“วรภพ ก้าวไกล” ชง 5 ข้อถึงรัฐลดค่าไฟ-แก๊ส ทำได้ทันที แค่เปลี่ยนนโยบายพลังงาน

“วรภพ ก้าวไกล” ชง 5 ข้อถึงรัฐลดค่าไฟ-แก๊ส ทำได้ทันที แค่เปลี่ยนนโยบายพลังงาน

“วรภพ ก้าวไกล” ชง 5 ข้อเสนอลดค่าไฟ-แก๊ส ทำได้ทันที แค่รัฐเปลี่ยนนโยบายพลังงาน หนุนอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่าน ลดใช้ก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย ปลดล็อกระเบียบ “โซลาร์รูฟท็อป”

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อเสนอด้านการเปลี่ยนนโยบายพลังงานเพื่อการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สที่มีราคาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ว่า นอกจากการยกเลิกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงานแล้ว ยังมีนโยบายในรายละเอียดอีกหลายอย่างที่สามารถนำไปสู่การลดราคาค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สได้ทันที

ประการแรก รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบายให้อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องปรับตัวรับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่อิงกับราคาตลาดโลกมากขึ้น และลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติลง โดยใช้มาตรการจูงใจให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีภายใต้ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน เมื่อภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยน้อยลง ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าก็จะลดลง และนำมาสู่การลดค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือนได้ถึง 0.4 - 0.9 บาทต่อหน่วย

ประการที่สอง การเปิดให้มีระบบ bidding จากโรงไฟฟ้า SPP/VSPP ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนไฟฟ้า ที่ผลิตจากต้นทุนนำเข้า LNG เพื่อลดการนำเข้า LNG และ ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

ประการที่สาม ปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวกับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคครัวเรือน หรือ โซลาร์รูฟท็อป เพื่อลดขั้นตอนที่มีความยุ่งยากในปัจจุบัน โดยเปลี่ยนจากการขออนุญาตติดตั้งเป็นการจดแจ้งและรับรองโดยวิศวกร พร้อมกับเร่งเปิดให้ครัวเรือนขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปคืน หักลบกลับหน่วยสุทธิ จูงใจให้มีการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาบ้านมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน และกระจายการผลิตไฟฟ้าไปยังพื้นที่ชุมชนได้โดยตรงมากขึ้น

ประการที่สี่ ปลดล็อคระบบที่นำไปสู่การผูกขาดสายส่งและท่อก๊าซ ให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้ ซึ่งจะรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการนโยบาย RE100 หรือ ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% ได้

ประการสุดท้าย เปิดเผยกระบวนการทำแผน PDP ฉบับใหม่ ให้ประชาชนและเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนระบบพลังงานของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีส่วนร่วมจากประชาชน

นายวรภพ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนล้วนมีข้อเสนอในการลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานออกมาหลายข้อเสนอ ที่เป็นรูปธรรมและมีการศึกษามาอย่างดีแล้ว และหากรัฐบาลยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ก็ควรจะรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด

“ขึ้นอยู่กับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีพลังงานแล้ว ว่าจะกล้าตัดสินใจเปลี่ยนนโยบาย โดยไม่ยึดอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานที่ได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะถ้าไม่กล้าเปลี่ยนนโยบายเพราะเกรงใจกลุ่มทุนพลังงานที่เคยทำงานร่วมกันมา ก็คงต้องให้ประชาชนช่วยกันเปลี่ยนรัฐบาลเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในที่สุด” นายวรภพ กล่าว