“ก้าวไกล” ถาม กกต.ตอบ! ปมจัดสรรเงินให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องลงบัญชีพรรค

“ก้าวไกล” ถาม กกต.ตอบ! ปมจัดสรรเงินให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องลงบัญชีพรรค

“ก้าวไกล” ถาม กกต.ตอบ! ปมพรรคจัดสรรเงินให้ผู้ประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ในช่วง 180 วัน ต้องลงในบัญชีรายรับของผู้สมัคร-บัญชีรายจ่ายของพรรค แม้ยุบสภาก็ต้องแจ้ง

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีหนังสือตอบข้อสอบถามของพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง รวม 7 คำถาม คือ 1. กรณีเงินที่ผู้ซึ่งประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับจากพรรคการเมืองจัดสรรให้เพื่อเป็นเงินใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ในช่วงเวลา 180 วันก่อนครบอายุสภา จะต้องบันทึกลงในใบรับเงิน และบัญชีรายรับหรือไม่ 

2.กรณีเงินที่ผู้ซึ่งประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้รับจากพรรคการเมืองจัดสรรให้เพื่อเป็นเงินใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ในช่วงเวลา 180 วันก่อนครบอายุสภา และได้ใช้จ่ายไปแล้ว หากมีการยุบสภา ผู้สมัครต้องบันทึกเงินดังกล่าวเป็นรายรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งหรือไม่ 

3.จากกรณีตามข้อ 2 พรรคการเมืองต้องนำเงินดังกล่าวลงบันทึกบัญชีงบการเงินประจำปีของพรรคด้วยหรือไม่ 

4. จากกรณีตามข้อ 2 หากผู้สมัครไม่ต้องบันทึกรายรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง จะต้องปฏิบัติอย่างไร 

5. กรณีที่พรรคการเมืองได้จัดสรรเงินให้ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง และผู้สมัครได้ใช้ไปแล้ว แต่ต่อมาผู้สมัครเสียชีวิต พรรคการเมืองสามารถจัดสรรให้ผู้สมัครคนใหม่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันได้หรือไม่ 

6.หากสมาชิกพรรคผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จัดทำสื่อหาเสียง ต้องคำนวณอย่างไร ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องคำนวณอย่างไร และพรรคการเมืองต้องคำนาวณอย่างไร 

7.กรณีพรรคการเมืองได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง สามารถใช้จ่ายเพื่อผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่

โดย กกต. ตอบคำถามข้อ 1 และข้อ 2 เห็นว่า เงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครที่ได้รับการจัดสรรจากพรรคการเมือง ผู้สมัครต้องออกใบรับเงินตามแบบ ส.ส./บช. 1 และจัดทำบัญชีรายรับ ตามแบบ ส.ส./บช.5 โดยบันทึกรายการบัญชีรายรับตามรายการเกิดขึ้นจริง ส่วนข้อ 3 กกต.เห็นว่า เงินที่พรรคการเมืองได้จัดสรรให้ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง พรรคจะต้องบันทึกบัญชีงบการเงินประจำปีของพรรค ในรายการค่าใช่จ่าย ตามแบบ ส.ส./บช. 5/1  ข้อ 4 กกต.เห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องบันทึกบัญชีรายรับตามรายการที่เกิดขึ้นจริง ข้อ 5 กกต.เห็นว่า พรรคการเมืองสามารถจัดสรรเงินให้ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งคนใหม่ได้ โดยมีวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเต็มจำนวนตามที่ กกต.ประกาสกำหนด และพรรคการเมืองต้องบันทึกบัญชีงบการเงินประจำปีของพรรคการเมืองด้วย

ส่วนข้อ 6. กกต.เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลใช้บังคับ หลังจากมีผลใช้บังคับแล้ว กกต.จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวต่อไป และ ข้อ 7 กกต.เห็นว่า การใช้จ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองนั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ประกอบระเบียบ กกต.ว่าด้วยกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 2560 และรายละเอียดมาตรฐานและอัตราการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพรรคการเมือง ประจำปี 2565