ไร้เหตุวินิจฉัย! ศาล รธน.จำหน่ายคดี “แกร็บแท็กซี่” ร้องตีความ พ.ร.บ.รถยนต์

ไร้เหตุวินิจฉัย! ศาล รธน.จำหน่ายคดี “แกร็บแท็กซี่” ร้องตีความ พ.ร.บ.รถยนต์

“ศาลรัฐธรรมนูญ” สั่งจำหน่ายคดี “แกร็บแท็กซี่” ร้องตีความ พ.ร.บ.รถยนต์ ปมห้ามใช้รถไม่ตรงประเภทที่จดทะเบียน-จำกัดสิทธิบุคคล ชี้ไม่มีเหตุให้วินิจฉัย

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมปรึกษาคดีสำคัญและเป็นที่สนใจ กรณีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 (4) และมาตรา 60 ขัดหรือแย้ง ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่

จากกรณีศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องสอด (บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด) ในคดีหมายเลขดำที่ 2001/2561 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 (4) และมาตรา 60 เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท" ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่

โดยผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ผู้ร้องสอดในศาลปกครองกลางกล่าวอ้างในคำร้องว่า พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 (4) ที่บัญญัติ “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” นั้น เป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในการใช้รถยนต์ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง โดยไม่ผ่านกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนแล้วปรากฎว่า ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้ กระทรวงคมนาคมไม่มีการออกกฎกระทรวงใดที่อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 (4) จึงเป็น ข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นหลังจากที่ศาลสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อยังไม่มีการออกกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีองค์ประกอบที่จะเป็นบทกำหนดโทษตามความในมาตรา 60 เฉพาะส่วนที่บัญญัติให้ระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทกับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 (4) ดังที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้าง

กรณีไม่มีเหตุที่ศาลจะต้องพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี

ภาพประกอบจาก : https://www.grabdriverth.com/