“ชัชชาติ” แจงเปิดพื้นที่ให้ม็อบ ไม่รู้บานปลายบุก “เอเปค” ปัดหนุนใคร

“ชัชชาติ” แจงเปิดพื้นที่ให้ม็อบ ไม่รู้บานปลายบุก “เอเปค” ปัดหนุนใคร

“ชัชชาติ” แจงละเอียดเปิดพื้นที่ให้ “ม็อบราษฎร” ปักหลัก ก่อนบุกงานประชุม “เอเปค” ลั่นเพื่อลดขัดแย้ง ตร.เห็นด้วย รับคาดการณ์ไม่ได้บานปลาย ลั่นไม่ได้หนุนใคร ดูแลประชาชนเท่าเทียมกัน อย่าโยงไปประเด็นการเมือง

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ที่ลานคนเมืองว่า ได้มีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และการเปิดพื้นที่ลานคนเมืองเราไม่ได้คิดเอง ได้มีการหารือกับตำรวจ โดยตำรวจเห็นด้วย ตั้งแต่ที่เราเปิดอนุญาตให้มีการใช้ลานคนเมือง เป็น 1 ใน 7 สถานที่ชุมนุมสาธารณะ จนถึงปัจจุบันมีผู้ขอใช้ทั้งหมด 36 ครั้ง โดย 14 ครั้งเป็นเรื่องของการเมือง อีก 22 ครั้งเป็นเรื่องอื่น ๆ ทั่วไป จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนมาแสดงออกได้ จากที่เราสังเกตมีการลดความขัดแย้งที่อยู่บนท้องถนน หรือปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำเราถือว่าได้มีการคิดละเอียดแล้ว อาจจะมีข้อที่มีปัญหากรณีที่มีผู้ชุมนุมขยับออกไป และเกิดการปะทะขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด

“แต่ต้องเรียนว่า ยังดีกว่าที่ไม่มีพื้นที่ จะง่ายมากสำหรับกทม. ที่ไม่ให้ชุมนุม เป็นเรื่องง่ายเลย และเป็นการโยนภาระให้คนอื่น เพราะกลายเป็นว่าเมื่อไม่มีที่ชุมนุม ที่เป็นสัดส่วน คนต้องไปชุมนุมที่อื่น ยิ่งไปสร้างปัญหา คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะไปชุมนุมที่ไหน การรับมือยิ่งลำบากมากขึ้นอีก ซึ่งการอาศัยการกำหนดพื้นที่ให้เขาสามารถมาแสดงออกได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่อาจจะมีจุดที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นบ้าง หรือข้อกระทบกระทั่ง ก็เป็นบทเรียนที่เราต้องพัฒนาขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ในส่วน กทม. บทเรียนที่ได้มีการคุยกันของเรื่องจุดชุมนุมคือ ปัญหาเกิดจากตอนที่คนจะออกจากลานคนเมืองไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยอนาคตเราสามารถจะจัดให้ 2 ฝ่าย มาเจอกันได้หรือไม่ สำหรับการประชุมที่มีตัวแทนจากต่างประเทศ จัดให้มีตัวแทนจากต่างประเทศมาเจอผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างออกจากพื้นที่ หรือจัดตัวแทนผู้ชุมนุมให้ยื่นหนังสือให้กับคนที่เขาอยากเจอได้หรือไม่ จะได้ลดความขัดแย้งและความเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้ชุมนุมจะเสนอ เราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรในรายละเอียด เราอาจจะเข้าไปสรุปประเด็นว่าเขาต้องการอะไร จะได้ทำให้ข้อเสนอชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่กทม. สามารถช่วยทำให้การประชุมครั้งหน้ามีประสิทธิภาพขึ้น แต่ตนเชื่อว่า การมีพื้นที่ชุมนุมเป็นสัดส่วนเป็นเรื่องที่ดี และสิ่งที่พิสูจน์ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการชุมนุม 36 ครั้ง ตนว่าสถานการณ์ตึงเครียดลดลง เหมือนกับมีพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วน เป็นช่องที่หายใจได้

“ขอบคุณทุกท่านที่มีผู้แสดงความเห็น หลายคนบอกว่าไม่ควรเปิดพื้นที่ให้ แต่ตนเชื่อว่าเป็นวิถีทางที่เราคิดละเอียดแล้ว และผลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมว่าเป็นคอนเซปเอเปคคือโอเพ่น คอนเนคท์ และบาลานซ์ คือเราเปิดเผย เชื่อมโยงคนทุกคนไม่ว่ามีความเห็นแตกต่างกัน และหาความสมดุลระหว่างผู้ที่เห็นต่าง ทั้งนี้ เรื่องตรวจสอบก็เป็นสิทธิ์สามารถตรวจสอบได้ ดีจะได้ช่วยกัน เรามาจากประบอบประชาธิปไตย เราไม่กลัวการตรวจสอบอยู่แล้ว อย่างที่เรียนว่าเรามีการหารือกับทางตำรวจตลอด ตำรวจก็ไม่ได้ขัดข้อง อยากให้เรามีพื้นที่ที่เปิดกว้างด้วยซ้ำ” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า เราไม่ได้สนับสนุนใคร เราดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าไปโยงเรื่องประเด็นการเมือง หากจะมีการชุมนุมสนับสนุนเอเปคเราก็ไม่ว่า เพราะเนื้อหาเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราอยู่ตรงนี้ เราเป็นกลาง เพราะเรามีความไม่ได้ทะเยอทะยานทางการเมือง เราเป็นอิสระ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำ ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร ทำเพื่อให้การประชุมเอเปคครั้งนี้ในแง่ของการประชุมจัดไปได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกันแต่ก็ไม่ได้บานปลายขนาดที่ทำให้กระทบกับการประชุม ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่สนับสนุนม็อบ ไม่มีความฝักใฝ่ฝ่ายใด

เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าเอาไปเป็นประเด็นการเมือง ผมเองไม่สนับสนุนใครเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราอยู่ตรงนี้ ถือว่าเป็นผู้ว่าฯของทุกคน ผมต้องรับใช้คนกรุงเทพฯทุกคน และหน้าที่เราคือประคองสถานการณ์ให้ผ่านเอเปคไปให้เรียบร้อย ไม่มีผลกระทบกับการประชุม ซึ่งผมเชื่อว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง และมีพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ พื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการก็สะดวกเพราะมีทางเข้าทางออกอย่างจำกัด ทำให้เราดูแลผู้ชุมนุมได้” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ตามกฎหมายเป็นพื้นที่อนุญาตให้คนมาแสดงออกอยู่แล้ว แต่อย่าให้เกิดคนรุนแรง ฉะนั้น คนที่มาก็ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตัวเองพูด ซึ่งการลงถนนผิดเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉะนั้น แค่แจ้งให้เราทราบ เราจะได้จัดการให้ดี ที่ไม่ให้ค้างคืนเพราะเราไม่ต้องการให้กิจกรรมรบกวนประชาชนที่อาศัยบริเวณนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณางานต่องาน หลักการคือต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องทบทวนกับฝ่ายความมั่นคงว่า จุดตรงนี้มีอะไรที่จะปรับปรุงหรือไม่ ในอนาคตคิดว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสมอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต