ป.ป.ช.เชือด "บุญทรง" ซ้ำ! คดีมันเส้นจีทูจี - "ไตรรงค์-พรทิวา" รอด

ป.ป.ช.เชือด "บุญทรง" ซ้ำ! คดีมันเส้นจีทูจี  - "ไตรรงค์-พรทิวา" รอด

ป.ป.ช.ถกคดีมันจีทูจี 3 สำนวน มติเอกฉันท์ชี้มูล "บุญทรง" โดนเชือดซ้ำสมัย "ยิ่งลักษณ์" แต่เสียงข้างมาก 5:2 "ไตรรงค์-พรทิวา" ยุครัฐบาล "อภิสิทธิ์" รอด

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2565 รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานที่ประชุม นำสำนวนการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รวม 3 สำนวน ได้แก่

  1. กรณีกล่าวหานางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก
  2. กรณีกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก
  3. กรณีกล่าวหานายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กับพวก

โดยกรณีของนางพรทิวา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียง ตีตกข้อกล่าวหา เนื่องจากตามพยานหลักฐานพบเพียงความบกพร่อง ไม่พบการทุจริต นอกจากนี้นางพรทิวาได้พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงถือว่าข้อกล่าวหาตกไป

ส่วนกรณีของนายไตรรงค์ ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้รับรู้รับทราบ จึงไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา

สำหรับเสียงข้างน้อย 2 เสียง ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ดีกรณีของนายบุญทรง ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดฐานเดียวกับคดีระบายข้าวแบบจีทูจีล็อตแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีซื้อขายมันเส้นจีทูจีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏชื่อผู้ถูกกล่าวหารวม 31 ราย ได้แก่

ผู้เจรจา ผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ ผู้ลงนามในสัญญา และผู้เกี่ยวข้องกับซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ

  1. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  2. พันตรี วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  3. นายมนัส สร้อยพลอย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
  4. นางปราณี ศิริพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
  5. นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
  6. บริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
  7. Mr. Chen Houpeng ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
  8. บริษัท Hainan Grain Warehousing Industrial Corporation
  9. Mr. Xing Gucun ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Province Grain and oil Trading Company
  10. บริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company
  11. Mr. Lin Haihui ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company

ผู้รับมอบอำนาจ ผู้แทนนิติบุคคลของผู้รับมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ เจ้าของเงินที่เกี่ยวข้องกับการชำระค่ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผู้มีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว ได้แก่
บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด

  1. นายชู หมิง เช็น เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
  2. นางสาวลิอุ ยุก หมิง ไอลีน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
  3. นายชู หมิง คิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด
  4. นายสุธี เชื่อมไธสง
  5. Miss Chen Yifan
  6. บริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
  7. นางสาวอารยา กำปั่นแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
  8. นายสุมนต์ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน
  9. นายสรัญ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
  10. นายสิรินทร์ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
  11. นายสราวุธ เสรีธรณกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท พี เอส ซี สตาร์ช โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
  12. นางสาวเรณู รักแม่
  13. Ms. Liang Jinmei
  14. บริษัท เอส บี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด
  15. นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทเอสบี พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด
  16. นายลิตร พอใจ
  17. บริษัทสุวรรณเกลียวทอง จำกัด
  18. นายจักรพงศ์ ปิติพรสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทสุวรรณเกลียวทอง จำกัด
  19. นายสมคิด เอื้อนสุภา 

สรุปพฤติการณ์ตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสัญญา ซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จำนวนรวม 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท

อย่างไรก็ดี บริษัทที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะตัวแทนของราชอาณาจักรไทย ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับมอบหมายหรือรับมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยการกระทำนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเอื้ออำนวยหรือช่วยเหลือให้บริษัทดังกล่าวได้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายหรือหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ประกอบกับการพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องของราคาที่ซื้อขาย

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้ให้ความเห็นชอบในราคาตามข้อเสนอของบริษัท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าข้อเสนอของฝ่ายไทย เว้นแต่สัญญาที่ 2/2013 ซึ่งเสนอราคาเท่ากันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน การกระทำดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และประเทศชาติอย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ดีการชี้มูลผิดของ ป.ป.ช. เป็นเพียงกระบวนการชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังมีสิทธิต่อสู้คดีอีกในชั้นอัยการและชั้นศาล จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด