วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

“ที่ใดมีสังคมที่นั่นย่อมมีกฎหมาย” คำกล่าวนี้ถูกพิสูจน์ความเป็นจริงด้วยสังคมที่ดำรงอยู่ กล่าวได้ว่า “กฎหมาย” ไม่ได้มีเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน แต่เป็นไปเพื่อ “แก้ปัญหา” อันตอบโจทย์การดำรงอยู่แห่งสังคม

ด้วยเหตุผลประการดังกล่าวนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อสังคมใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหามาอย่างช้านาน เหตุใดจึงไม่สามารถทำให้ปัญหาบางประการหมดไปจากสังคม? สำหรับ “สังคมไทย” จำเลยของคำถามดังกล่าวย่อมหนีไม่พ้น “บทลงโทษ” ของกฎหมาย

“โทษ” หรือ “บทลงโทษ” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ทัณฑะ” หรือ “อาชญา” ซึ่งทั้งสองคำแสดงออกซึ่งการตอบสนองต่อการกระทำผิด ที่สะท้อนผ่าน “จารีตของชุมชน” สู่ “กระบวนการทางอาชญา” เช่นนี้

จึงหมายความว่า เรารู้จักโทษผ่านจารีตของชุมชนเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยพัฒนาไปสู่ความผิดที่ต้องใช้กระบวนการทางอาชญา  ที่ต้องมีความชัดเจนผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมของปัจเจกชนอันเป็นคู่กรณีและสังคม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

“นักทัณฑวิทยา” แบ่งวัตถุประสงค์ของการลงโทษผู้กระทำความผิดไว้เป็น 5 ประการ คือ 1. เพื่อเป็นการตอบแทนหรือแก้แค้น (Retribution or Retaliation) 2. เพื่อเป็นการยับยั้งการกระทำความผิด (Deterrence) 3. เพื่อเป็นการกำจัดผู้กระทำความผิดออกจากสังคม (Incapacitations)

4. เพื่อเป็นการป้องกันสังคมและป้องกันอาชญากรรม (Protection of Society and Prevention of Crime) และ 5. เพื่อเป็นการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด (Rehabilitation)

วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

แต่ผลที่นักทัณฑวิทยาพบเจอก็คือ วัตถุประสงค์ของการลงโทษผู้กระทำความผิดในห้าประการนี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ด้วยเหตุผลเพียงประการหนึ่งประการใด อีกทั้งยังผลเป็นเด่นชัดว่า การใช้บทลงเพียงโทษที่รุนแรงไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ปัญหาแห่งสังคม กลับกันอาจส่งปัญหาเป็นห่วงโซ่กันไปอย่างไม่รู้จบ 

กฎเกณฑ์อันหมายถึงกฎหมายแห่งสังคมจึงไม่ควรศึกษาเพียงแค่โทษ หรือบทลงโทษที่ผู้กระทำผิดควรจะได้รับเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องศึกษาถึง “อาชญากรรม” ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ของสังคม เพื่อหาแนวทางแห่งการบัญญัติกฎหมายจากความประพฤติที่ละเมิดต่อกฎหมายภายใต้พัฒนาการแห่งสังคมและการดำรงอยู่แห่งสังคมนั้น 

กล่าวคือ บทลงโทษเป็นการควบคุมทางสังคมที่ไร้ความหมาย หากปราศจากความเข้าใจเหตุแห่งการก่อ “อาชญากรรม” ดังนั้น การศึกษา “ทัณฑวิทยา” จึงต้องควบคู่กับการศึกษา “อาชญาวิทยา” เสมอ ในลักษณะของการเป็นองค์ความรู้แบบ “สหวิทยาการ”

นักอาชญวิทยา เชื่อว่าทฤษฎีอันเป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม คือ “ความโน้มเอียงของมนุษย์ที่โอนเอียงไปสู่ความสะดวกสบายเป็นปัจเจกนิยม” อันประกอบด้วย 1. ความสลับซับซ้อนด้านชาติพันธุ์ ศาสนา วิถีความเป็นอยู่ 2. บรรทัดฐานและการควบคุมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3. การยึดมั่นในวัตถุนิยม 

4. ความเสื่อมคลายในความสัมพันธ์ในแบบปฐมภูมิ 5. การรักพวกพ้องจนไม่สนใจกฎเกณฑ์ และ 6. การยึดมั่นในปัจเจกชนนิยม ซึ่งทั้งหกประการนี้ประกอบขึ้นจากเหตุผลทาง “ชีวภาพ” “จิตวิทยา” และ “สังคมวิทยา” ที่แตกต่างของผู้กระทำความผิด

จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ว่า หากสังคมต้องการลดอาชญากรรมสังคมนั้น ๆ จำต้องเข้าใจพฤติกรรมอันเป็นปัจเจกของเหตุแห่งการกระทำความผิดของสมาชิกในสังคมเสียก่อน เพื่อนำมาสร้างกฎเกณฑ์อันเป็นกรอบแห่งการอยู่ร่วมกันภายใต้เหตุผลด้านทัณฑวิทยาอันกำหนดไว้ซึ่ง “บทลงโทษ” 

ดังนั้น การศึกษาพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด ย่อมส่งผลต่อบทลงโทษที่ต้องจำแนกตามประเภทและผู้กระทำความผิดโดยหลัก “Individualization” ภายใต้ความเป็นวิชาการของ “พฤติกรรมศาสตร์” ส่งผลถึงหลักการของการลงโทษข้างต้นที่กล่าวไว้ว่า “เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อการกระทำผิด ที่นำไปสู่ “กระบวนการทางอาชญา” หรือ “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” นั่นเอง

วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

การจำแนกย่อมต้องคำนึงถึง “อายุ เพศ ความรุนแรง และการกระทำความผิดซ้ำซาก” ผ่านทางการใช้สถาบันทางการลงโทษอย่าง “การคุมประพฤติ” “สถานพินิจ” “ทัณฑสถานหญิง” และ “เรือนจำ” เป็นเครื่องมือควบคุม คำถามต่อมาคือ เมื่อเราใช้ทฤษฎีทาง “ทัณฑวิทยา” และ“อาชญาวิทยา” อันเป็นสหวิทยาการควบคู่กันแล้วในการแก้ปัญหา แต่ทำไมปัญหาด้านอาชญกรรมถึงกลับไม่ลดลงหรือหมดไป? 

คำตอบคือ ความโน้มเอียงต่อการกระทำความผิดอันเป็นปัจเจกนั้นมันเคลื่อนไหวได้ “ตลอดเวลา” ตามพลวัตรของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม ภาวะทางเศรษฐกิจ และความจำเป็นของแต่ละบุคคล เช่นนี้ หากเราใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แต่กฎหมายกลับไม่เท่าทันต่อพัฒนาการที่เป็น “ปรากฏการณ์แห่งสังคม” ผลลัพธ์จึงไม่อาจเป็นไปตามที่ทฤษฎีทางอาชญวิทยาได้วางเป้าประสงค์ไว้

นักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา จึงสรุปเป็นสองประการแห่งปัญหาสังคม ประการแรก การลดอาชญากรรมผ่านการใช้กฎหมายเปรียบเสมือน “การควบคุมภายนอก” ที่มีองค์ประกอบแห่งลักษณะแห่งการกระทำความผิดและบทกำหนดโทษที่ชัดเจน

จึงต้องอาศัยความมีส่วนร่วมด้วยค่านิยมเคารพกฎหมาย (Participation) จากสมาชิกของสังคมเป็นหลัก ซึ่งหากกฎหมายที่มีขัดกับความต้องการของสังคม หรือกระบวนการที่นำมาใช้บิดเบี้ยวอันก่อให้เกิดความไม่ศักดิ์สิทธิ์แห่งการควบคุมภายนอก เช่นนี้ กฎหมายดังกล่าวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาแห่งสังคมนั้น ๆ ได้ 

อีกประการ เป็นการควบคุมที่แสดงผ่านลักษณะพิเศษของความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ คือ “การควบคุมภายใน” ด้วยการขัดเกลาอันถือเป็นหน้าที่ของโครงสร้างทางสังคม โดยใช้หน่วยทางสังคมต่าง ๆ สร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรม (Self-Protection)

ซึ่งจะเริ่มต้นจากหน่วยที่เล็กที่สุดคือ “ครอบครัว” ผ่านการอบรมสั่งสอนสมาชิกให้รู้ซึ่งสิทธิเบื้องต้นของการอยู่ร่วมกัน อันเป็นพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นในหน่วยโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป 

วัฏจักรแห่งการกระทำความผิด กฎหมาย และมรดกของสังคม | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

หน่วยทาง “สถาบันการศึกษา” มีหน้าที่ในการเพิ่มองค์ความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Knowledge) ให้กับสมาชิกที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา อันเป็นกระบวนการต่อยอดจากความเข้าใจในสิทธิของตนจากโครงสร้างเชิงปฐมภูมิ

มากไปกว่านั้น หน่วยทาง “สื่อสาธารณะ” และ“องค์กรของรัฐ” ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอหรือถ่ายทอดแง่มุมแห่งการก่ออาชญากรรมในสังคม ต้องมีพันธกิจทำให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจรูปแบบและสถานการณ์อาชญากรรมที่พัฒนาไปตามการเติบโตอันสร้างความซับซ้อนให้เกิดขึ้นในสังคม (Awareness) ไปพร้อม ๆ กัน

จากพัฒนาการทาง “ทัณฑะ” สู่แนวคิดการลดอาชญากรรมอันเป็นกระบวนการทาง “อาชญาวิทยา” เห็นได้ว่าการจะลด หรือขจัดการกระทำผิดไปจากสังคมนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การ “บัญญัติกฎหมายที่มีบทลงโทษที่รุนแรง” สำคัญไปกว่านั้น คือ สังคมจำต้องเข้าใจเหตุอันเป็นสภาวะแวดล้อมกระตุ้นให้มีการกระทำความผิด (Determinism) ด้วย

มิฉะนั้นแล้ว “กฎหมาย” ที่บังคับโทษดังกล่าวก็จะเป็นเพียงมรดกทางสังคมที่ตกทอดกันไปรุ่นสู่รุ่น โดยไม่สามารถยับยั้งวัฏจักรของการกระทำความผิด ทั้งอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต.