“นายกฯ” ให้นโยบาย จัดทำงบฯ ปี 67 ยึดความพอเพียง เร่งปฏิรูปราชการ ปราบโกง

“นายกฯ” ให้นโยบาย จัดทำงบฯ ปี 67 ยึดความพอเพียง เร่งปฏิรูปราชการ ปราบโกง

“ประยุทธ์” มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ ปี 67 เผย “รัฐบาล” เร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนเต็มความสามารถ วางรากฐานการพัฒนา ปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ใช้เงินคุ้มค่า สมดุล ชี้ ใช้เทคโนโลยี ปราบทุจริต ยึด ยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบคำขอ ย้ำ ยึดความพอเพียง

ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีคณะรัฐมนตรีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารสำนักงบประมาณ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายฯ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ณ ศาลากลางทุกจังหวัด เพื่อรับมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง รวมถึงปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ หนี้สินครัวเรือน การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ส่งผลต่อจำนวนแรงงานในประเทศ ปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมสภาพแวดล้อม เป็นต้น โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาและการปฏิรูปด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า สมดุล เพื่อแก้ปัญหาในทุกมิติ 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ผลการดำเนินงานที่มีผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ 

1) การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้แก้ไขภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนในทุกมิติ จัดหาและรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 

2) มาตรการทางการคลังเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้า โดยกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ 

3) การบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ผ่านมาตรการภาษีสรรพสามิต และอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม ก๊าซ NGV การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า การลดเงินนำส่งสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งมีผู้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 15 ล้านราย 

4) การปรับปรุงระบบที่ดินทำกินและลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน โดยจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่ยากไร้และเกษตรกรทั่วประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกร 

5) การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยเตรียมความพร้อมในการป้องกันบรรเทาภาวะน้ำแล้ง รวมทั้งโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 32,000 ครัวเรือน 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อถึงประเด็นสำคัญที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาทั้งที่กำลังเผชิญอยู่และที่จะเป็นปัญหาในอนาคต ได้แก่

 1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ลดข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ โดยฝึกอบรมแรงงานที่ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ แก้ไขปัญหาหนี้ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและบรรเทาภาระค่าครองชีพ 

2) การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ฟื้นฟู ดูแล รักษาผู้เสพ พร้อมสร้างโอกาส อาชีพ รายได้ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ 

3) การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเฝ้าระวังอย่างจริงจังและเข้มงวด ทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายและความยุติธรรมตามขั้นตอนโดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่ปล่อยปละละเลย

4) มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เช่นมาตรการรองรับการกีดกันทางการค้าและมาตรการสนับสนุนเชิงรุกเพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกส่งเสริมตลาดพาณิชย์ดิจิทัล ยกระดับผู้ประกอบการไทย ยกระดับศักยภาพแรงงาน ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น 

5) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองอัจฉริยะ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5G และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่21 

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพัฒนาและปฏิรูประบบราชการให้มีความทันสมัยและอำนวยความสะดวก รวมถึงตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น การพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ การปรับเปลี่ยนกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ การพัฒนาระบบศูนย์กลางการบริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร การพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อสาธารณะ รวมทั้งส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ และขับเคลื่อนการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี และสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ในปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 10 ล้านคน และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปี2566 ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนซึ่งคาดว่า GDP จะเพิ่มจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรองรับทุกสถานการณ์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกที่อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2567 ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่างๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การยกระดับฝีมือแรงงาน การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) รวมถึงการจัดสวัสดิการให้แก่คนไทยกลุ่มต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกภายใต้กรอบวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจวงเงินประมาณ 5.05 แสนล้านบาท 

ดังนั้น การบริหารจัดการด้านการคลังจึงจำเป็นต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบ รักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว การจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐต้องมีความสอดคล้อง เหมาะสม และยั่งยืน สามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในระยะยาว โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2567-2570 กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP ให้ลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่เกินร้อยละ 3 ตามมาตรฐานของสากล         

นายกรัฐมนตรี กล่าวให้ แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ดังนี้  

1) การน้อมนำแนวทางพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จ

พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมทั้งแนวทางของพระบรมวงศานุวงศ์มาประยุกต์ใช้ในโครงการต่างๆ อย่างเหมาะสม  

2) การให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพของภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืน   

3) การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำอย่างประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน   

4) การประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานว่าสามารถส่งผลให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณนำประสิทธิภาพการใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณมาประกอบการตั้งงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง   

5) การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลของการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

6) การจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยหน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณต้องพิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ในภารกิจของหน่วยงานรวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณ และทำให้การใช้ทรัพยากรของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี 2567 ว่าการจัดทำแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับ 13 หมุดหมายภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญภายใต้ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับประเด็นการพัฒนาตาม (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล โดยกำชับทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับประเด็นตามยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคง 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย การเกษตรอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การท่องเที่ยว พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐาน SMEs และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงานนำประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านไปใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงการนำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2567 จำนวน 1,026 โครงการ ที่คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 65 ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65มาพิจารณาด้วย และจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 ม.ค. 66 ต่อไป ซึ่งการดำเนินการตามประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน จะช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณปี2567 สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม สุจริตโปร่งใสเป็นธรรม ตรวจสอบได้ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการเงินการคลังอย่างเหมาะสม