ถอดบทเรียนเมาแล้วขับ “ทายาทกระทิงแดง” สู่ “ป๋าเบนท์ลีย์”

ถอดบทเรียนเมาแล้วขับ “ทายาทกระทิงแดง” สู่ “ป๋าเบนท์ลีย์”

คำว่า “สังคมสมัยใหม่” แน่ชัดว่า การรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของการดำรงอยู่นั้นย่อมขึ้นกับปัจจัยอันเป็นกรอบกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับร่วมกัน

แต่กฎเกณฑ์ที่มีบทลงโทษต่อบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามอันเรียกว่า “กฎหมาย” นั้น แท้จริงแล้วย่อมไม่ได้เกิดจากความต้องการของมนุษย์ อันมีรากฐานมาจากศีลธรรมหรือจริยธรรมอันดีเสมอไป 

แต่อาจกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลบางประการอันเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาแห่งสังคมใด ณ ยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “พ.ร.บ.จราจรทางบก” ก็เช่นกัน

กล่าวคือ หากสังคมไม่พบปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือไม่มีนวัตกรรมที่เรียกว่ายานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล สังคมนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์อันต้องบังคับใช้เพื่อเอาผิดกับบุคคลที่ไม่กระทำตามแต่อย่างใด

เห็นได้ชัดว่า “การดื่มของมึนเมา” หรือ “การขับรถเร็ว” ไม่ใช่สิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือเป็นการกระทำที่ส่งผลเสียด้วยตัวของมันเอง 

ถอดบทเรียนเมาแล้วขับ “ทายาทกระทิงแดง” สู่ “ป๋าเบนท์ลีย์”

ต่างจาก “การฆ่า” “การข่มขืนกระทำชำเรา” หรือ “การทำร้ายร่างกาย” โดยสิ้นเชิง เพียงแต่สาระสำคัญของการบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายนั้นกลับเป็นไปเพื่อป้องกัน หรือป้องปราม ไม่ให้ประชาชนในสังคมตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่ออันตรายที่จะตามมาจากเหตุแวดล้อมเหล่านั้น 

ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้คือ การป้องกัน หรือการป้องปรามนั้นจะต้องกระทำอย่างไรให้บรรลุผลตามเนื้อแท้แห่งความต้องการของกฎหมายดังกล่าว

คำตอบอยู่ที่ “ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายผ่านกระบวนการโดยเจ้าพนักงาน” ตัวละครสำคัญของคำตอบนี้จึงหนีไม่พ้น “พนักงานสอบสวน” และ “อัยการ”

กล่าวได้ว่า เจ้าพนักงานทั้งสองส่วนนี้ถูกให้อำนาจตามกฎหมายที่ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการ “ป้องกัน” หรือ “ป้องปราม” การกระทำผิดกฎเกณฑ์ของสังคมโดยมีอำนาจเกี่ยวข้องกับการนำคดีขึ้นสู่ “ศาล” ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดการระบบแบบ “กล่าวหา” ดังกล่าวนี้ มีขึ้นเพื่ออุดช่องว่างของกระบวนการทางอาญาในระบบ “ไต่สวน” ที่ผู้ชี้ขาดประเด็นแห่งข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่นั้นเป็นกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะลูกขุน

โดยในระบบกล่าวหา สร้างกระบวนการผ่านเจ้าพนักงานขึ้นมาเพื่อให้เจ้าพนักงานทั้งสองฝ่ายช่วยกัน “Double Check” ก่อนนำคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายในเรื่องนั้นๆ มากไปกว่านั้น ก็เพื่อให้มีการรักษาสิทธิของผู้เข้าสู่กระบวนการโดยแท้จริง 

ถอดบทเรียนเมาแล้วขับ “ทายาทกระทิงแดง” สู่ “ป๋าเบนท์ลีย์”

ฉะนั้น หากกระบวนการจากเจ้าพนักงานทั้งสองฝ่ายนี้ไม่อิงไปตามวัตถุประสงค์แห่งการได้มาซึ่งอำนาจที่ต้องดำเนินการให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์แห่งกระบวนการยุติธรรม คำตอบคงไม่ไกลเกินกว่าสิ่งที่เราจะคาดหมายถึง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ในคดีนี้ใช้เวลาดำเนินการถึง 8 ปี นับจากวันที่เกิดเหตุรถชนอันทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต กระบวนการยุติธรรมได้เดินทางไปโดยที่ไม่นำตัว “ผู้ต้องหา” มาฟ้องร้อง ปล่อยให้มีการเลื่อนไปเรื่อยๆ 

โดยเกิดขึ้นในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวน 6 เดือน และต้องให้ฝ่ายผู้เสียหายร้องขอความเป็นธรรมถึง 14 ครั้ง โดยใช้เวลารวมกัน 8 ปี ถึงจะเห็นรูปเห็นร่างกระบวนการยุติธรรมขึ้นสู่ศาลที่ชัดเจน 

กระบวนการผ่านการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานเหล่านี้ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของความยุติธรรมหรือไม่ และกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้านี้จะเรียกได้หรือไม่ว่าเป็น “กระบวนการยุติธรรมที่ศักดิ์สิทธิ์” หรือการันตีการไม่มีอำนาจแทรกแซงจากภายนอกก็เกิดขึ้นได้

ภายหลังคดีดังกล่าวไม่นานจึงมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐาน “เมาแล้วขับ” ให้สามารถดำเนินการได้อย่างกระชับภายใต้หลักการใหม่ที่เรียกว่า “บทสันนิษฐานทางกฎหมาย” ว่าด้วยการไม่ยอมให้ทดสอบ 

การหย่อนความสามารถในการขับขี่โดยไม่มีเหตุอันควร ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 ให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีกับคนขับฐานขับรถขณะเมาสุราได้ โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กล่าวถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจรู้สึกได้ว่า กฎหมายได้หาทางออกของการป้องปรามการกระทำความผิดข้างต้นไว้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ 9 ปีต่อมากลับเกิดปัญหาที่ซ้ำรอยเดิมอันตอกย้ำการไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ผ่านการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นอีก 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 00.38 น. เกิดเหตุรถยนต์เบนท์ลีย์เฉี่ยวชนรถยนต์ของผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ก่อเหตุปฏิเสธที่จะทดสอบการหย่อนความสามารถในการขับขี่ด้วยการเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ 

โดยกล่าวอ้างการมีเหตุอันสมควรว่า “ตนเจ็บหน้าอก” อันจะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถสืบพยานหักล้างได้ในชั้นศาลโดยไม่ต้องโทษตามบทสันนิษฐานที่กล่าวมา ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาขอให้เจาะเลือดวัดปริมาณแอลกอฮอล์แทนการเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์

กรณีนี้กว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้เดินทางไปทำการวัดที่ รพ.ตำรวจ ก็กินเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วถึง 5 ชั่วโมง และผลที่ออกมาคือ “ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกินค่าที่กฎหมายกำหนด” คำถามคือ เช่นนี้บุคคลดังกล่าวยังจะต้องรับผิดฐาน “เมาแล้วขับ” ตามบทสันนิษฐานแห่งกฎหมายอยู่หรือไม่? 

คำตอบคือ “ไม่” เพราะสามารถหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้อย่างชัดเจนผ่านผลการตรวจเลือด มากไปกว่านั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีเครื่องมือวัดแอลกอฮอล์ด้วยการเป่ามาให้ผู้ถูกกล่าวหาทดสอบ ณ ขณะเกิดเหตุ ไม่ได้เกิดจากการปฏิเสธของผู้ถูกกล่าวหา 

เช่นนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงบทสันนิษฐานทางกฎหมาย เพราะไม่สามารถตีความครอบคลุมไปถึง แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ก็มิได้ใกล้เคียงต่อการจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง หากเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้เครื่องมือทางสังคมนั้นไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือหละหลวมต่อความศักดิ์สิทธิ์

เฉกเช่นคำกล่าวของอาจารย์วิชา มหาคุณ ที่กล่าวไว้เมื่อปี พ.ศ.2563 ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ว่า “เมื่อไรความยุติธรรมซื้อได้ ความอยุติธรรมจะเกิดขึ้นด้วยความชอบธรรม” 

จึงนำมาซึ่งบทสรุปการถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ที่ว่า “สังคมไทยหาได้ตื่นตัวกับความยุติธรรมจากเจ้าพนักงานมากขึ้นเลยแม้จะผ่านไปกว่า 10 ปี” ก็ตาม