอาเผด็จการ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะนั้นยังไม่ใช่วาระของพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ

แต่ 5 ปีผ่านมา วันนี้นโยบายของพรรคก้าวไกลหล่นมาจากฟ้า หล่นมาจากห้องแอร์ โดยเฉพาะนโยบายหาเสียงสำคัญสุดคือ เงินบำนาญของคนอายุเกิน 60 ปี ที่ใช้งบประมาณกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นประเทศไทยเตรียมฉิบหายได้เลย ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ถ้าอยู่ในพรรคจะทำได้อย่างไรนอกจากอยู่เงียบ ๆ 

3.ตนไม่สามารถโกหกประชาชนได้ ครั้งนี้จะลงสมัคร ส.ส.อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถลงกับก้าวไกลได้ เพราะถ้าชนะการเลือกตั้ง เท่ากับโกหกประชาชน พูดนโยบายที่ตนไม่เชื่อ พูดถึงพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการ จะพูดถึงพรรคได้เต็มปากอย่างไร

“พรรคบอกว่า พรรคเป็นพรรคของประชาชน แต่ตอนนี้พรรคกำลังจะกลายเป็น “พรรคพวก” คนที่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนหนึ่งกำลังได้เป็นต่อในสมัยหน้า หาก “โปลิตบูโร” ถูกใจ ยังงั้นหรือ หากพรรคจะเป็นพรรคของประชาชนจริงๆ พรรคต้องกล้าทำตามข้อเสนอ Set Zero ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล (เลขาธิการคณะก้าวหน้า) พรรคต้องกล้าเปิดให้สมาชิกโหวตผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทางตรงอย่างโปร่งใส เพื่อพิสูจน์กับประชาชน ว่านี่คือพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมืองของโปลิตบูโร ไม่ใช่พรรคการเมืองของพรรคพวก”...

ประเด็นสำคัญคือ “คริส” เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และถือเป็น “คนใน” ที่พอออกมาแฉพฤติกรรมของพรรค ความน่าเชื่อถือจึงมีสูงกว่าคนภายนอก หรือ คนที่สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว

ยิ่งกว่านั้น ยังดูเหมือนเป็นการ “ตอกย้ำ” สิ่งที่อดีตสมาชิกพรรคหลายคนออกมาแฉก่อนหน้านี้ ความไม่เป็นประชาธิปไตยของพรรค และการตัดสินใจภายในพรรคของคนไม่กี่คนด้วยเช่นกัน

กลับกัน ท่ามกลางกระแสพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลสะดุด ปม “คนใน” ออกมาสาวไส้พรรคตัวเอง พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน กลับหาเสียงกันอย่างคึกคัก และดูดส.ส.เข้าพรรคเป็นการใหญ่

ทั้งยังดูเหมือน หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โจมตีกลุ่มอำนาจปัจจุบัน โดยเฉพาะ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” สืบทอดอำนาจเผด็จการ พรรคตัวเอง ก็กำลังถูกแฉว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเป็นคนอย่างไร เป็นประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่

จึงทำให้น่าคิดว่า “จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ทางการเมืองของทุกพรรค ทุกฝ่าย แทบไม่มีอะไรต่างกันมากนัก และยังดูเหมือนแต่ละพรรคต่างก็มี “กลุ่มเป้าหมาย” ของตัวเอง “เป็นตัวตั้ง”ในการได้รับเลือกตั้ง ส่วนที่จะปลุกกระแสความนิยมพรรค เพื่อให้ได้แนวร่วมจากคนทั้งประเทศ ถือว่า ยาก!

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ พรรคที่ได้เปรียบ และมีโอกาสชนะเลือกตั้งทั่วประเทศ ก็คือ พรรคที่สามารถรวบรวม ส.ส., อดีต ส.ส. ซึ่งมีฐานเสียง “เหนียวแน่น” เป็นทุนเดิมอยู่ในมือเพียงพอที่จะได้รับเลือกตั้ง ได้จำนวนมาก อย่างที่หลายพรรคกำลังทำอยู่ในเวลานี้

ทั้งยังน่าคิดว่า โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะชนะเลือกตั้ง “แบบขาดลอย” จน “แลนด์สไลด์” เริ่มเห็นชัดว่า ยากเป็นไปได้ และถ้าดูจากการย้ายพรรคของส.ส. ตั้งแต่ต้นมาจนถึงวันนี้ พรรคที่เป็น “บิ๊กเนม” ก็ยังมีความเคลื่อนไหว “เข้า-ออก” ไม่หยุดนิ่ง

ด้วยเหตุนี้ การจับขั้วการเมืองในอนาคต จึงอยู่ที่ผลการเลือกตั้งเป็นสำคัญ เพราะยากที่จะเอากระแสพรรคมาเป็นตัวตัดสินอีกต่อไปแล้ว?