“สื่ออาวุโส” ชำแหละนักข่าวไทย รายงาน “เอเปค” ผิวเผิน-ไม่ทำการบ้าน

“สื่ออาวุโส” ชำแหละนักข่าวไทย รายงาน “เอเปค” ผิวเผิน-ไม่ทำการบ้าน

“สื่ออาวุโส” วิพากษ์ “นักข่าวไทย” ชำแหละเบื้องหลังรายงานประชุม “เอเปค” แค่ผิวเผิน ปัญหาสำคัญเกิดจากไม่ทำการบ้าน กอง บก.ไม่สนใจ ชี้ทุกวันนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ แต่ไม่ต้องเช็คข้อมูลเพิ่ม ให้คะแนนพีอาร์ “ผู้นำไทย” แค่ศูนย์

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส และประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อ” ออกอากาศทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 โดยนายณรงค สุทธรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ถึงบทบาทของไทยในการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมา

นายกวี กล่าวตอบคำถามผู้ดำเนินรายการ ถึงกรณีการทำหน้าที่ของสื่อไทย ที่มีคนตั้งคำถามว่าทำไมสนใจแค่ว่าผู้นำประเทศใดจะมาหรือไม่มา แต่กลับไม่สนใจสารัตถะในการประชุม ว่า ประเด็นนี้น่าสนใจ ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเอเปคใช้เวลานานมากเกือบ 20 ปี กว่าจะเวียนมาจัดที่ไทยอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 3 เวลาทั้งโลกมาถกปัญหากัน เป็นลักษณะน้อง ๆ องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเด็นที่ถกกันสำคัญ แต่สื่อบ้านเราสนใจข่าวพาดหัว ใครมา ไม่มา ไม่ต้องจัดไม่สำคัญ อาหารอร่อยหรือไม่ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องคุณภาพของสื่อบ้านเรา ไม่ได้เข้าใจในประเด็นสำคัญของแต่ละการประชุมว่าจะเป็นอย่างไร

นายกวี กล่าวว่า ในกรณีเอเปคสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่คำสโลแกนของรัฐบาล เพราะพูดมาอย่างนี้เหมือนลับลวงพราง คนไม่เข้าใจ แต่ไทยต้องการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนเพียงพอ พูดง่าย ๆ อยู่แบบชาวบ้านแต่รายได้ดีขึ้น ทั้งโลกเห็นดีด้วย เพราะหลังเกิดสงครามยูเครน มีวิกฤติอาหาร วิกฤติต่าง ๆ เกิดขึ้น เรื่องความเป็นอยู่ของประเทศต่าง ๆ ถูกลดถอยไปเยอะมาก ฉะนั้นการที่ผู้นำทั่วโลกเกี่ยวข้องกันมา ทุกคนก็จับตามอง ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย

“ตอนพูดคุยใหม่ ๆ หลายคนวิจารณ์ว่า งานนี้เละแน่ ไทยไม่ได้อะไรแน่ แต่ปรากฏว่าตอนนี้เท่าที่ทราบ ประสบความสำเร็จมากเพราะ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ของ รมว.ต่างประเทศ เรียบร้อยแล้ว มีเรื่องสงครามยูเครนด้วย และมีประเด็นที่ไทยผลักดันด้วย ปรากฏว่าสำเร็จเป็นปฏิญญาที่พอดี มากกว่าคำแถลงการณ์ที่ได้รับคำชมของ G20 ด้วยซ้ำไป ในกรณี G20 มีการประณามรัสเซีย แต่ของไทยที่เอเปค ใช้คำประณามรัสเซีย แต่เพิ่มประเด็นไทยว่า การแซงชั่น หรือการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ มีผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำ เกิดวิกฤติอาหาร ใส่เข้าไปด้วย นี่คือประเด็นสำคัญ” นายกวี กล่าว

  • ชี้นักข่าวไทยไม่ทำการบ้าน

นายกวี กล่าวอีกว่า นี่คือสภาพที่เป็นจริง ถ้านักข่าวไทยทำการบ้านสักหน่อย มีเรื่องเขียนเยอะมาก ดังนั้น นักข่าวต้องทำการบ้านมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันต้องศึกษาเรื่องต่าง ๆ มีที่มาที่มา ต้องใช้เวลา เพราะเมื่อคนดูเอเปค มักถามว่าไทยได้อะไร แต่สิ่งที่ได้มาเป็นสิ่งที่ระยะยาว ที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย และตอนนี้ไทยต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะคุยในระดับนี้ จะต้องเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ทุกหน่วยงานต้องทำให้เห็นว่าเป็นรูปธรรม นี่คือประเด็นสำคัญ

ผู้ดำเนินรายการถามว่า กรณีสื่อไทยส่วนใหญ่รายงานเรื่องราวของเอเปค หรือการจัดประชุมระหว่างประเทศแบบที่เกิดขึ้น เป็นเพราะไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบรุ่นสู่รุ่น หรือตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อศึกษาหรือไม่

นายกวี กล่าวว่า ประเด็นนี้สำคัญเช่นกัน เพราะนักข่าวสนใจข่าววันต่อวัน ทุก ๆ ข่าวมีที่มาที่ไปแม้จะว่างเว้น 10-20 ปี ผู้สื่อข่าวไทยมีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือ ไม่ดูประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะนักข่าว คนหนุ่มสาว คนทั่วไปด้วย มองข้างหน้าอย่างเดียว นี่คืออนาคตของฉัน แต่ไม่มองดูอดีต อีกประเด็นสำคัญกว่าคือ ความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ความสนใจของนักข่าว รวมถึงสถาบันสื่อ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับสื่อมาก แต่นักข่าวมา ๆ ขาด ๆ หาย ๆ และนักข่าวหลายคนไม่สนใจ เรียกว่าเป็นนักข่าวโหล ไม่ได้วิ่งข่าวที่ต้องอาศัยความชำนาญพิเศษ

  • เจ้าของ-บก.ข่าวไม่สนใจ

นายกวี กล่าวอีกว่า เรื่องที่นักข่าวไทยจำเป็นต้องศึกษา แต่กลับไปสนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสมาคมที่เกี่ยวกับวิชาชีพนักข่าว อย่างตนอยู่ในสภาการสื่อมวลชน เขาพยายามทำแล้ว แต่คนข่าวเขามีเรื่องประจำวันของเขา นอกจากนี้เจ้าของกิจการ รวมถึง บก.ข่าว เห็นว่าประเด็นเหล่านี้มันไม่ใช่ข่าวฮอต เลยตัดความสนใจไป น่าเสียดายมาก เพราะสื่อเมืองไทย เสรีภาพ มีมากเลย แต่คุณภาพสื่อ ตามไม่ถึง เสียใจมาก เราต้องฝึกตัวเอง เข้าใจปัญหาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่หยิบประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง แล้วมาขยายต่อ พูดตลก ดูถูกทุกคนที่เกี่ยวข้อง นอกจากตัวคนพูดซึ่งไม่เคยทำอะไรเลย นี่คือประเด็น

ผู้ดำเนินรายการ ถามอีกว่า พฤติกรรมในการบริโภคสื่อ หรือเสพสื่อของคนไทย ไม่ได้ชอบการเสพเชิงลึก ทำไปไม่มีคนติดตาม ไม่มีคนดู สื่อเลยเสนอข่าวแค่แตะ ๆ เอา ประเด็นนี้ส่งผลหรือไม่ 

  • ทุกวันนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ ไม่ต้องเช็คเพิ่ม

นายกวี กล่าวว่า นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง และเป็นประเด็นสำคัญ สื่อสนใจข่าวที่คนสนใจ แต่กอง บก. ต้องให้โอกาสนักข่าวไปพัฒนาความรู้ ศึกษาปัญหาใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การวิเคราะห์ข่าวของเรา บูรณาการ และมีความสมดุลมากขึ้น แต่ขณะนี้สังคมไทย เนื่องจากทุกคนถือว่าสามารถมีความเห็น ทำข่าวเองได้ สร้างข่าวขึ้นมาได้ ไม่ต้องเช็คข่าว เป็นบล็อกเกอร์ ผสมเป็นต้มยำไปหมด 

“ทุกคนมีความเห็น แต่ไม่มีการเช็คข่าว เรามีความจำเป็นต้องเอาวิชาสื่อดั้งเดิม ตรวจสอบข่าว บก.ข่าวต้องเข้มแข็ง ต้องใช้เงิน ปัจจุบันใครออกข่าวเร็ว คลิปข่าวเร็ว ทีวีกระแสหลักไปใช้ นับว่าเจ๋ง แต่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจ นอกจากนี้รัฐบาลต้องมุ่งพัฒนาสื่อด้วย” นายกวี กล่าว

  • ให้คะแนน “ผู้นำไทย” ด้านพีอาร์แค่ศูนย์

สื่ออาวุโส กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐไม่รู้วิธีการประชาสัมพันธ์ข่าว ในความเห็นตนผู้นำของรัฐบาลชุดนี้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ข่าว ให้ 0 คะแนนหมดเลย เพราะไม่มีการขยายข่าว การพูดถึงข่าว ทั้งที่กิจกรรมดี ๆ การทำงานดี ๆ กลับพูดไม่เป็น คนที่เป็นผู้นำของไทยไม่ต้องฝึก หากเทียบกับผู้นำสหรัฐฯ ต้องพูดกับสื่อ มีการฝึกทุกวัน แต่ผู้นำไทยต้องเก่ง ตอบผิดถูกช่างมัน ไม่ต้องกลัว มันกลายเป็นวัฒนธรรมข่าวไทย อาจจำเป็นต้องเปลี่ยน

“นอกจากนี้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนี้ ไม่ใช่เอากฎหมายมาควบคุม แต่ต้องให้สื่อดูแล ในเรื่องของสมาคมสื่อ ผมเห็นใจ ทำงานได้ดีมาก และการแก้ปัญหาต้องให้เวลา นักวิชาการคุยบางเรื่อง ยังไม่สามารถเข้ากับสังคมไทยได้เลย ใช้บริบทเมืองนอกมา แต่เราต้องพูดถึง ปัญหาที่มีผลกระทบต่อไทยโดยตรง ไม่ใช่พูดลอย ๆ ปากฝรั่งมาเล่าให้คนไทยฟัง” นายกวี กล่าว