“เพื่อชาติ” ชู นโยบาย คนอยู่กับป่า พื้นที่สีเขียวเพิ่ม เป็นธรรมกับ ปชช.

“เพื่อชาติ” ชู นโยบาย คนอยู่กับป่า พื้นที่สีเขียวเพิ่ม เป็นธรรมกับ ปชช.

“เพื่อชาติ” ยกทัพ ลงพื้นที่เชียงใหม่ นำเสนอนโยบายแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เรื้อรังมาหลายสิบปี ชี้ คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ พื้นที่สีเขียว-ป่ามีแต่เพิ่ม “ยงยุทธ” ออกโรง หนุน ชี้ กม.บางฉบับ ปรักปรำชาวบ้านที่อยู่มาก่อน

คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติ นำทีมโดย

พล.ต.ต.ชยุต มารยาทตร์ นายเนติภูมิ ริยาพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรค นพ.วิชัย ทวีปวรเดช โฆษกพรรค นายปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ และ น.ส.พลอยนภัส โจววณิชย์ รองโฆษกพรรคฯ พร้อมด้วยนายคณาฤทธิ์ สุภาคุณ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 8 จ.เชียงใหม่ พรรคเพื่อชาติ ลงพื้นที่ บ้านดอยลาง ต. แม่อาย อ. แม่อาย จ. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สูงของประเทศไทย และมีปัญหาการบุกรุกป่าและพื้นที่ทับซ้อนที่คล้ายคลึงกัน อันเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปี หลังจากการรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนแล้ว จะนำไปกำหนดออกแบบเป็นนโยบายของพรรคต่อไป

“เพื่อชาติ” ชู นโยบาย คนอยู่กับป่า พื้นที่สีเขียวเพิ่ม เป็นธรรมกับ ปชช.

นพ.วิชัย กล่าวว่า พรรคเพื่อชาติ มีนโยบาย “คนอยู่กับป่าต้องอยู่ด้วยกันได้และเอื้อต่อกัน” เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ที่อาศัยอยู่ในป่า โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมถ่ายภาพพื้นที่ป่าแล้วทำข้อตกลงกับประชาชน ว่าถ้าอยู่แล้วต้องทำพื้นที่ป่าให้เพิ่มขึ้น หากเป็นตามข้อตกลง คนก็อยู่กับป่าต่อไปได้ ไม่ใช่ใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกดขี่ขับไล่ประชาชนออกจากป่าเพียงอย่างเดียว หัวใจการอนุรักษ์ป่าคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่เน้นเขตแดน พรรคเพื่อชาติจะทำให้ประเทศได้ป่าเพิ่มขึ้น และประชาชนได้อยู่ในบ้านของเขา

“เพื่อชาติ” ชู นโยบาย คนอยู่กับป่า พื้นที่สีเขียวเพิ่ม เป็นธรรมกับ ปชช.

ขณะเดียวกัน นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะวิทยากรพิเศษร่วมลงพื้นที่ด้วย โดยระบุตอนหนึ่งว่า ชาวบ้านที่เกิด เติบโตและอยู่อาศัยอยู่ในป่ามาหลายรุ่น ต้องถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกป่า ทั้งๆที่มันเป็นบ้านของเขา ดังนั้นเขาไม่ใช่ศัตรูเขาไม่ได้บุกรุกป่ากฎหมายบางฉบับต่างหากที่ไปปรักปรำพวกเขา และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายของพรรคเพื่อชาติ ที่จะทำให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้

นอกจากนี้ นายยงยุทธ ระบุอีกว่า จากข้อมูลของกรมป่าไม้ แสดงให้เห็นว่า ระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีคดีพื้นที่ป่าถูกบุกรุก มากกว่า 30,000 คดี เป็นพื้นที่ร่วมล้านไร่ คดีเหล่านี้ บางส่วนเป็นคดีที่ถูกยัดเยียดความผิดให้ชาวบ้าน โดยเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากการมีวิถีชีวิตของคนที่หากินและอยู่ร่วมกับป่ามาโดยตลอด