ครบ 90 ปี วันรัฐธรรมนูญ "ดร.ณัฎฐ์" ชี้ การออกแบบ รธน. ยึดตามสถานการณ์บ้านเมือง

ครบ 90 ปี วันรัฐธรรมนูญ "ดร.ณัฎฐ์" ชี้ การออกแบบ รธน. ยึดตามสถานการณ์บ้านเมือง

ครบรอบ 90 ปี วันรัฐธรรมนูญ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์กฎหมายมหาชน ชี้ การออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นไปตามสถานการณ์บ้านเมือง

วันที่ 10 ธันวาคม 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครบรอบ 90 ปี วันรัฐธรรมนูญซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ "ดร.ณัฎฐ์" ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชน กล่าวในโอกาสครบรอบ 90 ปี กล่าวว่า หลักการสำคัญการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 จนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 คือ Constitution & Parliament  จะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนชื่อ ประธานคณะกรรมการราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการราษฎรมาเป็นคณะรัฐมนตรี ในส่วนของระบบรัฐสภา แบ่งแยกสามอำนาจ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ขณะนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญมีเพียง ส.ส. แบ่งเป็นประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ยังไม่มีสภาสูง ต่อมาจึงมีสภาสูงในปี 2489 ที่เรียกว่า “พฤฒสภา”ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สมาชิกวุฒิสภา

การออกแบบสถาบันทางการเมืองตามโครงสร้างอำนาจอธิปไตย เป็นผลพวงจากการออกแบบรัฐธรรมนูญแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบการเลือกตั้ง รวมถึงออกแบบองค์การจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระ องค์กรหนึ่ง พัฒนาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำรูปแบบเยอรมันมาประยุกต์ใช้ ยกระดับการตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะสร้างกลไกในการตรวจสอบโดยออกแบบ ปปช.ผู้ตรวจการแผ่นดิน คตง.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ

แม้จะออกแบบรัฐธรรมนูญ ออกแบบสถาบันทางการเมืองให้ดีขึ้นตามช่วงเวลาของรัฐธรรมนูญและบริบทการเมืองตามช่วงเวลา ก่อให้เกิดช่องว่างกฎหมาย ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องนำข้อเท็จจริงมาอุดช่องว่างและเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากยิ่งเพราะกำหนดเงื่อนไขไว้ถึงกลไกถ่วงดุลให้สภาสูงใช้เสียงถึงหนึ่งในสาม และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ กรณีแก้ไขทั้งฉบับจะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยผ่านการจัดทำประชามติ

การออกแบบรัฐธรรมนูญในปี 2550 และ 2560 มีความแตกต่างจากอดีต ประชามติ คือ ประชาธิปไตยโดยทางตรง ประชาชนเข้ามามีอำนาจกำหนดทิศทางของประเทศ จะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญ 2560 การให้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นผลพวงมาจากประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่เหมือนใครในโลก

รวมทั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่เทคะแนนให้พรรคการเมืองที่เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 สิ่งเหล่านี้ บ่งชี้ถึงสภาวะทางการเมืองและการออกแบบรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะการออกแบบ สมาชิกวุฒิสภา ถึง 250 คน ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรก เป็นผลให้พรรคการเมืองที่ไม่ใช่ขั้วอำนาจเดิม ชนะเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่รวมถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากบัตรใบเดียว ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

และฟื้นคืนชีพของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว จำนวนมาก รวมทั้งกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และคณะกรรมการควบคุมแต่ละด้าน ไม่แตกต่างจากโปลิตบูโร ของคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน 

หากพิจารณาถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญล่าสุด เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับที่ 20 การยกระดับปราบโกงเข้มข้น เป็นการพัฒนารัฐธรรมนูญในเนื้อหา อาทิ การสร้างเครื่องมือให้ กกต.ในการแจกใบส้ม และใบดำ หรือ การสร้างเครื่องมือให้ ปปช.ฟันนักการเมืองกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ต้ดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หรือกรณี กฎหมายเลือกตั้ง กำหนดกรอบเวลาหาเสียง 180 วันนับก่อนถึงวันเลือกตั้ง หากฝ่าฝืนผิดกฎหมายเลือกตั้ง ดังนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ในโอกาสครบรอบ 90 ปี ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นความเห็นต่าง แต่ไม่แตกแยก สามารถอยู่ร่วมกันได้ ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้กฎหมายเดียวกัน