ส.ว.สถิตย์ อภิปรายร่างพิธีสารฯผลิตยาอาเซียน แนะ2ข้อลดอุปสรรคภาษี

ส.ว.สถิตย์ อภิปรายร่างพิธีสารฯผลิตยาอาเซียน แนะ2ข้อลดอุปสรรคภาษี

ส.ว.สถิตย์ อภิปรายร่างพิธีสารฯผลิตยาอาเซียน แนะ2ข้อ “ลดอุปสรรคภาษี-ขจัดอุปสรรคควบคู่” มั่นใจการเสนอร่าง การเสนอร่างพิธีสารฯ สอดคล้องกับหลักการที่ดี WTO

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระการพิจารณาร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียน สำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products)

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เกริ่นนำว่า นับตั้งแต่มีปฏิญญากรุงเทพฯ อันเป็นปฏิญญาก่อตั้งอาเซียน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 หนึ่งในพัฒนาการของความร่วมมือของอาเซียน คือ การร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ได้มีวิวัฒนาการทางด้านนี้ตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2536 ได้เกิดเขตการค้าเสรี หรือที่เรียกว่า อาฟต้า (AFTA) ขึ้น อันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างกันในอาเซียนเป็นไปโดยเสรี 

หลังจากนั้นก็ได้พัฒนาไปสู่ด้านอื่น ๆ ไม่จํากัดเฉพาะการค้าสินค้า แต่รวมถึงการค้าบริการ การเปิดเสรีทางด้านการลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งเป็นหลักการของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 หัวใจสำคัญของความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน คือจะต้องเป็นไปโดยเสรี แทนที่จะเป็นตลาดของประเทศใดประเทศหนึ่ง กลายเป็นตลาดของอาเซียน 

ซึ่งจะต้องดำเนินการด้วยกัน 2 ประการ 

ประการแรก ก็คือ การลดอุปสรรคทางภาษี ให้อัตราภาษีระหว่างกันเป็นศูนย์แต่ถ้าหากว่า อุปสรรคทางภาษีได้ลดลงไปแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคทางด้านปริมาณ 

อุปสรรคทางด้านคุณภาพ อุปสรรคทางด้านมาตรฐาน อุปสรรคทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ที่กีดกั้นไว้ อัตราภาษีที่เป็นศูนย์นั้นก็ไม่สามารถทำให้สินค้าเคลื่อนย้ายได้ ด้วยเหตุนี้เอง 

ประการต่อมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกระทำควบคู่กันไปกับการลดอุปสรรคทางภาษี คือการขจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งในเรื่องข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนฯ นี้เอง เป็นหลักการหนึ่งในการทำให้ไม่มีอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี

นายสถิตย์ ได้อภิปรายต่อไปว่า ข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียนสําหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยานี้ ได้ก่อตั้งขึ้นที่เมืองพัทยาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 เมื่อได้ใช้ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมพิธีสารฯ อันนำมาสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ เป็นการขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ยา ให้รวมถึงผลิตยาชีววัตถุในรูปแบบยาสำเร็จรูป 

รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ และไม่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์สำหรับใช้ในมนุษย์ แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการร่วมมือรายสาขา ให้มีบทบาทที่สามารถทบทวนและเสนอแก้ไขข้อตกลงนี้ รวมถึงภาคผนวกของข้อตกลง กำหนดวิธีการดำเนินการในกรณีมีข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับหนังสือรับรอง หรือรายงานการตรวจประเมิน รวมถึงกระบวนการในการระงับข้อโต้แย้งดังกล่าว

นายสถิตย์ เห็นว่า การเสนอร่างพิธีสารฯ ในครั้งนี้ 

ประการแรก เป็นการสอดคล้องกับหลักการที่ดีขององค์กร การค้าโลก หรือ WTO ตามหลักการของความตกลงการลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barrier to Trade : TBT) และเป็นการลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกต่าง ๆ ได้มีความร่วมมือกัน ทลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคทางด้านเทคนิค รวมถึงอุปสรรคทางด้านมาตรฐานต่าง ๆ

ประการถัดมา คือ เป็นการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ยาในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งสินค้าจากประเทศไทย ไปจําหน่ายในประเทศอาเซียนโดยไม่ต้องตรวจประเมินซ้ำโดยหน่วยงานของประเทศปลายทาง

ประการสุดท้าย คือ เป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันในการผลิตรายสาขา ซึ่งนำไปใช้ในการตรวจประเมินผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต

นายสถิตย์ เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการส่งเสริมให้มีการขยายตัวของการผลิตยามากขึ้น ทั้งในประเทศไทยเองและในความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และยังสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการเป็นศูนย์กลางของการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการผลิตยาทางเภสัชกรรม จึงเห็นด้วยกับการให้ความเห็นชอบร่างพิธีสารฯ ฉบับนี้

นอกจากนี้ นายสถิตย์ยังได้เสนอแนะว่า รัฐบาลควรส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศให้ได้มาตรฐานและต่อยอดฐานความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ควรจะมีการสํารวจกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องเพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการดําเนินการเพื่อให้มีกฎระเบียบเพียงเท่าที่จําเป็นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และการประกอบการทางด้านผลิตยา อันนำไปสู่ความสอดคล้องกับการดำเนินการตามพิธีสารฯ นี้และยังได้แนะนำต่อไปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะได้เริ่มเตรียมการเพื่อให้มีการดำเนินการปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารฯ ดังกล่าวเป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากประเทศสมาชิกต้องนําร่างข้อกําหนดพิธีสารนี้มาดําเนินการภายใน 5 ปี และอาจขยายได้อีก 2 ปี เพื่อที่จะให้การดำเนินการตามร่างพิธีสารฯ นี้เป็นไปด้วยความราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยต่อไป

หลังจากสมาชิกรัฐสภาหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นต่อพิธีสารฯ ฉบับนี้แล้ว ต่อมาสมาชิกรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบกับร่างพิธีสารเพื่อแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมรายสาขาของอาเซียน สำหรับการตรวจประเมินตามมาตรฐานวิธีการในการผลิตยา (Protocol to Amend the ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement for Good Manufacturing Practice (GMP) Inspection of Manufacturers of Medicinal Products) ดังกล่าว