ปิดประตูยุบสภาปี 65 ลุ้นกติกาเข้าทาง-กระแสฟื้น

ปิดประตูยุบสภาปี 65   ลุ้นกติกาเข้าทาง-กระแสฟื้น

เมื่อพิจารณาจากทุกทางเลือก ช่วงเวลา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเลือกยุบสภา อาจจะเป็นช่วงใกล้ครบเทอมสภา 23 มี.ค.2566 ลากไปยาวๆ ตามสไตล์ ที่ไม่ยอมให้นักเลือกตั้งกดดัน

การเมืองเรื่อง “ยุบสภา” ข่าวมักถูกปล่อยมาจากคนไม่มีอำนาจ ส่วนนายกรัฐมนตรีผู้ถืออำนาจยุบสภาในทุกยุคทุกสมัย มีไทม์มิ่งอยู่ในใจเสมอ

เช่นเดียวกับกรณีที่ “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาโหมกระแสทำนายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะชิงจังหวะยุบสภาในวันที่ 24 ธ.ค. เนื่องจากครบเกณฑ์คุณสมบัติ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน กรณีที่รัฐบาลอยู่ครบเทอม ถึงจะสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ 

ทำให้จินตนาการไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง

หากจับสัญญาณจากเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า ยังไม่มีวี่แววจะยุบสภา เนื่องจากกระแสความนิยมทางการเมืองยังหาจุดยูเทิร์นไม่ได้

ที่สำคัญต้องจับตาการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะตัดสินใจหลังการประชุมเอเปค โดยยังไม่มีใครรู้ ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่ทั้งสองทางเลือก ยังไม่ตอบโจทย์การยุบสภา

ทางเลือก 1 ไม่ไปต่อ หากเลือกทางนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่มีทางยุบสภาให้อำนาจหลุดออกจากมือไปโดยเร็ว เพราะยังมีเวลาให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อได้อีก อย่างน้อย 4 เดือน จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องรีบลุกจากตำแหน่ง

ทางเลือก 2 ไปต่อ  แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกทางนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องรีบยุบสภาเช่นกัน เนื่องจากพรรคการเมืองที่ตระเตรียมเอาไว้โฟกัสไปที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ก็ยังไม่พร้อมลงสู้ศึกเลือกตั้ง ยังต้องรอเซ็ตอัพระบบและตัวบุคคลให้พร้อมมากกว่านี้

ที่สำคัญบรรดา ส.ส.ที่จะตาม พล.อ.ประยุทธ์ มาจากพรรคพลังประชารัฐ จำเป็นต้องใช้เวลาในการหาเสียง และทำความเข้าใจกับฐานเสียงของตัวเอง

ดังนั้น การยุบสภาในเวลาอันใกล้ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่อำนวยให้กับผู้กำหนดเกม ข่าวปล่อยทั้งทางเปิด ทางลับ จึงไม่มีน้ำหนักมากพอ ทำได้แค่ปั่นกระแสตีกินทางการเมือง

อย่าลืมว่า กฏหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัย ยังไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาในแนวทางใด จะส่งผลบวก หรือลบกับนักเลือกตั้ง ยังต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเสร็จเสียก่อน

ทว่า “ผู้คุมเกม” อาจจะพอเดาออกว่า จะต้องเดินหมากอย่างไรถึงจะได้เปรียบ เพราะไม่มีทางที่ผู้กำหนดเกมจะลงสนามเลือกตั้งโดยที่ตัวเองเป็นรองคู่แข่ง

ขณะเดียวกัน จับสัญญาณจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งชื่อ "นริศ ขำนุรักษ์ ไปนั่งเก้าอี้ รมช.มหาดไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้รอจังหวะที่เหมาะสม ก็พอจะเดาได้ว่า ไทม์มิ่งยุบสภายังอยู่ห่างไกล และมีโอกาสสูงที่จะมีการปรับ ครม.ก่อน

มีความเป็นได้ที่จะปรับเฉพาะในส่วนของโควตาพรรคประชาธิปัตย์เพียงตำแหน่งเดียว ส่วน 2 โควตาของพรรคพลังประชารัฐคงไม่มีการปรับให้เกิดการต่อรองภายในพรรค 

บทเรียนของกลุ่มปากน้ำ ที่อยากได้โควตารัฐมนตรี แต่สุดท้ายกลับโดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดหัวหน้ากลุ่ม อย่าง ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ในคดีค้างเก่า 10 ปี เรื่องเงินอุดหนุนวัดในสมุทรปราการ

สำหรับโควตาพรรคภูมิใจไทย 1 เก้าอี้ รมช.ศึกษาธิการ ที่รัฐมนตรี ถูกพักงาน คงไม่มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพราะถือเป็นโควตาของตระกูลวิลาวัลย์ หาก “นายทุน” คนไหนจะมาประมูล คงคำนวณแล้วว่า ได้ไม่คุ้มเสีย พรรคภูมิใจไทยจึงไม่ซีเรียสหากไม่มีการปรับ ครม.

เมื่อพิจารณาจากทุกทางเลือก ช่วงเวลา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเลือกยุบสภา อาจจะเป็นช่วงใกล้ครบเทอมสภา 23 มี.ค.2566 ลากไปยาวๆ ตามสไตล์ ที่ไม่ยอมให้นักเลือกตั้งกดดัน