"เรือดำน้ำจีน-เครื่องยนต์จีน"  เกมงัดข้อ "ราชนาวีไทย" 

 "เรือดำน้ำจีน-เครื่องยนต์จีน"  เกมงัดข้อ "ราชนาวีไทย" 

ปัญหาเครื่องยนต์ "เรือดำน้ำไทย" คาราคาซังจนเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน พล.ร.อ.สมประสงค์ เกษียณอายุราชการ มาสู่ ผบ.ทร.คนใหม่ ซึ่งชัดเจนว่า กำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาใช้เครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิตเอง

เป็นที่รู้กันว่า ความต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำของ กองทัพเรือ จำนวน 3 ลำ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลจำนวนมหาศาล โดยใช้ประจำการฝั่งอ่าวไทย 1 ลำ  ฝั่งอันดามัน 1 ลำ ส่วนอีก 1ลำ หมุนเวียนสับเปลี่ยนการปฏิบัติงาน  กรณี ลำที่ 1 และ ลำที่ 2 ชำรุดต้องซ่อมแซ่ม

ถูกนำไปผูกโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในยุคต้น คสช. ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม หลังไทยถูกนานาประเทศบอยคอต จากเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2557 จนรัฐบาลต้องหันไปพึ่งพาจีน

จึงเป็นที่มาของการผลักดันโครงการดังกล่าว ด้วยการเคาะเลือกแบบ เรือดำน้ำ รุ่น Yuan Class S 26 T จากจีน จำนวน 3 ลำ สมัย พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ เป็น ผบ.ทร. ผ่านคณะกรรมการพิจารณา ที่มี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. เป็น ประธาน โดยจัดซื้อแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนในกองทัพเรือ แต่ก็ไม่เป็นผล

ไม่ต่างกับปัจจุบันแม้ "กองทัพเรือ" ยืนยันเสียงแข็งมาตลอด ปฏิเสธรับเครื่องยนต์เรือดำน้ำอื่นมาติดตั้งใน "เรือดำน้ำไทย" ทันทีที่ทราบข่าวว่าจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ mtu 396 เยอรมัน เมื่อต้นปี 2565 พร้อมระงับเงินผ่อนค่างวดไปกว่า 6,000 ล้านบาท

"กองทัพเรือ" ภายใต้การกำกับดูแล ของ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. ในขณะนั้น ออกแถลง ยืนยันถึงความต้องการตามทีโออาร์ที่ทำเอาไว้ตามสัญญาเดิม และไม่ยอมเปลี่ยนสัญญาด้วยการนำเครื่องยนต์อื่นมาติดตั้งเรือดำน้ำของไทย 

โดยย้ำว่า ทุกอย่างต้องเดินตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ และส่งมอบเรือดำน้ำลำแรกภายในปี 2567 พร้อมตบท้ายด้วยว่า หากไม่สามารถหาเครื่องยนต์เยอรมันมาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย สัญญาก็เดินต่อไม่ได้ จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา

"ได้เเจ้งทางฝ่ายจีนไปว่า ขอยืนยันตามสัญญาทุกประการ  และต้องเป็นเครื่องยนต์ MTU 396 เยอรมันเท่านั้น " พล.ร.อ. เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสร.ทร. ในฐานะ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการเรือดำน้ำ ระบุ

ต่อมาการพูดคุยร่วมกัน 3 ฝ่ายเกิดขึ้นครั้งแรก มิ.ย.2565 ประกอบด้วย โดยฝ่ายกองทัพเรือไทย มี พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ และ Mr. Liu Song รองประธาน บริษัท CSOC และ รองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตจีน/กรุงเทพ

และเป็นไปตามคาด บริษัท CSOC ไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU 396 เยอรมัน พร้อมเสนอ เครื่องยนต์  CHD 620 ที่จีนผลิตเอง มาให้พิจารณา ขณะที่ กองทัพเรือ แม้จะยืนยันถึงความต้องการเดิม แต่ได้ส่งแบบเครื่องยนต์ CHD620 ให้ฝ่ายเทคนิค กรมอู่ทหารเรือศึกษาข้อดีข้อเสีย 

พร้อมให้บริษัท CSOC ไปจัดทำข้อเสนอแนวทาง ระยะเวลา และแผนงานการดำเนินการแก้ไขปัญหา ตลอดจนกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบเรือดำน้ำให้ กองทัพเรือ พิจารณา ใน 60 วัน หรือภายใน 9 สิงหาคม 2565

ท่ามกลางกระแสข่าว ฝ่ายเทคนิค กรมอู่ทหารเรือ คัดค้านการใช้เครื่องยนต์ CHD 620 เนื่องจากไม่เคยใช้งานในเรือดำน้ำประเทศใดมาก่อน แม้แต่ประเทศจีนเองก็ตาม และถ้าไทยยังดึงดันที่จะใช้ก็จะกลายเป็นหนูทดลองประเทศแรกให้กับจีน อีกทั้งทหารเรือส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับเครื่องยนต์ของเยอรมัน

ปัญหาเครื่องยนต์เรือดำน้ำไทย คาราคาซังจนเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน พล.ร.อ.สมประสงค์ เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย. มาสู่ ผบ.ทร.คนใหม่ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ซึ่งชัดเจนว่า กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ CHD 620 

เดือน ธันวาคม นี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายอีกครั้ง หลัง บริษัท CSOC ได้ทดสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ในระยะที่ 1 เรียบร้อยพร้อมนำเสนอข้อมูลให้กองทัพเรือไทย พิจารณาอีกรอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่า
เครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิตเอง 
ทดแทนเครื่องยนต์ mtu 396 เยอรมัน ได้จริง

"ขอดูข้อมูลก่อนดีกว่า ให้เขาสร้างความมั่นใจให้กับเราว่าเครื่องที่นำเสนอมา ใช้การได้จริง ตามที่เขากล่าวอ้าง และ กองทัพเรือไทย ก็อยากให้กองทัพเรือจีนมาร่วมรับประกัน เพราะเชื่อว่า กองทัพเรือจีน ก็คงไม่ให้เสียชื่อเสียง หากรับประกันแล้วเครื่องยนต์ของเขาไม่ดีจริง " ผบ.ทร.ระบุ

จากนี้ไปน่าจะเข้าสู่เวลาเริ่มนับถอยหลังที่ กองทัพเรือ ต้องเปิดใจรับเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิตเอง มาติดตั้งในเรือดำน้ำไทย หลังออกแอคชั่นกันมาระยะหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าระดับนโยบายจะมีการส่งสัญญาณมาเมื่อไหร่ก็เท่านั้น

เพราะจีนเองได้ปักหมุด "ไทย" ไว้แล้ว ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีเรือดำน้ำจีนโลดแล่นในทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ควบคู่ไปกับการเร่งเครื่องเดินหน้า รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อภูมิภาค โดยตั้งเป้าเปิดใช้บริการเฟสแรก กรุงเทพ-นครราชสีมา ปี 2570