จุดยืน ปชป.แก้ รธน.เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เริ่มที่ ม.256 ก่อน

จุดยืน ปชป.แก้ รธน.เพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เริ่มที่ ม.256 ก่อน

“ราเมศ” เผยจุดยืน ปชป. แก้ไขรัฐธรรมนูญ สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ย้ำต้องเอาสิทธิประชาชนกลับคืนมา เริ่มที่แก้ ม.256 ตัดสัดส่วน ส.ว.ให้เหมาะสม ใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2565 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเนื่องในวันรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ดังนั้นในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์

นายราเมศ กล่าวว่า ในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง และมีความจำเป็นต้องแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันจากหลายๆ ฝ่าย แต่อุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญก็ยังมีอยู่ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คือการแก้มาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยตัดสัดส่วนของ สว. ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ สว. เห็นชอบด้วย ในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวนมากถึง 84 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้ ดังนั้นการแก้มาตรา 256 จึงมีความสำคัญมากและในส่วนของพรรคก็จะยังคงตั้งมั่นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนนี้ต่อไปในวันข้างหน้า

นายราเมศ กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการอวดอ้างสรรพคุณจากผู้ร่าง ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ไว้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ปราบโกง ป้องกันการโกงได้เป็นอย่างดี ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนสวนทางกับเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงแล้ว ยังไม่ได้เป็นการป้องกันการโกงแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มานานตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาที่พรรคไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคก็ยอมรับกติกา แต่ก็ได้ตั้งความหวังว่าจะมีการแก้ไขในวันข้างหน้า

จนมาถึงในปี 2564 พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ร่าง ประกอบด้วย

  • ร่างฉบับแรก เป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันลดน้อยถอยลงไปอย่างน่าใจหาย 
  • ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ สว.ในการแก้รัฐธรรมนูญ
  • ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต 
  • ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
  • ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่เป็นพรรคการเมืองแรกที่ให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น
  • ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง คือ ปรับเปลี่ยน ส.ส.เขตเป็น 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

ในท้ายที่สุด ร่างแก้ไขที่พรรคเสนอได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเพียงฉบับเดียวคือ ฉบับที่ 6 

นายราเมศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในที่ดินทำกิน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการป้องกันและปราบปรามทุจริตจะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันการทุจริตจริงๆ ไม่ใช่เปิดช่องให้สมยอมกัน รวมถึงประเด็นอำนาจ สว. ด้วย ซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง