"วาโย" สวน "อนุทิน" ออกเกณฑ์ผู้ค้า-ผู้เสพยาเสพติดใหม่ มีงานวิจัยรองรับไหม

"วาโย" สวน "อนุทิน" ออกเกณฑ์ผู้ค้า-ผู้เสพยาเสพติดใหม่ มีงานวิจัยรองรับไหม

“วาโย” ถาม “อนุทิน” ออกเกณฑ์ผู้เสพ-ผู้ค้า ยาบ้าใหม่ มีงานวิจัย-ข้อมูลรองรับหรือไม่ว่าแก้ปัญหาได้ ชี้เกณฑ์ปัจจุบันช่องโหว่มากพอแล้ว ขัดเจตนารมณ์มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย แนะใช้กระบวนการทางอาญาพิสูจน์ทราบ คัดแยกตามหลักกฎหมายอาญา ย้ำระยะยาว แก้ต้นตอโครงสร้างสังคม

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ประกาศเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์กำหนดการครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้าว่า อาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาเกณฑ์การพิจารณา ในการแยกตัวผู้เสพออกจากผู้ค้า เพื่อรับการบำบัดที่ปัจจุบันเกณฑ์ดังกล่าวก็มีปัญหามากอยู่แล้ว

นพ.วาโย กล่าวว่า นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา วางอยู่บนหลักการที่ว่าต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า โดยถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ไม่ใช่อาชญากร ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว แต่วิธีการที่ใช้ในการแยกตัวผู้เสพออกจากผู้ค้าที่ผ่านมามีปัญหาอยู่มาก เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน (assumption of law) ว่าผู้ที่ครอบครองเกินกว่า 15 หน่วยการใช้ ถือว่าเป็นผู้ค้า
ปัญหาของเกณฑ์แบบนี้ คือการแยกผู้ค้าออกจากผู้เสพจะทำได้ยากหรือไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะหากตัดเม็ดยาบ้าให้เป็น 4 ขา ก็นับเป็น 4 หน่วยการใช้ ถ้าบุคคลคนหนึ่งที่เป็นเพียงผู้เสพ มียาบ้า 4 เม็ด แต่ตัดเป็นเม็ดละ 4 ขา จะกลายเป็นว่าคนๆ นั้นมี 16 หน่วยการใช้ และต้องถูกตีความให้เป็นผู้ค้าทันที เป็นการตีกรอบที่ส่งผลต่อดุลพินิจในการพิจารณาคดี ให้ศาลต้องตีความได้ประการเดียว ว่าผู้ครอบครองเกินเกณฑ์ 15 หน่วยการใช้ต้องถูกนับให้เป็นผู้ค้าเท่านั้น ทั้งที่หากสืบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลไป อาจจะเป็นเพียงแค่ผู้เสพหรือผู้ป่วยที่ควรจะต้องได้รับการบำบัดมากกว่าการเอาไปขังก็ได้

\"วาโย\" สวน \"อนุทิน\" ออกเกณฑ์ผู้ค้า-ผู้เสพยาเสพติดใหม่ มีงานวิจัยรองรับไหม

นพ.วาโย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมางานวิจัย การศึกษา และสถิติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ยังได้บ่งชี้ตรงกันว่าการใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อนเช่นนี้ ไม่ได้ผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเพียงพอ และยังก่อให้เกิดผลในทางกลับกัน คือคดียาเสพติดและจำนวนผู้ต้องขังคดีค้ายาเสพติดที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการผลักให้ผู้เสพซึ่งควรเป็นผู้ป่วย ให้กลายเป็นผู้ค้าแทน

ดังนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะปรับเกณฑ์จาก 15 หน่วยการใช้ เป็น 2 เม็ดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า อาจยิ่งทำให้เกิดปัญหาช่องโหว่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่สมกับเจตนารมณ์ในการเอาผู้ป่วยมาเข้ารับการบำบัด และยิ่งซ้ำเติมปัญหาคนล้นคุก ที่เมื่อเอาสถิติมาดู ก็จะพบได้ว่า 60-70% ของคนที่ติดคุกมาจากคดียาเสพติด และส่วนใหญ่ก็เป็นรายย่อยกว่า 80-90% และยังมีบางส่วนที่ความจริงควรถูกนับเป็นผู้ป่วย แต่กลับถูกผลักให้เป็นอาชญากรไปเสีย และทำให้ต้องฝากถามไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าการผลักดันเกณฑ์เช่นนี้ออกมาอาศัยผลการศึกษาเชิงประจักษ์ เอกสารทางวิชาการ หรือข้อมูลเชิงสถิติ จากทั้งในและต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาแล้วหรือไม่ มีข้อบ่งชี้จากผลการศึกษาเหล่านั้นแล้วหรือไม่ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เช่นนี้แล้วจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้จริง ๆ

\"วาโย\" สวน \"อนุทิน\" ออกเกณฑ์ผู้ค้า-ผู้เสพยาเสพติดใหม่ มีงานวิจัยรองรับไหม

“นโยบายเช่นนี้ในขาหนึ่งอาจจะป้องปรามยาเสพติดได้จริง แต่อีกขาหนึ่งก็ต้องมาพิจารณาด้วยว่ามาตรการเช่นนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายหรือไม่ และกลายเป็นการผลักผู้ป่วยให้กลายเป็นอาชญากรหรือไม่ และการใช้วิธีแบบนี้ ที่ผ่านมามีพยานหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือสถิติมายืนยันหรือไม่ว่าได้ผลจริงในการแก้ปัญหายาเสพติด” นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่านโยบายที่เน้นการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้าเป็นแนวทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว แต่เกณฑ์ที่ใช้หลักกฎหมายแบบสันนิษฐานไว้ก่อน มีปัญหาช่องโหว่มากเกินไป หากสามารถปรับวิธีพิจารณาให้กลับสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไปได้ ก็จะช่วยให้เกิดกระบวนการแยกผู้เสพออกจากอาชญากรตัวจริงได้จริงๆ ตามเจตนารมณ์ของการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ต้นตอ จะเป็นมาตรการที่จะช่วยยุติปัญหายาเสพติดที่ได้ผลดีที่สุด

“ทุกคนที่เป็นเหยื่อของสังคม ถูกล่อลวงให้เสพยาจนเกิดการเสพติดขึ้นมา เป็นผู้ป่วยในกลุ่มโรค addiction disorder แบบหนึ่งที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่เกณฑ์ที่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อน ไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ และที่สำคัญคือนโยบายแบบนี้ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมเป็นหลัก ถูกบีบคั้นทางสังคม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม สภาพแวดล้อมที่เป็นวงจรภายในชุมชน ชักนำให้เสพยา นำไปสู่การติดยาและค้ายา ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาประเทศจนชุมชนได้รับการพัฒนา มีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนดีพอ ปัญหายาเสพติดจะลดน้อยลงไปเองในที่สุด” นพ.วาโย กล่าว